CLASSIC BLUE.. จากอัญมณีสีน้ำเงินสู่นิยามสีแห่งปี  “แพนโทน 2020” ตอนที่ 1 CLASSIC BLUE.. จากอัญมณีสีน้ำเงินสู่นิยามสีแห่งปี  “แพนโทน 2020” ตอนที่ 1
CLASSIC BLUE.. จากอัญมณีสีน้ำเงินสู่นิยามสีแห่งปี “แพนโทน 2020” ตอนที่ 1

GIT LIbrary Admin

 15 Jan 2020   13255

CLASSIC BLUE: THE COLOUR OF 2020 IN THE WORLD OF GEMS

CLASSIC BLUE... จากอัญมณีสีน้ำเงินสู่นิยามสีแห่งปี  “แพนโทน 2020” (ตอนที่ 1)

สีน้ำเงินของท้องฟ้ายามค่ำคืน “Classic Blue” ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นสีแห่งปี 2020 หรือ PANTONE COLOR OF THE YEAR 2020 ที่สามารถนำไปจับคู่กับเสื้อผ้า เครื่องประดับ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ “Classic Blue” ยังเป็นสีที่บ่งบอกถึงความรู้สึกที่สงบ ความมั่นใจ และความยั่งยืน

เมื่อบริษัท Pantone (แพนโทน) ได้ออกมาประกาศสีประจำปี 2020 ได้แก่ สี “Classic Blue” รหัส PANTONE 19-4052 ให้คำนิยามว่า “ความสงบ ความเชื่อมั่น และการเชื่อมต่อ” นี่คือสีน้ำเงินของท้องฟ้าในยามค่ำที่ให้ความรู้สึกอุ่นใจ เป็นสีที่นำความสงบสุขมาสู่จิตวิญญาณมนุษย์ ให้รู้สึกถึงความเรียบง่าย ไร้กาลเวลา ความรู้สึกมั่นใจและมั่นคงที่จะก้าวไปท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ในปี 2020 

 

Pantone 19-4052 Classic Blue (Photo: http://www.pantone.com)

Leatrice Eiseman (ลีตรีซ ไอซ์แมน) ผู้อำนวยการสถาบัน Pantone Color Institute กล่าวว่า “เราอยู่ในช่วงเวลาที่ต้องการความไว้วางใจและความศรัทธา มันเป็นความมั่นคงและความเชื่อมั่นเช่นนี้ที่แสดงออกได้ผ่าน “Pantone 19-4052 Classic Blue” ซึ่งเป็นสีฟ้าที่มั่นคงและเชื่อถือได้และเราสามารถพึ่งพาได้เสมอ และอารมณ์ที่ไร้ขีดจำกัดของท้องฟ้ายามเย็นอันกว้างใหญ่ไม่มีที่สิ้นสุดของ “Classic Blue” จะกระตุ้นให้เรามองไกลเกินกว่าที่เห็น ทำให้มองโลกได้ชัดเจนมากขึ้นเพื่อขยายขอบเขตความคิดของเรา ท้าทายให้เราคิดลึกซึ่งยิ่งขึ้น เปิดมุมมองความคิดของเรา และเปิดการไหลของการสื่อสาร” ทั้งนี้ Pantone ยังได้ตั้งข้อสังเกตถึงความสงบสุขที่มีอยู่ในเฉดสีฟ้า ซึ่งได้รับการกล่าวขานว่าจะนำความรู้สึกของความเงียบสงบที่ช่วยให้เกิดการสมาธิ และนำความชัดเจนมาสู่จิตใจ”


Photo: Gem and Jewelry Library

ในโลกแห่งอัญมณีนั้นก็มีอัญมณีที่มีโทนสีในเฉดสีฟ้าถึงน้ำเงินอยู่หลายชนิดด้วยกัน แต่ในปีนี้จะมีอัญมณีที่เป็นดาวเด่นแห่งปีที่ได้รับความนิยมหรือมีแนวโน้มที่จะนำมาใช้ทำเครื่องประดับให้เข้ากับสี Pantone 2020 อย่างเช่น แซปไฟร์ บลูโทแพช แทนซาไนต์ นอกจากนี้ยังมีอัญมณีสีน้ำเงินอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติและมีความหมายอย่างไรกันบ้างนั้นติดตามกันได้จากบทความนี้

Blue Diamond (บลู ไดมอนด์)

ไดมอนด์ (Diamond) หรือ เพชร มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกว่า "Adamas" มีความหมายว่า ไม่มีใครเอาชนะได้หรือไม่เคยแพ้ใคร (unconquerable) ก็เพราะความแข็งของเพชรนั่นเอง เพชรมีองค์ประกอบทางเคมีเป็นธาตุคาร์บอน (C) ผลึกเพชรอยู่ในระบบคิวบิก (Cubic) มีรูปผลึกส่วนใหญ่เป็นแบบออกตะฮีดรอล (Octahedron) มีความแข็งเท่ากับ 10 ตามโมห์สเกล เนื่องจากราคาของเพชรขึ้นอยู่กับคุณภาพของเพชรแต่ละเม็ด จึงมีการจัดระดับคุณภาพของเพชรตามกฎ 4 C's ซึ่งประกอบด้วย กะรัต (Carat) ความใสสะอาด (Clarity) การเจียระไน (Cutting) และสี (Colour) โดยเพชรที่มีน้ำหนักกะรัตมากย่อมมีราคาต่อกะรัตสูงกว่าเพชรที่มีขนาดเล็ก คุณภาพการเจียระไนก็มีผลต่อความสวยงาม จึงมีผู้คิดค้นรูปแบบการเจียระไนแบบต่างๆ เพื่อให้ได้เพชรที่มีประกายแวววาวสวยงามที่สุด 



