Ratched จิตอำมหิต: กับมนต์เสน่ห์แห่งเครื่องประดับยุค 1940s Ratched จิตอำมหิต: กับมนต์เสน่ห์แห่งเครื่องประดับยุค 1940s
Ratched จิตอำมหิต: กับมนต์เสน่ห์แห่งเครื่องประดับยุค 1940s

GIT LIbrary Admin

 10 Oct 2020   4511
หากคุณเป็นคอซีรีย์ทาง Netfilx แล้วล่ะก็ คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักพยาบาลสาวสุดโหดนามว่า มิลเดรด แร็ทเช็ด (Mildred Ratched) นางพยาบาลในตำนานจากภาพยนต์ดังสุดคลาสสิกในปี 1975 เรื่อง One Flew Over the Cuckoo’s Nest และยังเป็นหนึ่งในตัวร้ายที่ยอดเยี่ยมที่สุดจากลิสต์ 100 Heroes & Villians โดยสถาบันภาพยนตร์ของอเมริกา (AFI) ถูกปลุกให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งใน “Ratched จิตอำมหิต” อันเป็นต้นกำเนิดของนางพยาบาลลี้ภัยสงครามจากซีรีส์ของ Netflix ที่กำกับโดยไรอัน เมอร์ฟี่ (Ryan Murphy) โดยได้นักแสดงมากฝีมืออย่าง ซาราห์ พอลสัน (Sarah Paulson) นักแสดงนำหลักจาก American Horror Story และ American Crime Story สวมบท มิลเดร็ด แร็ทเช็ด และซาร่าห์ก็ไม่ทำให้ผิดหวังกับการตีบทพยาบาลสุดโรคจิตแตกกระจุย เรียกว่าโหดได้อย่างแนบเนียนจนผู้ชมเชื่อว่าเธอคือแร็ทเช็ดตัวจริงเสียงจริงกันเลยทีเดียว ด้วยบุคลิกที่เยือกเย็น สุดเคร่งครัด มีจุดมุ่งหมาย เป็นผู้บงการควบคุมทุกอย่างให้อยู่ใต้อำนาจ เนื้อเรื่องที่หักมุมไปมาสร้างการติดตามตั้งแต่ตอนแรกจนถึงตอนสุดท้ายของซีซั่น
 

Ratched (Photo: Netfilx)
 
เป็นซีรีส์อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ควรพลาด เพราะนอกจากความสนุกแบบเขย่าขวัญสั่นประสาทชวนลุ้นอย่างชนิดจัดเต็มแล้ว “Ratched จิตอำมหิต” ยังนำบรรยากาศและมนต์เสน่ห์แห่งยุคทศวรรษ 1940 ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ซึ่งทีมโปรดักชั่นก็ทำได้อย่างน่าประทับใจตั้งแต่เสื้อผ้าหน้าผม ดนตรีประกอบ และโลเคชั่นที่สวยงาม แต่ที่โดดเด่นเป็นพิเศษเห็นจะเป็นคอสตูมสีสันจัดจ้านที่ออกแบบมาอย่างหรูหราและประณีตในทุกรายละเอียด การมิกแอนด์แมตช์ระหว่างเสื้อผ้า เครื่องประดับ หมวกปีกกว้าง ให้เข้ากับผ้าพันคอ เข็มกลัด ถุงมือ ได้อย่างสวยสดงดงามและกลมกลืน
 
Mildred in a navy caped suit and sharp green accessories (Photo: Netfilx)
 
นับได้ว่าเป็นซิกเนเจอร์ในการกำกับหนังแนววินเทจของผู้กำกับเมอร์ฟี่ที่ทำออกมาได้อย่างกลมกล่อมและน่าประทับใจ เสื้อผ้า หน้าผม ดูกลมกลืนและไปด้วยกันได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากเครื่องแบบพยาบาลที่ตัวละครในโรงพยาบาลทั้งชายและหญิงจะสวมเครื่องแบบโทนเขียวสีฟ้า
 
The nurses’ blue hues (Photo: Netflix)
 
