แหวนหมั้น...ตำนานสื่อรักแทนใจความหมายแห่งรักนิรันดร์ แหวนหมั้น...ตำนานสื่อรักแทนใจความหมายแห่งรักนิรันดร์
แหวนหมั้น...ตำนานสื่อรักแทนใจความหมายแห่งรักนิรันดร์

GIT LIbrary Admin

 26 Aug 2020   3247
THE A-Z OF JEWELRY: E IS FOR...
ENGAGEMENT RING

 

เรื่องเล่าของแหวนหมั้นหรือแหวนแต่งงานนั้นมีมาอย่างยาวนานตั้งแต่ยุคโบราณกาล วัสดุที่ใช้ทำแหวนก็แสนจะเรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยความหมายที่ลึกซึ้ง มีแค่เพียงเถาวัลย์ที่นำมาใช้ถักทอเป็นแหวนสวมใส่ให้แก่กัน มีการพัฒนารูปแบบมาเรื่อยๆ ได้คิดค้นวัสดุอย่างอื่นที่คงทนกว่ามาทดแทน​ เช่น หนังสัตว์ เขาสัตว์ งาช้าง ตลอดจนใช้โลหะต่างๆ และกลายมาเป็นแหวนที่ทำจากโลหะมีค่า เช่น เงิน ทองคำ และแพลตทินัม ประดับด้วยอัญมณีอย่างในปัจจุ​บัน​

Victorian Engagement Rings By Erstwhile (Photo: https://erstwhilejewelry.com/)
 

กว่า 5,000 ปีที่แล้วในยุคอียิปต์โบราณมีวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนแหวนเป็นของขวัญนั่นก็คือ “แหวนแห่งความรัก (Rings of Love)” เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยปรากฏหลักฐานจากการค้นพบแหวนที่ทำจากต้นกกทอหรือหนังเป็นรูปทรง “วงกลม” ชาวอียิปต์เชื่อกันว่า “วงกลม” หรือ “วงแหวน” เป็นสัญลักษณ์อันทรงพลังที่แสดงถึง “ความเป็นนิรันดร์” วงกลมที่ไม่มีจุดสิ้นสุดเป็นตัวแทนของชีวิต มีความหมายสุดโรแมนติก​ ความหมายแห่งรักแท้ รักนิรันดร์ รักอมตะนิรันดร์กาลตราบจนชั่วฟ้าดินสลาย กษัตริย์ของอียิปต์โบราณมักใช้แหวนตราซึ่งมีสัญลักษณ์ของราชวงศ์ที่เป็นแมลงปีกแข็งหรือดวงอาทิตย์ ส่วนในกรีกโบราณแหวนตรามักแสดงภาพรถม้าหรือภาพของเทพเจ้า

Vena amoris (Photo: wikipedia)
 

ชาวกรีกและโรมันเชื่อว่า นิ้วนางของมือข้างซ้ายมี “หลอดเลือดดำแห่งความรัก (Vein of Love)” เชื่อมไปสู่หัวใจโดยตรง แหวนหมั้นจึงเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึง “ความเป็นเจ้าของ” แหวนที่ใช้สวมใส่มีดีไซน์เรียบง่ายทำจากโลหะที่แสนจะธรรมดา แหวนบางวงอาจออกแบบให้ติดอยู่กับกุญแจเล็กๆ บางวงก็ออกแบบให้มีลักษณะมือประสานกันที่เรียกว่า “Fede Ring”  เป็นรูปแบบของแหวนที่สองมือจับกันไว้ซึ่งหมายถึงความรัก ข้อตกลง หรือการหมั้นหมาย โดยมีการใช้แหวนในลักษณะนี้ต่อไปอีกถึง 1,000 ปี

Fede Ring in Gold, 16th century. (Source: Met Museum of Art)
 

เมื่อเวลาผ่านไปชาวโรมันเริ่มปรับเปลี่ยนดีไซน์แหวนแต่งงานจาก​ Fade Ring ​ไปเป็นภาพแกะสลักของหน้าคู่รักแทน สิ่งนี้นำไปสู่จักรวรรดิไบแซนไทน์ในยุคกลางเมื่อแหวนส่วนใหญ่ถูกแกะสลักเป็นภาพใบหน้าหรือร่างเต็มของคู่หมั้น เมื่อศาสนาคริสต์กลายเป็นศาสนาที่เป็นทางการของจักรวรรดิคู่สามีภรรยามักถูกวาดด้วยพระเยซูหรือข้ามระหว่างพวกเขาและอวยพรการแต่งงานของพวกเขา