Fancy Color Diamond (Photo: https://gems-precious.com)

เพชรสีหรือแฟนซีไดมอนด์ (Fancy Color Diamonds) สีสันต่างๆ ที่เกิดในเพชรมีผลมาจากการมีธาตุอื่นๆ นอกเหนือจากคาร์บอน เช่น ไนโตรเจน โบรอน ไฮโดรเจนอะลูมิเนียม และทองแดง มาปะปนอยู่ในโครงสร้างผลึกหรือเกิดความผิดปกติบางอย่างของกระบวนการทางธรรมชาติทำให้เกิดสีต่างๆ ที่แปลกไปจากเพชรสีขาวบริสุทธิ์ โดยเกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก จึงกลายเป็นสิ่งที่หายากและเป็นความพิเศษที่ใครๆ ก็อยากเป็นเจ้าของได้ครอบครอง เพชรสีบางเม็ดก็ยังมีราคาที่สูงมากกว่าเพชรสีขาวบริสุทธิ์หลายเท่าตัว แม้ว่าเพชรในธรรมชาติมีได้หลายสีที่พบมากคือ ตั้งแต่ใสไม่มีสีจนถึงค่อนข้างเหลือง สำหรับเพชรที่มีสีสวยงาม เช่น สีน้ำเงิน ชมพู แดง หรือเหลืองสด จัดเป็นเพชรสีแฟนซีซึ่งหายากและมีราคาสูงมาก แต่ที่นิยมนำมาใช้ทำเครื่องประดับโดยทั่วไปจะไม่มีสี-ค่อนข้างเหลืองอ่อน ระดับความใสสะอาดที่เป็นที่นิยมใช้ทำเครื่องประดับโดยทั่วไปจะใส-ค่อนข้างใส คือมีตำหนิน้อยที่สุด สำหรับเพชรที่มีคุณภาพความสะอาดต่ำหรือมีมลทินภายในมากจนทำให้เกิดความไม่สวยงามนั้นจะนำมาใช้ในอุตสาหกรรม เช่น ผงขัด หัวขุดเจาะ เป็นต้น

เพชรสีน้ำเงินหรือบลูไดมอนด์ (Blue Diamond) เป็นเพชรชนิด IIb สีน้ำเงินเกิดจากการแทนที่ของธาตุโบรอน (Boron) ในโครงสร้างผลึก สีน้ำเงินจะเข้มขึ้นตามปริมาณธาตุโบรอนส่วนใหญ่จะไม่มีไนโตรเจน เพชรสีน้ำเงินมีลักษณะเป็นกึ่งตัวนำไฟฟ้าซึ่งต่างจากเพชรสีอื่น มีเฉดสีที่ค่อนข้างกว้างตั้งแต่สีท้องฟ้าไปจนถึงสีน้ำเงินที่เข้มกว่าสีไพลิน โดยเพชรสีน้ำเงินที่มีสีเข้มกว่าไพลินจะมีราคาแพงมากถึงกะรัตละ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในยุคโบราณมีเพียงกษัตริย์เท่านั้นที่จะได้สวมใส่เพชร เป็นเครื่องหมายแห่งพลังและความเป็นหนึ่งเหนือผู้คนทั้งมวล เป็นสัญลักษณ์แห่งรักนิรันดร์ ทำให้ร่างกายและจิตใจแข็งแกร่ง เป็นคนซื่อสัตย์ รักความดีงาม โดยเพชรสีน้ำเงินที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกที่มาพร้อมกับฉายาเพชรต้องคำสาปอย่าง “เพชรโฮป (Hope Diamond)” เพชรสีน้ำเงินเข้มขนาดใหญ่ น้ำหนัก 45.52 กะรัต (9.10 กรัม) ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาสมิธโซเนียนในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.


Hope Diamond (Photo: Smithsonian)

The Graff Imperial Blue Diamond จากเพชรดิบน้ำหนักถึง 101.50 กะรัต ถูกซื้อไปโดย ลอเรนซ์ กราฟฟ์ (Laurence Graff) เจ้าของ บริษัท Graff Diamonds ในปี 1984 ได้ถูกเจียระไนโดยผู้เชี่ยวชาญจนกลายเป็นเพชรสีน้ำเงินเข้มไร้ตำหนิน้ำหนัก 39.31 กะรัต และเพชรสีน้ำเงินอีกเม็ดหนึ่งที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ด้วยความสวยไร้ที่ติทำให้เพชรเม็ดนี้มีราคาอยู่ที่ 2 ล้านเหรียญต่อกะรัต

The Imperial Blue (Photo: http://www.worthy.com) 


Blue Sapphire (บลู แซฟไฟร์) 