“เครื่องแต่งกายมีความสำคัญอย่างยิ่งในทุกการแสดง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับไรอัน เมอร์ฟี่” ลู อีลริช (Lou Eyrich) และ รีเบคก้า กุซซี่ (Rebecca Guzzi) นักออกแบบเครื่องแต่งกายผู้ซึ่งเคยร่วมงานกับเมอร์ฟี่ในเรื่อง American Horror Story ซึ่งทั้งคู่อธิบายว่าพวกเขาได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์และนิตยสารแฟชั่นในช่วงปี 1940
 
Mildred transform her look with this yellow skirt suit (Photo: Netflix)
 
ซีรีส์เรื่องนี้ดำเนินเรื่องราวในช่วงปลายทศวรรษที่ 1940 ดังนั้นแฟชั่นในยุคนั้นจึงเต็มไปด้วยกระโปรงเอวสูง เสื้อแจ็คเก็ต หมวก และเครื่องประดับเก๋ๆ โดยได้รับแรงบันดาลใจอย่างมาจากคอลเล็กชั่น New Look อันเป็นสัญลักษณ์ของ Christian Dior ในปี 1947 นั่นเอง
 
 
The "New Look" by Christian Dior (Photo: https://medium.com)
 
การออกแบบของคริสเตียนยังดูหรูหราทันสมัยมากในตอนนั้นอย่างที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อนและยังเป็นเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ทางด้านการออกแบบเครื่องประดับอีกด้วย นับได้ว่าเป็นการออกแบบที่ท้าทายและปิดท้ายทศวรรษที่ 1940 ได้อย่างงดงาม ทำให้การออกแบบเครื่องประดับแนวนี้ก็ยังได้รับความนิยมมาจนถึงปี 1950
 
Grosse Brooch, 1947. Tombac, lost-wax cast, rhinestones, gold-plated
(Photo: 100 years of passion for Grosse + Bijoux Christian Dior (ISBN 978-3897903357) By Vivienne Becker)
 

100 years of passion for Grosse + Bijoux Christian Dior
Author: Vivienne Becker
LC Call No. : NK 7398.H46 H513 2010
Collection: Jewelry Design
 

ในซีรีย์เรื่องนี้ไม่ค่อยเห็น “เครื่องประดับ” ที่อลังการสักเท่าใดนัก จึงสอดคล้องกับความเป็นจริงในประวัติศาสตร์ช่วงสงคราม ที่ผู้คนในยุคนั้นใช้ชีวิตกันอย่างยากลำบาก เป็นช่วงที่น่าหดหู่สำหรับวงการแฟชั่น ทำให้เครื่องประดับและเครื่องแต่งกายเน้นความคล่องตัวเป็นหลัก ส่วนมากจะเป็นเครื่องประดับชิ้นเล็กๆ อย่างเช่น ต่างหูมุกเม็ดเดี่ยวหรือสร้อยคอไข่มุกดีไซน์เรียบง่าย เพื่อให้ได้ลุควินเทจอย่างที่ต้องการ ทีมคอสตูมต้องทำการบ้านอย่างหนัก เสื้อผ้าและเครื่องประดับแนวย้อนยุคทั้งหมด บางชิ้นต้องสั่งทำพิเศษ “ถ้าของที่เราต้องการไม่มีอยู่จริงเราต้องทำหรือหามาให้ได้” “เราควานหาเสื้อผ้าและเครื่องประดับจากทั่วโลก แต่ส่วนของเสื้อผ้าเป็นส่วนที่ยุ่งยากที่สุด สำหรับเครื่องประดับเราหาใน Ebay และ Etsy อยู่นานหลายชั่วโมง”  รีเบคก้ากล่าว ความท้าทายไม่ใช่แค่การหาเครื่องประดับให้ดูกลมกลืนกับเสื้อผ้าและฉาก แต่ความท้าทายคือการเฟ้นหาเครื่องประดับวินเทจแต่ละชิ้นมาให้ได้ตรงตามช่วงเวลาในเรื่อง เพราะยิ่งย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์มากเท่าไหร่ชิ้นงานวินเทจของแท้ก็เหลืออยู่น้อยมาก” ซึ่งลู อีลริช​ ได้พูดทิ้งท้ายว่า​ “มีหลายครั้งที่เราต้องนำชิ้นงานบางชิ้นกลับมาวนใช้ซ้ำใหม่ อย่างเช่นเปลี่ยนต่างหูหรือหัวเข็มขัดให้เป็น shoe clips!”
 