GOLD MARRIAGE RING, Gold, 6th–7th century, Byzantine. (Source: Met Museum of Art)
 

ในปี 1477 ดีไซน์ของแหวนหมั้นก็มาถึงจุดเปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัดเจน เมื่ออาร์ชดยุกมัคซีมีลีอานแห่งออสเตรีย (Archduke Maximilian of Austria) ได้มอบแหวนหมั้นประดับเพชรให้กับแมรี่แห่งเบอร์กันดี (Mary of Burgundy) สาวผู้เป็นที่รักของเขา เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่นำเอาอัญมณีมาประดับแหวนหมั้นแต่ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร

In 1477 Mary of Burgundy was given the first diamond engagement ring from the Archduke Maximilian of Austria
 

จนกระทั่งในระหว่างปี 1,500 ถึงปี 1700 “แหวนโพซี่ย์ (Posey Ring)” แหวนหมั้นดีไซน์เรียบง่ายทำจากเงินหรือทองที่สลักตัวเรือนด้วยลดลายต่างๆ และสลักข้อความส่วนตัวสุดโรแมนติกก็ได้ถือกำเนิดขึ้นและเป็นที่นิยมในยุคนั้น และเป็นช่วงที่ “แหวนกล (Gimmel Ring)” ก็ได้รับความนิยมเช่นกันในขณะที่แหวนโพซี่ย์จะมีดีไซน์เรียบง่ายกว่า แต่แหวนกลจะมีดีไซน์ที่ซับซ้อนกว่าด้วยเทคนิคงานช่างทองชั้นสูงแหวนคู่รักสองวงที่สามารถนำมารวมกันเป็นวงเดียวได้ แต่ละวงมีการแกะสลักลวดลายเฉพาะตัวและมีการลงยาให้มีสีสัน โดยลวดลายนั้นก็เป็นสัญญลักษณ์ต่างๆ เช่น มือที่ประสานกันหรือจับกันไว้ ดอกฟอร์เก็ตมีน็อต และหัวใจสีแดง ต่อมาภายหลังมีการออกแบบให้มีสัญลักษณ์อันแสดงถึงความตาย (Memento Mori) และการเกิดใหม่ เช่น โครงกระดูก กะโหลกศรีษะ และทารก 

 
RENAISSANCE GIMMEL RING W/ MEMENTO MORI, 17th Cen, German. (Source: Met Museum of Art)
 
Posey Ring (Photo: http://www.sothebys.com)
 
Posy Ring (Photo: Victoria and Albert Museum, London)
 

ต่อมาในยุควิคตอเรียนเป็นยุคที่นิยมสวมแหวนหมั้นประดับด้วยเพชรพลอยที่เป็นรูปทรงของธนูหัวใจและดอกไม้ และยังคงได้รับความนิยมไปจนถึงยุคเอ็ดเวิร์ดที่เริ่มมีการดีไซน์แหวนหมั้นโดยใช้ตัวเรือนทองคำและแพลตตินัมที่มีลวดลายละเอียดอ่อน ซับซ้อน สวยงามมากยิ่งขึ้น การเจียระไนเพชรเหลี่ยมกุหลาบได้ถูกพัฒนาขึ้นและรับความนิยมอย่างมาก 

 
'Keeper' Ring, gold, silver, rose cut diamonds. 18th Century
 
จนกระทั่งในปลายศตวรรษที่ 19 เมื่อเดอเบียร์ส (De Beers) ได้เข้ามาควบคุมกลไกลการตลาด​ ​อุปสงค์​-อุปทานของเพชรทั้งหมด​ หลังจากการค้นพบเพชรจำนวนมหาศาลในแอฟริกาใต้ ทำให้เดอเบียร์สเข้ามามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากและกลายเป็นผู้นำอุตสาหกรรมเพชรและตลาดเครื่องประดับเพชรชั้นนำของโลก ในปี 1940 เดอเบียร์สได้สร้างค่านิยมให้กับผู้บริโภคภายใต้สโลแกน “A Diamond is Forever” หรือที่ได้ยินกันจนคุ้นหูว่า “เพชรเลอค่าอมตะนิรันดร์” ทำให้เพชรเป็นดัชนีชี้วัดฐานะทางสังคม ค่านิยมการซื้อแหวนเพชรนั้นเปรียบเสมือนการลงทุน ทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้ชายที่จะเป็นว่าที่เจ้าบ่าวยอมลงทุนลงแรง จ่ายเงินเดือนเป็นสองเท่าเพื่อนำเงินมาซื้อแหวนหมั้นเพชรให้กับว่าที่เจ้าสาวของตนเอง หรือแม้แต่ประโยคที่ว่า “How can you make two months’ salary last forever?” ทำยังไงให้เงินเดือนสองเดือนคงอยู่ตลอดไป? เป็นประโยคที่เชิญชวนให้คุณหนุ่มๆ ลงทุนไปกับการซื้อเพชรเพื่อในอนาคต และเพชรเป็นเหมือนมรดกตกทอดให้กับคนในครอบครัวได้อีกด้วย
 