แซฟไฟร์ (Sapphire) คืออัญมณีที่นิยมในอันดับต้นๆ เมื่อพูดถึงอัญมณีในโทนสีน้ำเงิน โดยแซฟไฟร์คำเดียวจะหมายถึง “บลู แซฟไฟร์ (Blue Sapphire)” หรือไพลิน “Sapphire” มาจากภาษาเปอร์เชีย “Saffir” หรือ จาก ภาษากรีก “Sappheiros” แปลว่า ผู้เป็นที่รักของ Saturn (เทพเจ้าแห่งกรีก) และหมายถึงสีน้ำเงิน (Blue) ซึ่งสมัยโบราณจะเรียกพลอยคอรันดัมที่มีสีน้ำเงินว่าแซฟไฟร์แต่ในความเป็นจริงพลอยคอรันดัมประเภท Sapphire มีได้หลากสี เช่น สีเหลือง, ชมพู, ม่วง, เขียว เป็นต้น ดังนั้นหากเราต้องการจะเรียกพลอยคอรันดัมชนิดอื่นที่ไม่ใช่ไพลิน (Blue Sapphire) เราจะต้องระบุสีด้วย เช่น Yellow Sapphire (บุษราคัม), Green Sapphire (เขียวส่อง), Pink Sapphire (แซปไฟร์สีชมพู) ไพลินจัดเป็นแร่ในประเภท (Species) คอรันดัม (Corundum) เช่นเดียวกับทับทิม (Ruby) ซึ่งพลอยคอรันดัมนี้เป็นพลอยที่มีมีความแข็งเท่ากับ 9 ตามโมห์สเกลรองลงมาจากเพชร จึงทำให้ไพลินเหมาะอย่างยิ่งที่จะนำไปทำเครื่องประดับ ในปัจจุบันไพลินส่วนใหญ่มักผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยความร้อนหรือที่เราเรียกกันว่า “การเผา” แต่ก็ได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไปในตลาดพลอยเพราะการเผาจะทำให้สีดีของไพลินดีขึ้นและอยู่คงทนถาวร เฉดสีของไพลินนั้นมีอยู่หลากหลายเฉดสีด้วยกัน ตั้งแต่สีฟ้าอ่อนไปจนถึงสีน้ำเงินเข้ม และมีชื่อเรียกทางการค้าที่หลากหลายตามเฉดสีและแหล่งที่พบ ซึ่งแต่ละชื่อสีหมายรวมถึงเฉดของสี ไม่ใช่แค่สีที่เจาะจงแค่สีเดียว อย่างไรก็ตามผู้ซื้อไพลินมีความจำเป็นที่จะต้องคุ้นเคยกับคำศัพท์หรือหรือข้อสังเกตต่างๆ ของไพลินในการแลกเปลี่ยนซื้อขายกันในตลาดเพื่อให้คุณได้ไพลินที่ตรงตามความต้องการ ยกตัวอย่างเช่น

“ไพลินแคชเมียร์ (Kashmir)” คือไพลินที่ได้จากแคว้นแคชเมียร์ ประเทศอินเดีย มีสีน้ำเงินถึงสีน้ำเงินแกมม่วงที่นุ่มนวลราวกำมะหยี่คล้ายสีน้ำเงินของดอก “คอนฟลาวเวอร์ (Cornflower Blue)” และมักมีมลทินคล้ายรูปเข็มในบางส่วนของพลอย เป็นไพลินที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นสุดยอดไพลินที่มีสีอันสวยสดงดงามที่สุด มีราคาสูงมากและหายากที่สุด เพราะปัจจุบันแทบจะไม่มีไพลินจากแหล่งนี้แล้ว

“ไพลินพม่า” คือไพลินที่ได้จากแหล่งในประเทศพม่า มีสีน้ำเงินสดแกมม่วงเล็กน้อยถึงสีน้ำเงินเข้มเรียกว่า “รอยัล บลู (Royal Blue)” คล้ายกับไพลินแคชเมียร์ ต่างกันตรงที่ไม่มีความนุ่มนวลเหมือนกำมะหยี่ ส่วนมากไพลินที่ได้จากเหมืองในโมกก (Mogok) จะมีสีน้ำเงินโดยธรรมชาติไม่ต้องเผา

“ไพลินซีลอน (Ceylon)” คือไพลินที่ได้จากแหล่งประเทศศรีลังกา มีสีน้ำเงินมีประกาย มีชีวิตชีวา มีความสดและสีอ่อนกว่าไพลินพม่า ไพลินซีลอนส่วนน้อยจะมีสีโดยธรรมชาติโดยไม่เผา ส่วนใหญ่ไม่โปร่งใส สีน้ำเงินมีอาจมีความเข็มหรือจางเกินไป จึงต้องมีการปรับปรุงคุณภาพทั้งน้ำหนักของสีและความใสโดยการเผา

Lotus Gemology Blue Sapphire Color Types (Photo: Lotus Gemology)

นอกจากนี้ไพลินพบได้อีกในหลายพื้นที่ ได้แก่ ไทย กัมพูชา ไนจีเรีย จีน เวียดนาม มาดากัสการ์ ออสเตรเลีย และมอนทานา (สหรัฐอเมริกา) โดยไพลินคุณภาพดีที่สุดจากแคชเมียร์และพม่าเป็นไพลินที่มีชื่อเสียง มีมูลค่าสูงที่สุด และมีราคาสูงสุดต่อกะรัตในการประมูล

A Very Fine Pair of Sapphire and Diamond Earrings, Bvlgari (https://www.phillips.com)

ไพลินเป็นพลอยประจำเดือนเกิดของผู้ที่เกิดเดือนกันยายน และยังถือเป็นสัญญลักษณ์ที่คู่รักนิยมมอบเป็นของขวัญให้แก่กันในโอกาสครบรอบการแต่งงานในปีที่ 5, 15, 23 และ ปีที่ 45 ไพลินได้รับความนิยมในหมู่คนทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ตามตำนานกล่าวว่า ไพลินนั้นเป็นพลอยของกษัตริย์ที่ใช้สวมใส่เพื่อป้องกันภยันตราย ทำให้เชื่อกันว่าผู้ที่สวมใสไพลินจะมีชีวิตที่สดใส มีพลังในการดำรงชีวิต และไพลินนี้สามารถปกป้องอันตรายแก่ผู้ที่สวมใส่ นอกจากนี้ยังถือเอาไพลินนี้เป็นสัญลักษณ์ของความจริงใจ และมั่นคงอีกด้วย