Lenore Osgood (Sharon Stone) and her monkey Miss Petunia (Photo: Netflix)
 
ด้วยความเรียบง่ายของการออกแบบเครื่องประดับเครื่องประดับในช่วงเวลานั้น รีเบคก้าและลูจึงค่อนข้างเข้มงวดและละเอียดอ่อนเป็นอย่างมากในการเลือกเครื่องประดับสำหรับนักแสดงแต่ละคน แต่ก็ยยังมียกเว้นตัวละครอย่างคุณนาย เลเนอร์ ออสกู้ด (Lenore Osgood) ที่รับบทโดยชารอน สโตน (Sharon Stone) ในเรื่องนี้รับบทเป็นคุณแม่ลูกหนึ่งที่ร่ำรวย ใช้ชีวิตหรูหรา ฟุ่มเฟือย มักเดินไปรอบๆ บ้านในชุดผ้าไหมใส่สร้อยคอไข่มุก พร้อมกับลิง “Miss Petunia” สัตว์เลี้ยงแสนรักของเธอ เป็นการออกแบบตัวละครที่แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานสีสันเสื้อผ้าและเครื่องประดับได้อย่างลงตัว ด้วยบทที่เป็นผู้หญิงมีฐานะจึงมักจะเห็นเธอสวมใส่เสื้อคลุมขนสัตว์หรือชุดกูตูร์ และใช้เครื่องประดับที่อลังการกว่าตัวละครอื่นๆ 

Tony Duquette, Hutton Wilkinson jewelry
Author: Vivienne Becker
LC Call No. : NK 7398.D87 W55 2011
Collection: Jewelry Design
 
 

ซึ่งบ้านสุดหรูที่เต็มไปด้วยดีเทลและสีสันของคุณนายเลเนอร์นั้น เป็นบ้าน Dawnridge ของดีไซด์เนอร์ชื่อดัง Tony Duquette (โทนี่ ดูเก็ตต์) นักออกแบบเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับตั้งอยู่ในย่าน Beverly Hill และได้ ฮัตตัน วิลกินสัน (Hutton Wilkinson) มาสานต่อจิตวิญญาณให้กับบ้านหลังนี้ให้ได้มีชีวิตชีวาอีกครั้ง และยังได้ใช้สร้อยคอดั้งเดิมดีไซน์โดยโทนี่ที่ออกแบบให้มีการผสมผสานของชิ้นงานต่างๆ อย่างพิถีพิถันระหว่าง มาลาไคต์ ลาพิส และปะการังให้เข้ากันได้อย่างลงตัว โดยนำมาสวมใส่ในฉากที่เลเนอร์ไปพบกับมิลเดรด แร็ทเช็ดอีกด้วย

Dressing Sharon as Lenore Osgood (Photo: Netflix)
 
นอกจากนี้ยังมี Ingrid Blix (อิงกริด บลิกซ์) ที่รับบทโดย Harriet Sansom Harris (แฮเรียต แซนซัม แฮร์ริส) ที่ดูหวือหวาอยู่ไม่น้อยเพราะได้สวมเครื่องประดับที่มีสีสันสดใสและดูแปลกประหลาดมากกว่าตัวละครอื่นๆ ที่ได้นำวัสดุอย่างไข่มุกและเปลือกหอยมุก ทองคำและเงิน นำมาเป็นส่วนประกอบในการทำต่างหูและเข็มกลัดให้ออกมาเป็นเครื่องประดับสไตล์คลาสสิก และเครื่องประดับที่ทำจากวัสดุอื่นๆ เช่น เข็มกลัดและต่างหูเบคิไลต์ ต่างหูไมโครโมเสค ส่วนเหล่านางพยาบาลทุกคนจะสวมเข็มกลัดที่แตกต่างกันไปเพื่อบ่งบอกสถานะหรือตำแหน่งของแต่ละคนและบางคนก็ใส่นาฬิกาข้อมือ
 