A diamond is forever, De Beers (Photo: https://theeyeofjewelry.com)
 

ต่อมาไม่นาน “แหวนหมั้น” ของแจ็คเกอลีน เคนเนดี้ (Jacqueline Kennedy) หรือ “แจ็คกี้” ภริยาของอดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้ (John F. Kennedy) ซึ่งเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ ในขณะนั้น ก็ได้สร้างความฮือฮาให้กับวงการเครื่องประดับแต่งงานอีกครั้ง ด้วยแหวนหมั้นประดับพลอยจากแบรนด์ แวน คลีฟ แอนด์ อารเปลส์ (Van Cleef & Arpels) เป็นแหวนหมั้นมรกตน้ำงามขนาด 2.84 กะรัต​ ล้อมด้วยเพชรที่เจียระไนเป็นรูปทรงใบไม้ขนาด 2.88 กะรัต บนตัวเรือนแหวนทองคำ 

Jacqueline Kennedy: Emerald and Diamond Ring (Photo:http://www.angeldesignsjewelry.com/)
 

และยังมีแหวนหมั้นเพชรขนาด 29.4 กะรัตของ เอลิซาเบธ เทย์เลอร์ (Elizabeth Taylor) อดีตนักแสดงฮอลีวูดชื่อก้องโลก เป็นแหวนหมั้นจากการแต่งงานครั้งที่สามของเธอกับโปรดิวเซอร์ ไมค์ ท็อดด์ (Mike Todd) ไมค์ได้มอบแหวนหมั้นเพชรเจียระไนทรงเอมเมอรัลคัตเม็ดใหญ่ขนาด 29.4 กะรัต ที่มีขนาดใหญ่มากซะจนเทย์เลอร์เรียกมันว่า “ลานสเก็ตน้ำแข็ง” และนี่ก็เป็นเพียงแค่ตัวอย่างของแหวนหมั้นของคนดังที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายแห่งความรักเรียกได้ว่าเป็นแหวนหมั้นในระดับตำนานที่โลกต้องจดจำกันเลยทีเดียว

 
Elizabeth Taylor: Giant Emerald-Cut Diamond (Photo: https://carouseldiary.com/)
 

และนี่ก็เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของแหวนหมั้นที่มีมาอย่างยาวนานนับพันๆ ปี แนวความคิดเรื่องการแต่งงานและรูปแบบของแหวนหมั้นหรือแหวนแต่งานก็ย่อมเปลี่ยนไปขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตามแหวนหมั้นเป็นเพียง “สิ่งของ” ที่แสดงถึงความรัก การเป็นเจ้าของ แม้ว่าจะมีจะมีดีไซน์และความหมายที่แตกต่างกันไปตามแต่ละยุคแต่ละสมัย  แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่สิ่งของแต่เป็น “ความรัก” การมีหัวใจที่มั่นคงและซื่อสัตย์ต่อกัน ที่จะทำให้คุณค่าของแหวนหมั้นไม่ว่าจะเป็น ทองคำ เงิน หรือเถาวัลย์นั้นมีความหมายสำหรับคนสองคน มากกว่าที่จะมากำหนดเป็นเงินหรือมูลค่าได้