Logan Sapphire (โลแกน แซฟไฟร์) เมื่อพูดถึงไพลินซีลอน (Ceylon Blue Sapphire) ที่โด่งดังที่สุด อย่าง “Logan Sapphire” จากศรีลังกา เป็นไพลินที่มีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมากถึง 422.99 กะรัต (84.6 กรัม) เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงลักษณะของสีประจำปีของ Pantone 2020 จัดแสดงอยู่ที่สถาบันสมิธโซเนียน บริจาคโดย Rebecca Pollard Guggenheim (รีเบคก้า พอลลาร์ด กุกเกนไฮม์) ในเดือนธันวาคม 1960 ยังคงอยู่ในความครอบครองของเธอจนถึงเดือนเมษายน 1971 ในเวลานั้น Robert Guggenheim (โรเบิร์ต กุกเกนไฮม์) ได้เสียชีวิตลง เธอได้แต่งงานกับ John A. Logan (จอห์น เอ โลแกน) และได้ตั้งชื่อไพลินเม็ดนี้ว่า “โลแกน (Logan)” ซึ่งโลแกนแซฟไฟร์นี้ได้ทำเป็นเข็มกลัดล้อมรอบด้วยเพชร 20 เม็ด น้ำหนักรวม 16 กะรัต (3.2 กรัม) เป็นอัญมณีสีน้ำเงินอันงดงามที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี

The Logan Sapphire Brooch, National Museum of Natural History, Washington, D.C.

Kate Middleton’s Engagement Ring แหวนหมั้นของเจ้าหญิงไดอาน่า และดัชเชส เคท มิดเดิลตัน เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ได้มอบแหวนไพลินสวยสดงดงามให้กับเจ้าหญิงไดอาน่า และต่อมาเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ได้มอบแหวนวงนี้ให้แก่เจ้าชายวิลเลี่ยม เพื่อหมั้นหมายกับเคท มิดเดิลตัน หรือดัชเชสแห่งเคมบริดจ์เพื่อแทนความรักและเปรียบเสมือนตัวแทนสายสัมพันธ์รักจากแม่สู่ลูกของเจ้าหญิงไดอาน่าและเจ้าชายวิลเลี่ยม เป็นแหวนไพลินซีลอนจากศรีลังกาสีน้ำเงินเข้ม ขนาด 12 กะรัต และล้อมด้วยเพชร 14 เม็ด วางเรียงอย่างสวยงามบนตัวเรือนทองคำขาว ออกแบบโดยการ์ราร์ด (Garrard) ร้านเครื่องประดับประจำราชวงศ์ที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก

แหวนวงนี้จึงถือว่ามีคุณค่าทางประวัติศาสตร์สำหรับราชวงศ์อังกฤษอย่างมาก ปัจจุบันมีการประเมินราคาแหวนวงนี้อยู่ที่ 300,000 ปอนด์ หรือราว 13 ล้านบาท และเมื่อวิลเลียมและแคทเธอรีนประกาศการหมั้นในปี 2010 ยอดขายของแหวนหมั้นแซฟไฟร์ก็กลับมาพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง พร้อมกับที่นักสะสมอัญมณีและผู้ค้าอัญมณีทั่วโลกหันกลับมาให้ความสนใจและซื้อแซฟไฟร์จำนวนมากไว้เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และสร้างเทรนด์ใหม่ที่การใช้ไพลินในแหวนเจ้าสาว ปัจจุบันแหวนหมั้นของดัชเชส เคท มิดเดิลตันกลายเป็นรูปแบบแหวนไพลินที่เป็นที่ปรารถนาที่สุดในโลก แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในการเลือกแหวนของเธอ และทำให้เจ้าหญิงไดอาน่าก็กลายเป็นที่รู้จักในฐานะไอคอนสไตล์อย่างรวดเร็ว ทั้งเสื้อผ้า ทรงผม และแน่นอนว่าแหวนของเธอได้กลายเป็นต้นแบบของแหวนหมั้นของโดยคนนับล้าน... ปัจจุบันได้กลายเป็นรูปแบบแหวนหมั้นไพลินที่เป็นที่ปรารถนาที่สุดในโลก 



Oval Sapphire Ring by Garrard (Photo:http://www.garrard.com
 


Beryl (เบริล)

เบริล (Beryl) คือ เบริลเลียม อะลูมิเนียม ไซโคซิลิเกต (beryllium aluminium cyclosilicate) มีสูตรเคมี Be3Al2(SiO3)6 รูปผลึกเป็นเฮกซะโกนอล (hexagonal crystals) มีความแข็งเท่ากับ 7.5 – 8 ตามโมห์สเกล ถ้าเป็นเบริลที่บริสุทธ์ (Pure Beryl) ไม่มีธาตุอื่นปนเปื้อนจะได้สีใส แต่ที่เราพบเบริลมีหลากหลายสีเนื่องจากมีธาตุมาเจือปน ซึ่งสีที่พบก็มีตั้งแต่ใสไม่มีสี เหลือง สีชมพู ชมพูอมส้มถึงส้มอมชมพู แดง (หายาก) สีฟ้า ฟ้าอมเขียวถึงเขียวอมฟ้า สีเขียวสด สีน้ำเงิน (หายาก) น้ำตาล ดำ เบริลจึงมีชื่อทางการค้าที่หลากหลายตามสีที่พบ โดยเบริลที่อยู่ในเฉดสีฟ้า-น้ำเงินจะมีชื่อเรียกดังนี้