 Harriet Sansom Harris plays Ingrid Blix (Photo: http://operafresh.blogspot.com/)
 
ในยุคทศวรรษ 1940 เป็นช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังจะสิ้นสุดลง เป็นยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ซึ่งแฟชั่นในยุค 40 นี้จึงเน้นความทะมัดทะแมง ผู้หญิงนิยมใส่กระโปรงสั้นประมาณหัวเข่า สูทขนาดฟิตพอดีตัว เข้าเอวคอด กับกระโปรงบาน มีหมวก ถุงมือ กระเป๋าถือ และเครื่องประดับที่เข้าชุดกัน ในช่วงเวลานี้​ จะเห็นการออกแบบในลักษณะของรูปทรงเรขาคณิต และมีอิทธิพลของศิลปะเครื่องประดับสมัยโรโคโค​ (Rococo) ทั้งเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับมีความเข้าชุดกันอย่างสมบูรณ์แบบมาก โดยเฉพาะดาราภาพยนตร์ทำให้เกิดการโฆษณาเครื่องประดับด้วยดารานางแบบมากมาย ดาราที่มีอิทธิพลมากที่สุดเป็นดาราที่มาจากประเทศสหรัฐอเมริกา
 
In the 1940s, celebrities like Bette Davis were often seen high polished pieces, lots of diamonds, earrings worn high on the lobe and oversized dress clips

การถ่ายแบบในนิตยสารแฟชั่นในยุคนั้นต่างพากันนำเสนอแบบเสื้อผ้าที่มีสีสันสดใสและเครื่องประดับที่ดูร่าเริงเป็นพิเศษ นางแบบแต่งหน้าดูเป็นธรรมชาติเน้นทาริมฝีปากแดง​ การแต่งกายบ่งบอกถึงอารมณ์ทำให้รู้สึกมีกำลังใจในการทำงานในช่วงเวลาที่ยากลำบาก นักแสดงหญิงฮอลลีวู้ดมักให้ความสำคัญกับนิตยสารที่มีการออกแบบชุดให้มีสีสันที่สดใสไม่ใช้เสื้อผ้าแบรนด์เนมระดับไฮเอนด์จากฝรั่งเศส และสวมเครื่องประดับอาร์ตเดโคสไตล์วินเทจหรือพวกคอสตูมจิวเวลรี่ที่ราคาถูกกว่าที่ผลิตในอเมริกาแทน 

มนต์เสน่ห์แห่งเครื่องประดับยุค 1940s

ในช่วงเวลานี้เรียกได้ว่าเป็นยุคแห่งคอสตูมจิวเวลรี่หรือเครื่องประดับแฟชั่นเลยก็ว่าได้ เนื่องจากกระแสทางแฟชั่นซบเซาถึงขีดสุด ผู้คนต่างตกอยู่ในสภาวะสงครามที่เกิดขึ้นมากกว่าจะสนใจความสวยงามของเครื่องประดับแท้ ทำให้การผลิตเครื่องประดับลดน้อยลงไปด้วยเช่นกัน ผู้ผลิตเครื่องประดับต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย เช่น ช่างฝีมือส่วนใหญ่ถูกเกณฑ์ไปสร้างอุปกรณ์ทางทหาร ขาดแคลนวัสดุที่จะนำมาใช้ทำเครื่องประดับอย่าง เงินและแพลทินัม เนื่องจากรัฐบาลมีความต้องการทองแดงกับแพลทินัมเพื่อใช้ในการสงคราม ดั้งนั้นจึงมีการนำโลหะอื่นๆ มาทดแทน เช่น เครื่องประดับจากโลหะเงินใช้เงินสเตอร์ลิงแทน หรือใช้พาลาเดียมแทนแพลทินัม เป็นต้น การออกแบบเครื่องประดับในยุคนั้นจะออกแบบอย่างเรียบง่ายให้เข้ากับเครื่องแต่งกาย และมีราคาถูกสามารถหาซื้อได้ในร้านค้าท้องถิ่น 