หนังสือแนะนำเกี่ยวกับเครื่องประดับแห่งความรัก แหวนหมั้น แหวนแต่งงาน

Diamonds the Collection of Benjamin Zucker

Author:  Diana Scarisbrick
LC Call No. : NK 7658 .S33 2019
Collection: Diamonds
 
หนังสือเล่มนี้ นำเสนอเครื่องประดับเพชรจากคอลเลกชั่นของราชาแห่งการค้าอัญมณีอย่าง Benjamin Zucker (เบนจามิน ซัคเกอร์) หนึ่งในตัวแทนผู้จำหน่ายเพชรและอัญมณีชั้นนำของนิวยอร์ก เรื่องราวอันน่าทึ่งของเบนจามิน เผยให้เห็นถึงเส้นทางการเป็นพ่อค้าเพชรมาอย่างยาวนานถึงสามชั่วอายุคน ในปี 1941 เขาได้รับการฝึกฝนจากปู่ของเขาที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าเพชรดิบในแอนต์เวิร์ป และลุงของเขาก็เป็นหนึ่งในผู้ค้าเพชรรายใหญ่ที่สุดในตะวันออกไกล เพชรสีน้ำเงินที่มีชื่อเสียงที่สุดของโลกอย่าง Wittelsbach Diamond ก็ได้ถูกซื้อขายผ่านมือของตระกูลซัคเกอร์มาแล้ว
 
กว่า 45 ปีในการรวบรวม​คอลเลกชั่นเครื่องประดับเพชรหายากและทรงคุณค่าไว้ในหนังสือเล่มนี้​ ทำให้ผู้อ่านได้เห็นถึงประวัติของเพชร การเจียระไนเพชร และเครื่องประดับอัญมณีโบราณล้ำค่ากว่า 35 ชิ้น ที่ส่วนใหญ่ผลิตให้กับลูกค้าชาวยุโรปไม่ว่าจะเป็น​ แหวน​ เข็มกลัด​ ปิ่นปักผม​ ต่างหู เครื่องประดับเหล่านี้บอกเล่าเรื่องราวของเพชรอินเดียในช่วงเวลากว่า 600 ปี​ที่ผ่านมา และได้สิ้นสุดลงก่อนที่จะมีการค้นพบเหมืองเพชรแหล่งใหม่ในบราซิล​
 
เริ่มจากแหวนที่เก่าแก่ที่สุดในคอลเลกชั่นซัคเกอร์คือแหวนเพชรแปดเหลี่ยมของสุลต่านมูฮัมหมัดแห่งกอร์ (Sultan Muhammad of Ghor) จากศตวรรษที่ 13 ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดดเด่น และสวยงามระดับเวิลด์​คลาส​ แสดงให้เห็นถึงความปราณีตของนักอัญมณีที่พิถีพิถันด้วยการดึงเสน่ห์ของเพชรแต่ละเม็ดออกมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ และได้ปรับปรุงการเจียระไนให้มีความทันสมัยขึ้น ผู้อ่านจะเห็นถึงวิวัฒนาการของการเจียระไนเพชรจากผลึกเพชรแปดเหลี่ยมที่พบในธรรมชาติไปจนถึง point cut, table cut, rose cut และ brilliant cut ซึ่งเป็นความสำเร็จของการเจียระไนเพชรที่ยอดเยี่ยมที่สุดในปัจจุบัน
 
ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาครอบครัวซัคเกอร์ได้สั่งสมความรู้และประสบการณ์ของการค้าเพชรไว้มากมายเรียกได้ว่า ใช้เวลาตลอดทั้งชีวิต ใช้ทั้งความอดทน ทุนทรัพย์ และความกระตือรือร้นอย่างมหาศาล และด้วยความหลงใหลในเพชรโบราณเหล่านี้ซัคเกอร์ถึงกับเคยพูดเอาไว้ว่า “เพชรยังคงเป็นหน้าต่างมหัศจรรย์ที่เปิดไปสู่โลกอันลี้ลับเสมอ”

 

Rings Jewelry of Power, Love and Loyalty

Author:  Diana Scarisbrick
LC Call No. : NK 7444 .S33 2007
Collection: Jewelry Design
 