อะความารีน (Aquamarine) คือเบริลมีสีฟ้าอมเขียวถึงสีฟ้า-เขียว มีสูตรเคมีคือ Be3Al2Si6O18 ธาตุให้สีคือ ธาตุเหล็ก (Fe) คำว่าอะความารีนมาจากภาษาละติน "Aqua" แปลว่า น้ำ "Mare" แปลว่า “ทะเล” ชื่อเรียกอะความารีนจึงบ่งชี้ถึงสีที่คล้ายกับน้ำทะเลนั่นเอง อะความารีนมีช่วงสีที่แคบมากสามารถพบได้ตั้งแต่สีน้ำเงิน สีน้ำเงินอมเขียวเล็กน้อย สีน้ำเงินแกมเขียว น้ำเงินอมเขียวเข้มหรือเขียวถึงน้ำเงิน สีของอะความารีนที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือสีฟ้าที่ไม่มีสีเขียวปนอยู่เลยซึ่งเป็นสีที่หายากจึงมีการปรับปรุงคุณภาพของอะความารีนโดยการเผาเพื่อให้ได้สีฟ้าบริสุทธิ์มากขึ้น ซึ่งอะความารีนในตลาดจะต้องมีขนาดที่ใหญ่พอสมควรโดยต้องมีน้ำหนัก 5 กะรัตขึ้นไปเพื่อให้ปรากฎสีฟ้าที่มีความเข้มและชัดมากขึ้น ในตลาดอัญมณีนั้นอาจเกิดความสับสนได้ระหว่างอะความารีนกับโทแพซสีน้ำเงินที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพ แต่อะมารีนคุณภาพสูงนั้นสามารถขายได้มากกว่าโทแพซสีน้ำเงินที่มีคุณภาพเทียบเท่ากัน มีความเชื่อที่ผ่านมาหลายศตวรรษ การนำอะความารีนมาใช้เป็นเครื่องรางของขลังในการป้องกันอุบัติเหตุและอันตรายต่างๆ ถือกันว่าเป็นหินกันภัย (Stone of Safety) และเป็นพลอยแห่งความอ่อนวัยตลอดกาล (Gem of eternal youth) จะช่วยให้ผู้ครอบครองมีจิตว่าง สงบไม่ฟุ้งซ่าน มีแต่ความสุขกายสบายใจ ช่วยให้มีความอดทนสูง ก่อให้เกิดความกล้าหาญ และขจัดความเกียจคร้านทั้งปวง

This superb 32.10-carat heart-shaped Brazilian aquamarine shows the gem's finest color, a moderately strong, medium-dark, very slightly greenish blue. - Courtesy M.Chung Gemstones and Fine Jewelry Co. (Photo: http://www.gia.edu)

The Dom Pedro Aquamarine อัญมณีสีฟ้าที่เป็นคู่ปรับเพียงหนึ่งเดียวของเพชรโฮป ถูกจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ เป็นหนึ่งในวัตถุไม่กี่ชิ้นในโลกที่จัดแสดงอยู่ในโซน “Gem and Mineral Collection” ห่างจากตู้แสดง “Hope Diamond” เพียง 30 ฟุต เป็นอะความารีนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถูกตัดจากก้อนผลึกอะความารีนที่มีน้ำหนักประมาณ 100 ปอนด์ (45 กิโลกรัม) และมีความยาวมากกว่า 3 ฟุต (0.91 เมตร) ถูกขุดพบในปี 1980 ที่เหมือง Pedra Azul รัฐ Minas Gerais ประเทศบราซิล และตั้งชื่อตามจักรพรรดิแห่งบราซิล Pedro I และ Pedro II อะความารีนสีน้ำเงินแกมเขียวถูกเจียระไนออกโดย Bernd Munsteiner ในรูปแบบเสาโอเบลิสค์ที่มีน้ำหนัก 10,363 กะรัต ขนาดที่เสร็จสมบูรณ์มีขนาด 14 นิ้ว (36 ซม.) กว้าง 4 นิ้ว (10 ซม.) อัญมณีถูกบริจาคให้สถาบันสมิธโซเนียนโดย Jane Mitchell และ Jeffery Bland

 

Dom Pedro Aquamarine (Photo: Smithsonian Institution)

The Brazilian Aquamarine Parure Tiara รัดเกล้าอะความารีนที่สมเด็จพระราชินีฯ ทรงมอบหมายให้การ์ราร์ด (Garrard) ออกแบบและผลิตขึ้นในปี 1957 เพื่อให้เข้ากันกับเซตเครื่องประดับอะความารีนที่เป็นสร้อยคอและต่างหูที่ประธานาธิบดีบราซิลมอบให้เป็นของขวัญในพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในนามของชาวบราซิลทั้งประเทศในปี 1953 เป็นอะความารีนหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ 9 เม็ดโดยแต่ละเม็ดล้อมด้วยเพชร ต่างหูถูกออกแบบให้เข้ากับสร้อยคอและมีจี้ที่ถอดออกได้ เป็นรัดเกล้าอะความารีนประดับเพชรที่โดดเด่น มีการจัดวางองค์ประกอบของเพชรสลับกับอะความารีนไว้ได้อย่างประณีต ทำให้เห็นมุมที่แตกต่างกันถึงสองมุมเมื่อมองจากด้านด้านบนของรัดเกล้า และในปี 1958 ชาวบราซิลได้มอบเข็มกลัดและสร้อยข้อมืออะความารีนขนาดใหญ่ให้กับเธอ