ในขณะที่เครื่องประดับเทียมในยุคนี้ใช้โลหะสีขาวกับทองเหลืองร่วมกับไม้และลูกปัดพลาสติก  ทำให้เครื่องประดับประเภทงานฝีมือเป็นเครื่องประดับแฟชั่นที่ได้รับความนิยมมากอีกชนิดหนึ่ง  เป็นผลงานที่ทำได้ด้วยตนเองในขณะที่เกิดสงคราม  ไม่สามารถออกไปสรรหาเครื่องประดับตกแต่งได้ในยุคนั้น ซึ่งในหนังสือ Vintage Jewellery Sourcebook By Caroline Cox (LC Call No. NK7310.C69 2013 : Jewelry Design Collection) ได้ระบุถึงประวัติศาสตร์และมุมมองการออกแบบเครื่องประดับจากยุค 1940s ไว้ดังนี้
 
 
Vintage Jewellery Sourcebook By Caroline Cox (Photo: GIT Library)
 
โลหะและไม้ (Metal and Wood) ในช่วงสงครามทำให้วัสดุมีค่าขาดแคลนอย่างหนัก นักออกแบบจึงมองหาแรงบันดาลใจโดยใช้วัสดุอื่นทดแทน อย่างสร้อยคอและเข็มกลัดสไตล์อิตาเลี่ยนเส้นนี้จากปี 1942-1945 ได้รับการออกแบบโดยการผสมผสานระหว่างโลหะและไม้ นักออกแบบชาวอิตาลี ซัลวาทอเร เฟอร์รากาโม (Salvatore Ferragamo) เป็นผู้นำในการดีไซน์เครื่องประดับแฟชั่นในรูปแบบนี้
 
Italian necklace and brooch by Salvatore Ferragamo
(Photo: Vintage Jewellery Sourcebook (ISBN 978-1780974286) By Caroline Cox)
 
เวอร์มิลโกลด์ (Gold Vermeil) เป็นเครื่องประดับเงินสเตอร์ลิงชุบทองคำ ใช้เงินสเตอร์ลิงบริสุทธิ์ (ใช้เป็นวัสดุหลัก) ชุบด้วยทองคำอย่างน้อย 10K ที่มีระดับความหนาอย่างน้อย 2.5 ไมครอน กลายเป็นตัวเลือกยอดนิยมสำหรับเครื่องประดับในยุคนี้  เพราะเวอร์มิลให้รูปลักษณ์ของ “ทองคำ” จึงเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับสาวๆ ที่อยากสวมใส่เครื่องประดับทองในราคาที่ถูกกว่า ซึ่งนักออกแบบมักจะดีไซน์ให้เป็นรูปทรงธรรมชาติอย่าง ดอกไม้ สัตว์ เป็นต้น
 
Vintage Estate,1940s Coro Craft Rose Gold Vermeil Sterling BIG Flower Brooch
(Photo: Pinterest.com)
 
พลาสติกเบคิไลต์ (Bakelite) ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ 1930 และ 1940 ด้วยสีสันที่น่าดึงดูดใจและมีราคาที่ถูกมาก ทำให้เครื่องประดับเบคิไลต์เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ นอกจากมีความสวยงามแล้วยังสามารถหาซื้อได้ง่ายอีกด้วย และยังมีพลาสติกคาตาลิน (Catalin) ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กันในช่วงเวลานี้ด้วยเช่นกัน นักออกแบบจะนำพลาสติกมาใช้ในการทำเข็มกลัดและสร้อยคอ มีการออกแบบให้ผสมผสานกันระหว่างพลาสติกกับไม้หรือพลาสติกกับเปลือกหอยเพื่อให้ได้งานออกแบบที่หลากหลาย แต่ข้อเสียของเบ็กไลท์ก็คือเมื่อเวลาผ่านไปเบ็กไลท์จะมีการเปลี่ยนสีได้โดยสีน้ำเงินจะเปลี่ยนเป็นสีดำ และสีขาวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง
 