หนังสือเล่มแรกที่ผู้เขียนได้ถ่ายทอดเรื่องราวของแหวนโดยเฉพาะ และนำความรู้ทางประวัติศาสตร์และวรรณกรรมอันยาวนานมาใช้ในรื่องราวของแหวนที่เกี่ยวข้องกับความรัก การแต่งงาน และมิตรภาพ ผู้อ่านจะได้รู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของแหวนที่ใช้สักการะบูชา ป้องกันภูติผี แหวนของนักบวช แหวนที่สื่อถึงความตายและการเกิดใหม่ แหวนที่ระลึก แหวนที่เกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีชื่อเสียงและเหตุการณ์ต่างๆ แหวนพลอย แหวนเพชร หนังสือเล่มนี้รวบรวมเรื่องราวของแหวนในหลากหลายช่วงเวลา ตั้งแต่อียิปต์โบราณ กรีกและโรม จนถึงยุคกลาง และยุคเรอเนซองซ์จนถึงศตวรรษที่ยี่สิบ แหวนเหล่านี้มาจากพิพิธภัณฑ์ชื่อดังจากทั่วโลก และแหวนจากคอลเลกชั่นส่วนตัวของพ่อค้าอัญมณีและผู้อุปถัมภ์งานศิลปะอย่างเบนจามิน ซัคเกอร์
 

 

The Power of Love Jewels, Romance and Eternity

Author:  Beatriz Chadour-Sampson
LC Call No. : NK 7306 .C43 2019
Collection: Jewelry Design
 
ความโรแมนติกและความรัก เป็นภาษาสากลซึ่งข้ามผ่านความแตกต่างทางวัฒนธรรมและภาษาเช่นเดียวกับอัญมณีล้ำค่าที่มนุษย์ใช้เป็นวัตถุที่มอบให้กับคู่รักเพื่อแสดงถึงความรักอันลึกซึ้ง ความผูกพันชั่วนิรันดร์และความปรารถนาอันแรงกล้า หนังสือเล่มนี้จึงได้นำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของเครื่องประดับแห่งความรักจากหลายช่วงเวลาแสดงให้เห็นถึงยุคสมัยที่เปลี่ยนไปก่อให้เกิดกระแสนิยมใหม่ๆ รวมทั้งวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา ทำให้รูปแบบเครื่องประดับที่เปลี่ยนไป
 
ด้วยพลังแห่งความรักของนักประวัติศาสตร์ศิลปะระดับนานาชาติและผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องประดับของผู้เขียน ได้เปิดมุมมองใหม่ให้กับเรื่องราวในอดีตของอัญมณีแห่งความรักอันงดงามเหล่านี้ ด้วยการวิเคราะห์บริบทที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เรื่องราวของ "แหวน" เครื่องประดับแทนใจรูปทรงวงกลมแสดงถึงสัญลักษณ์ของความเป็นนิรันดร์ ถึงแม้ว่าประเพณีการมอบแหวนหมั้นหรือแหวนแต่งงานเพื่อเป็นสัญญาในการแต่งงานจะมีมาตั้งแต่ยุคกรุงโรมโบราณ แต่ศตวรรษที่สิบห้าเป็นต้นมาก็เริ่มจะมีการใช้แหวนเพชรในพิธีการแต่งงานกันมากขึ้น จนปัจจุบันก็นำอัญมณีชนิดอื่นๆ มาใช้ในการออกแบบแหวนหมั้นและแหวนแต่งงาน ซึ่งก็มีหลากหลายความหมายด้วยกัน เช่น ทับทิมหรือโกเมนเป็นสัญลักษณ์ของความรักอันเร่าร้อน เพชรเป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคงและความสมบูรณ์แบบ ไพลินแสดงถึงความรักนิรันดร์ และมรกตแสดงถึงความปรารถนาและความหวัง รวมไปถึงลวดลายต่างๆ บนเครื่องประดับ เช่น มือประสานกัน เงื่อนคู่รัก มงกุฎหัวใจ ศรกามเทพ ดอกไม้พร้อมข้อความต่างๆ เรื่องราวเหล่านี้ได้ถูกถ่ายทอดไว้ในหนังสือเล่มนี้พร้อมด้วยภาพถ่ายสีกว่าหนึ่งร้อยภาพ
 
 
สามารถสืบค้นหนังสือได้ที่ SEARCH ON OPAC ได้จาก https://elibrary.git.or.th/ หรือเข้ามาใช้บริการอ่านหนังสือได้ที่​ห้องสมุดอัญมณีและเครื่องประดับ​ ตั้งอยู่ที่​ชั้น​ 1​ อาคารไอทีเอฟ​ ทาวเวอร์​ ถนนสีลม​ เปิดให้บริการวันจันทร์-วันศุกร์​ เวลา​ 08.30-16.30 น.​ หยุดวันเสาร์-อาทิตย์​ ​และวันหยุดนักขัตฤกษ์​
 
 

We uses cookies to improve website performance. You can learn more about the use of cookies at Cookie Policy Setting Accept