The Brazilian Aquamarine Parure Tiara (Photo: Tiaramania)

The rest of the parure as it looks today (necklace, earrings, brooch, bracelet); the Queen wearing the earrings and original necklace before the tiara was made, in 1954 (Photo:http://orderofsplendors.blogspot.com)

Princess Diana’ Aquamarine Ring แหวนค็อกเทลตัวเรือนทำด้วยทองคำประดับอะความารีนทรงเอมเมอรัลขนาดประมาณ 30 กะรัต ประดับด้วยเพชรขนาดเล็ก 24 กะรัต และอยู่ในตัวเรือนทองคำออกแบบและผลิตโดย Asprey ในปี 1997 เป็นแหวนที่เจ้าชายแฮร์รี่มอบให้ดัชเชสเมแกนสวมใส่ในงานฉลองสมรสตอนค่ำซึ่งเป็นแหวนของเจ้าหญิงไดอาน่าพระมารดาของเจ้าชายแฮร์รี่ แต่ค่อนข้างแปลกสำหรับอัญมณีสีฟ้าหรือสีน้ำเงินที่มีตัวเรือนเป็นทองคำ โดยปกติแล้วอัญมณีสีฟ้านั้นส่วนมากจะออกแบบและอยู่ในตัวเรือนที่เป็นเงินสเตอร์ลิงหรือตัวเรือนสีขาว ตามคำแถลงของพระราชวังเคนซิงตันนั้น แหวนวงนี้ทำขึ้นจากทองคำเวลส์อันเป็นของขวัญจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 นั่นเอง ซึ่งเป็นนับตั้งแต่ที่ดัชเชสแมแกนได้สวมใส่แหวนอะความารีนประกายสีฟ้าสดใสไปในงานฉลองสมรสของเธอในค่ำคืนนั้น ทำให้แหวนวงนี้ได้ถูกปรากฎอยู่ในนิตยสารแฟชั่น บล็อก และในสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ และหลายล้านคนเข้ามาร่วมเฉลิมฉลองและแสดงความยินดี ทำให้ความต้องการแหวนค็อกเทลประดับอัญมณีสีฟ้าได้กลายเป็นกระแสไปทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

Princess Diana’ Aquamarine Ring (Photo:www.hellomagazine.com)

Blue Beryl (บลูเบริล) หรือแมกซีซี (Maxixe) (mah-she-she) คือเบริลสีน้ำเงินเข้มหรือเป็นอะความารีนในเวอร์ชั่นสีน้ำเงินเข้มนั่นเอง เป็นอัญมณีที่ฟังดูไม่ค่อยคุ้นหูสักเท่าไรและไม่ได้พบเห็นบ่อยในตลาดค้าพลอย แต่เมื่อมันปรากฏขึ้นบ้างเป็นครั้งคราวมันอาจทำให้เกิดความสับสนขึ้นได้ ซึ่งก็เป็นความผิดปกติของการเกิดสีในเบริลที่สามารถเกิดขึ้นได้ แมกซีซีถูกพบเป็นครั้งแรกในปี 1917 ที่เหมืองแมกซีซี (Maxixe) ในพื้นที่รัฐปีเอาอี (Piauí) และบริเวณทางตอนใต้ของรัฐมีนัสเชไรส์ (Minas Gerais) ประเทศบราซิล (Brazil) เนื่องจากสีน้ำเงินใน Maxixe เป็นสีที่ไม่คงที่จะจางหายไปกลายเป็นสีขาวได้เมื่อสัมผัสกับแสงแดดหรือความร้อนที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 100 องศา สีจะสลายไปอย่างรวดเร็ว อาจจะมีสาเหตุจากความผิดปกติของกระบวนการเกิดสีในผลึกแต่สามารถปรับปรุงคุณภาพด้วยการฉายรังสี (แกมมา, x-ray หรือนิวตรอน) เพื่อให้สีกลับมาเหมือนเดิม


Blue Beryl (Maxixe) (Photo: http://www.gemdat.org)

Blue​ Spinel (บลู สปิเนล)

สปิเนล (Spinel) เป็นผลึกในระบคิวบิกและเป็นชื่อของกลุ่มแร่ออกไซด์ที่มีสูตรเคมีขั้นต้นเป็น แมกนีเซียมอลูมิเนียมอ๊อก​ไซต์ (MgAl2O4) แต่เมื่อพูดถึงสปิเนลหลายคนก็จะคิดว่ามีแต่สีแดง แต่ในความจริงแล้ว สปิเนลพบได้หลายสี เช่น สีแดงเข้ม ในสมัยก่อนเรียกโนเบิลสปิเนล สีน้ำเงิน จนถึงไม่มีใสไม่มีสี มีได้หลายเฉดตั้งแต่ระดับสีสดฉ่ำไปถึงสีอ่อนใสพาสเทล ในขณะที่สปิเนลทั้งหมดได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเพราะสปิเนลมีสีที่หลากหลาย สีของสปิเนลทุกสีเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่มีการปรับปรุงคุณภาพของสีและความใสแต่อย่างใด

Red, pink, lilac, and blue are commercially important spinel colors by GIA  (Photo: https://www.gia.edu/spinel-quality-factor)