Bakelite Jewelry
(Photo: Bakelite Jewelry: The Art of the Carver (ISBN 978-0764329142) By Lyn Tortoriello)

Bakelite Jewelry: The Art of the Carver
Author: Lyn Tortoriello
LC Call No. : NK 4890.P55 T65 2008
Collection: Jewelry Design
Read More: https://opac.git.or.th/BibDetail.aspx?bibno=3118
 

ไรน์สโตนส์ (Rhinestone) เดิมคือ ควอตซ์ไร้สี (Rock Crystal) ที่นำมาเจียระไนทรงคลาสสิกแบบโบราณเลียนแบบเพชรเรียกอีกอย่างว่า Diamante     แต่ปัจจุบันใช้เรียกแก้วที่เคลือบด้วยตะกั่วด้านล่าง นำมาใช้เป็นของเลียนแบบเพชรได้ให้ประกายแวววาวคล้ายเพชรแท้เมื่อโดนแสงไฟ เป็นที่นิยมอย่างมากในการนำมาใช้เป็นเครื่องประดับในปี 1940 ผลิตที่เมืองพรอวิเดนซ์ รัฐโรดไอส์แลนด์ (Providence, Rhode Island) ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องประดับแฟชั่นของอเมริกา ด้วยราคาที่ถูกของอัญมณีเทียมชนิดนี้ ทำให้บรรดาสาวๆ ในยุคนั้นต่างพากันไปหาซื้อมาใส่เหมือนดาราฮอลลิวู้ด

Rhinestones Brooch Vintage,1942 By Eisenberg (Photo: Eisenberg Originals: The Golden Years of Fashion, Jewelry, and Fragrance, 1920s-1950s (ISBN 978-0764352348) by Sharon Schwartz)


Eisenberg Originals: The Golden Years of Fashion, Jewelry, and Fragrance, 1920s-1950s
Author: Sharon Schwartz
LC Call No. : NK 7398.E37 S3 2017
Collection: Jewelry Design
Read More:  https://opac.git.or.th/BibDetail.aspx?bibno=6062
 

เงินสเตอร์ลิง (Sterling Silver) โลหะผสมประกอบด้วยเงิน 92.5% และโลหะอื่น 7.5% (โดยปกติจะผสมกับทองแดง) ดังนั้นจึงไม่ใช่เงินบริสุทธิ์ เงินสเตอร์ลิงเป็นที่นิยมอย่างมากในการนำมาใช้เป็นวัสดุในการทำเครื่องประดับในยุค 1940s อันเป็นผลมาจากการขาดแคลนเงินและแพลทินัมในช่วงสงคราม และเป็นหนึ่งในวัสดุเพียงไม่กี่ชนิดที่รัฐบาลอนุญาตให้ใช้ในเครื่องประดับ

 
Coro sterling silver brooch by Artaurora (Photo: http://www.rubylane.com) 
 
พาลาเดียม (Palladium) เป็นโลหะทรานซิชันหายากอยู่ในกลุ่มเดียวกับแพลทินัม ซึ่งเป็นพวกโลหะมีค่า สีขาวเงิน มีสมบัติทางเคมีคล้ายกับแพลทินัม (Platinum) ในปี 1940 นิยมนำมาใช้ทำเป็นเครื่องประดับแทนแพลทินัมเพราะราคาไม่แพงจนเกินไป  จึงสามารถผลิตเครื่องประดับได้อย่างต่อเนื่องถึงต้นปี 1943
 
ทองคำเขียว (Green Gold) เครื่องประดับที่หล่อด้วยทองคำให้เกิดสีเขียวได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทองเขียว 18K ประกอบไปด้วยทองคำ 75% และเงิน 25% โดยเป็นทองคำโลหะเจือที่สร้างโดยดึงเอาทองแดงออกไปเหลือไว้เพียงแค่ทองคำและเงิน ความจริงแล้วมันจะปรากฏเป็นสีเหลืองสีเขียวแทนที่จะเป็นสีเขียว
 
เครื่องประดับแฮนด์เมด (Jewelry Handmade) ในสมัยนั้นผู้หญิงต้องมีความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับสิ่งที่นำมาใช้เพื่อประดับตกแต่งเสื้อผ้า เพราะอยู่ในช่วงของสงครามทำให้มีข้อจำกัดในเรื่องของวัตถุดิบที่จะนำมาทำเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับ  จึงเป็นยุคแห่งการมิกแอนด์แมตช์เสื้อผ้าหลายชิ้นที่มีอยู่ในตู้เสื้อผ้าให้สวมใส่ได้มากที่สุด เข็มกลัดดอกไม้ผ้าสักกะหลาด (Felt Flower) ที่ทำขึ้นเองอย่างง่ายๆ จากผ้าสักกะหลาดจึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะทำจากวัสดุที่มีราคาไม่แพง สามารถเย็บเองได้เอาไว้ติดชุดไปงานตอนเย็นได้อีกด้วย
 
Felt flower, 1940s (Photo: http://fortiesknitter.blogspot.com)
 
นอกจากนี้ยังมีสร้อยคอโครเชต์หรือแม้กระทั่งนำเชือกผูกรองเท้ามาถักทอเป็นเข็มกลัดช่อดอกไม้ติดเสื้อ และนี่จึงเป็นทศวรรษแห่งความความคิดสร้างสรรค์อย่างแท้จริง
 
1940s flower corsages made from shoelaces (Photo: https://vintagevisage.typepad.com)
 
เครื่องประดับไฟน์จิวเวลรี (Fine Jewellery) เครื่องประดับแท้ในยุคสงครามโลกนั้นแน่นอนว่าหายากและราคาสูงลิบลิ่ว ด้วยการออกแบบที่ปราณีตงดงามไม่ต่างกับคอสตูมจิวเวลรี่ มีแบรนด์เครื่องประดับแท้ที่ยังดำเนินกิจการอย่างไม่ย่อท้อต่อความต้องการของเครื่องประดับเทียมที่นิยมอยู่มากในขณะนั้น ถึงแม้ส่วนใหญ่จะดำเนินกิจการมาตั้งแต่ยุค 1920 ก็ตาม และยังคงการดำเนินธุรกิจอยู่ได้นั้น  ได้แก่ บริษัท  Cartier และ Van Cleep & Arpels อัญมณีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปี 1940 ได้แก่ บุษราคัม ซิทริน อเมทิสต์ ทับทิม และไพลิน ซึ่งนักออกแบบชาวอเมริกันสามารถหาอัญมณีเหล่านี้ได้จากความช่วยเหลือของนักอัญมณีชาวยุโรปเป็นหลัก และหนึ่งในโทนสีที่เป็นที่นิยมที่สุดสำหรับเครื่องประดับในช่วงเวลานี้คือ สีแดง สีขาว และสีน้ำเงิน
 
Wallis Simpson flamingo brooch,1940s By Cartier Paris (Photo https://www.cartier.com)
 
รูปแบบเครื่องประดับปี 1940s
 
สร้อยคอลูกปัด (Beaded Necklaces) เพื่อให้การแต่งกายสวยงามอย่างสมบูรณ์แบบ เลือกชุดสีใดสีหนึ่งแล้วสวมด้วยสร้อยคอลูกปัดในโทนสีเข้ม การสวมสร้อยคอของยุค 1940 มักจะวางอยู่เหนือขอบเสื้อตรงหน้าอกหรือยาวลงมา 16 นิ้ว (ถึงกลางอก) สร้อยคอลูกปัดสำหรับใส่เวลากลางวันมีหลายแบบอาจจะเป็นลูกปัดกลมหลายเส้นพันเข้าไว้ด้วยกัน ส่วนสร้อยคอไข่มุกแท้หรือลูกปัดร้อยเรียงเป็นเม็ดเดี่ยวใช้สำหรับสร้อยคอที่มีขนาดใหญ่ ส่วนลูกปัดขนาดเล็กสามารถนำมาถักหรือม้วนเข้าด้วยกัน หรือเป็นสร้อยคอลูกปัดหลายเส้นก็ได้รับความนิยมเช่นกัน ลูกปัดอาจเป็นพลาสติกใสหรือแก้วที่มีทุกสี
 