บลูสปิเนล (Blue​ Spinel) เป็นอัญมณีที่มีความพิเศษมากอีกชนิดหนึ่งและกลายเป็นที่ดึงดูดความสนใจของเหล่าผู้ซื้ออัญมณีและนักสะสมอัญมณีที่มีประสบการณ์มากที่สุดเช่นกัน เนื่องจากมีสีฟ้าแตกต่างจากอัญมณีสีฟ้าอื่นๆ อย่างเช่น แซฟไฟร์ (Sapphire) แทนซาไนท์ (Tanzanite) และ อะความารีน (Aquamarine) โดยสีน้ำเงินของสปิเนลเป็นสีจากธาตุโคบอลต์ (Cobalt) ในผลึกของสปิเนล ซึ่งเรียกว่า “Cobalt Blue Spinel” ส่วนมากพบได้จากแหล่ง ศรีลังกา เวียดนาม สปิเนล ที่มีปริมาณธาตุเหล็กสูงซึ่งทำให้สีมืดลงทำให้สปิเนลมีลักษณะเป็นสีเทาอมฟ้าถึงสีฟ้าอมม่วงแทนที่จะเป็นสีน้ำเงินบริสุทธิ์ สปิเนลคุณภาพดีต้องปราศจากสิ่งเจือปน ยิ่งถ้าสปิเนลมีสีที่สดใสและมีความอิ่มตัวของสีสูงมากเท่าไรยิ่งราคาก็จะสูงขึ้น

Cobalt Neon Blue Spinel 0.29 ct, Yavorskyy (https://yavorskyy.com)

โดยสปิเนลสีน้ำเงินนั้นจะมีราคาแพงแพงที่สุด เนื่องจากสปิเนลสีน้ำเงินที่ได้จากธาตุโคบอลต์นั้นจะหาได้ยากมาก การเลือกสปิเนลสีน้ำเงินนั้นจะต้องมีสีน้ำเงินบริสุทธิ์ปราศจากสีเทา มีความอิ่มตัวของสีสูง ซึ่งสปิเนลสีน้ำเงินขนาด 1-3 กะรัต จะหาได้ยากมาก โดยสปิเนลคุณภาพสูงจะมีราคาประมาณ 135-250 ดอลาร์สหรัฐต่อ 1 กะรัต แต่โดยทั่วไปแล้วสปิเนลแดงเป็นที่ต้องการมากของตลาดมากที่สุด รองลงมาคือสปิเนลโคบอลต์สีน้ำเงิน ตามด้วยสีชมพู สีส้ม สีม่วง และสีน้ำเงินอมม่วงถึงสีม่วงหรือลาเวนเดอร์มีแนวโน้มที่จะมีความน่าสนใจและมีความต้องการน้อยกว่าสีอื่นที่หายาก โดยราคาจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสีของสปิเนล ความอิ่มตัวของสี และความใสสะอาด สปิเนลบางสีหายากและมีค่ามากกว่าสีอื่นๆ สปิเนลที่มีสีสวยและใสสะอาดมากก็มีราคาที่สูงมากตามไปด้วย เชื่อกันว่าสปิเนลสีน้ำเงินนั้นมีพลังอำนาจทำให้ผู้สวมใส่มีใจคอเยือกเย็น ปลอดโปร่ง และแจ่มใส 

Cushion Blue Spinel, Alexandrite & Diamond Halo Pendant in White Gold by Omi Prive (Photo: http://www.borsheims.com)


Blue​ Tourmaline (บลู ทัวร์มาลีน)

ทัวร์มาลีน (Tourmaline) มาจากคำว่า “ทุรมาลี (Turamali)” ในภาษาสิงหล ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกรัตนชาติของศรีลังกาในสมัยก่อน ทัวร์มาลีนพบได้ทุกสีตั้งแต่ใสไม่มีสีไปจนถึงสีดำ เป็นอัญมณีอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ ในตลาดอัญมณี โดย บลูทัวร์มาลีน (Blue​ Tourmaline) หรือ อินดิโคไลต์ (Indicolite) ใช้เป็นชื่อเรียกของทัวร์มาลีนสีน้ำเงินเข้มอมเขียวถึงอมม่วง ความอิ่มตัวของสีตั้งแต่สีน้ำเงินถึงสีนำเงินเข้ม เป็นทัวร์มาลีนชนิดเอลเบไอต์ (Elbaite) มีธาตุเหล็ก (Fe2+) เป็นสาเหตุของการเกิดสีน้ำเงิน อินดิโคไลต์เป็นทัวร์มาลีนที่หายากกว่าทัวร์มาลีนสีอื่นๆ 

Colorful Tourmalines. From the Dr. Eduard J. Gubelin Collection (Photo: GIA)

ด้วยสีน้ำเงินที่น่าทึ่งและแปลกตานี้ทำให้บลูทัวร์มาลีนถูกขนานนามจากนักออกแบบเครื่องประดับและนักสะสมอัญมณีว่าเป็นอัญมณีมีสีสันสวยงามที่สุดในบรรดาทัวร์มาลีนทั้งหมด พบได้ทั่วไปจากแหล่งในประเทศสหรัฐอเมริกา บราซิล ศรีลังกา และไนจีเรีย เมื่อเทียบกับทัวร์มาลีนชนิดอื่นๆ ทัวร์มาลีนสีน้ำเงินนั้นค่อนข้างหายากและมีราคาสูง มักจะขายในการรวมกับทัวร์มาลีนสีเขียวเนื่องจากมันเป็นสีที่เข้ากัน ถ้าหากนำไปทำเครื่องประดับจะทำให้มีความสวยงาม น่าดึงดูด เป็นอย่างมาก บลูทัวร์มาลีนนั้นเชื่อกันว่าช่วยทำให้จิตใจสงบ รู้สึกมั่นคง ความมั่งคั่ง การรักษาความรักและความสัมพันธ์ให้มั่นคง นอกจากนี้ยังมี พาราอิบาทัวร์มาลีน (Paraiba) เป็นทัวมาลีนที่แพงที่สุด เพราะมีสีฟ้าสดใสแปลกตาคล้ายสีของเทอคอยส์ (Turquoise) ผสมกับสีน้ำเงินอิเล็กทริก (Electric Blue) หรือสีเขียวอมฟ้า

Indicolite Tourmaline 0.88 ct, Yavorskyy (https://yavorskyy.com)

Pair of Indicolite Tourmaline and Diamond Pendent Earrings, IVY (Photo:https://www.sothebys.com)


Kyanite (ไคยาไนต์)

ไคยาไนต์ (Kyanite)  มาจากคำในภาษากรีกหมายถึง “สีน้ำเงิน” เป็นแร่อะลูมิโนซิลิเกตสีน้ำเงินซึ่งมักพบได้ในหินแกรนิตชนิดเพกมาไทต์ (Pegmatites) ที่มีปริมาณของธาตุอลูมิเนียมสูง โดยการเกิดของไคยาไนต์จะเกิดในสภาวะที่มีความดันสูง เป็นผลึกระบบไทรคลีนิก มีลักษณะยาว แบนเป็นแผ่นหรือชั้นหนาหรือเป็นแผ่นแบนคล้ายใบมีด จากลักษณะของตัวผลึกเป็นเส้นและแผ่นที่ซ้อนทับกันมีแนวโน้มที่จะแตกแยกกันได้ง่ายตามแนวยาวของผลึก ทำให้ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งเมื่อทำการตัดและเจียระไน มีความแข็ง 5-7 ตามโมห์สเกล ไม่นิยมใช้เป็นอัญมณี เนื่องจากไคยาไนท์มีความเปราะค่อนข้างสูงเพื่อเทียบกับอัญมณีชนิดอื่น ไคยาไนต์ที่มีคุณภาพสูงในระดับเจมส์ควอลิตี้ส่วนใหญ่นั้นจะเป็นสีน้ำเงินพบได้ตั้งแต่สีน้ำเงินอ่อน-เข้ม โดยสีน้ำเงินสามารถพบได้ในช่วงใสไม่มีสีไปจนถึงน้ำเงินเข้ม ส่วนสีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดนั้นมีสีน้ำเงินเข้มโปร่งใสคล้ายกับสีน้ำเงินเข้มของไพลิน

ไคยาไนต์สีฟ้าใสที่มีความเข้มของสีต่ำกว่าอาจมีลักษณะเหมือนอะความารีนหรือบลูโทแพช อย่างไรก็ตามยังสามารถพบได้หลากหลายสีหรือไม่มีสีแต่ก็เป็นส่วนน้อย นอกจากนี้ยังพบสีเทา สีเขียว สีเหลือง สีส้ม สีม่วง และสีดำได้เช่นกัน และในบางครั้งเป็น Pleochroism (ดูเหมือนจะเป็นสีที่ต่างกันเมื่อมองจากทิศทางที่ต่างกัน) ไคยาไนต์เป็นหินที่มีความวาวคล้ายแก้วและคล้ายมุก มักนำมาใช้ในอุตสาหกรรมกันความร้อนและผลิตภัณฑ์เซรามิค ไคยาไนท์มักใช้เป็นเครื่องประดับสำหรับนำโชค เชื่อกันว่าการสวมใส่ไคยาไนต์จะช่วยส่งเสริมในเรื่องสติและปัญญา ช่วยบันดาลให้ผู้อื่นเกิดความภักดี และปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเป็นธรรม ช่วยให้สามารถผ่านสภาวะการทำงานที่มีแต่ความไม่เห็นด้วยและข้อพิพาท เพิ่มพลังเสริมดวงชะตาของท่านให้กล้าแกร่ง ช่วยให้มีจิตใจที่เด็ดเดี่ยวไม่โลเล สามารถปกครองคนหมู่มากได้ ทำให้เกิดชัยชนะที่มั่นคงถาวร บางคนเชื่อว่าไคยาไนต์สามารถทำให้สงบจิตใจและนำความสงบสุขมาให้จิตวิญญาณ สำหรับอัญมณีสีฟ้าเข้มนี้เป็นสีแห่งความสงบเงียบ สร้างสมดุล และกระตุ้นการแสดงออกของตัวเอง ทำให้มีสมาธิที่ดี


Kyanite (Photo:https://www.jtv.com/library/gemopedia/kyanite)

...ติดตามบทความเรื่อง CLASSIC BLUE... จากอัญมณีสีน้ำเงินสู่นิยามสีแห่งปี “แพนโทน 2020” ตอนที่ 2 กันต่อได้ในครั้งหน้า และทำความรู้จักกับอัญมณีในโทนสีน้ำเงินคลาสสิกบลูที่เหลือ พร้อมส่องเทรนด์ผู้บริโภคและธีมการออกแบบเครื่องประดับของปี 2020 โดยใช้อัญมณีสีฟ้าและสีน้ำเงินในการออกแบบจากหนังสือเรื่อง "JEWELRY TRENDBOOK 2020+"

We uses cookies to improve website performance. You can learn more about the use of cookies at Cookie Policy Setting Accept