Ava Garden wearing multiple strands of pearls (Photo: https://vintagedancer.com)

กำไลและสร้อยข้อมือ (Bracelets and Bangles) ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในช่วงปลายทศวรรษที่ 1930 ถึงทศวรรษที่ 1940 กลายเป็นแฟชั่นข้อมือที่สาวๆ ชื่นชอบ ส่วนมากจะทำจากไม้หรือพลาสติกหนามีหลากหลายสี ส่วนสร้อยข้อมือชาร์ม (Charm) เป็นโซ่ มีสีทองหรือสีเงินห้อยด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ เปรียบเสมือนเครื่องรางนำโชค ซึ่งเป็นอะไรก็ได้ตั้งแต่ดอกไม้ สัตว์ เกือกม้า ดอกโคลเวอร์ ระฆัง หัวใจ แม้แต่ของใช้ในบ้านก็ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องราง เป็นการแสดงออกถึงความเป็นตัวตนและความชอบของผู้สวมใส่ได้เป็นอย่างดี
 

Charm bracelet, 1940s (Photo: https://vintagedancer.com)
 
ต่างหู (Earring) ในปี 1940 ต่างหู สร้อยคอ หรือเข็มกลัด มักเป็นเซตที่เข้ากัน ต่างหูส่วนใหญ่เป็นแบบหนีบออกแบบเป็นทรงกลมขนาดใหญ่หรือ “กระดุม” สาวๆ มักทำผมเกล้ามวย ดัดลอน จัดแต่งทรงผมเพื่อเผยให้เห็นใบหู มักดีไซน์เป็นการผูกโบว์  ริบบิ้น ดอกไม้ ทำจากอัญมณีสีขาว เช่น ไข่มุก หรือใช้มุกเทียมบนตัวเรือนริบบิ้นสีทองใช้ใส่ได้ทุกโอกาสสำหรับงานกลางวันและกลางคืน ซึ่งการเลือกเครื่องประดับชิ้นใหญ่ควรเลือกใส่ได้เพียง 1-2 ชิ้นเท่านั้น โดยจับคู่กันระหว่างต่างหูกับเข็มกลัด สร้อยคอกับเข็มกลัดติดหมวก หรือสร้อยข้อมือกับ Dress Clip เป็นต้น ไม่เช่นนั้นจะดูเยอะเกินไป
 
Coro brooch and earring set, 1946s (Photo: https://vintagedancer.com)
 
แหวนและแหวนแต่งงาน (Rings and Wedding Rings) แหวนแต่งงานในช่วงสงครามนั้นเรียบง่ายอาจเป็นแหวนปลอกมีด (แหวนเกลี้ยง) หรือแกะสลักเป็นรูปต่างๆ เช่น ดอกไม้ หัวใจ หรือตัวอักษรต่างๆ หรือเป็นแหวนประดับอัญมณีสีขาวเม็ดเล็กๆ อยู่ด้านบนในแถวเดียวหรือสองแถว หรือมีเพชรกลมหรือพลอยสีขาวเม็ดเดี่ยวตรงกลาง ถ้ามีพลอยขนาดเล็กเพิ่มเติมที่ด้านใดด้านหนึ่งทำให้ราคาของแหวนเพิ่มขึ้น
 
 
Modest wedding ring sets, 1940s (Photo: https://vintagedancer.com)
 

ธีมเครื่องประดับในยุค 1940s

ธีมรักชาติ (Patriotic) เครื่องประดับในยุคนี้สื่อถึงความหมายผ่านรูปลักษณ์ต่างๆ ที่แสดงถึงสงคราม ชัยชนะ ความรัก ความโรแมนติกและความรักชาติ ไม่ว่าจะเป็น ดอกกุหลาบ เครื่องบิน ใบพัด ปีกนกอินทรี ธง แตร กลอง หรือเข็มกลัดที่สลักคำขวัญ เช่น "Remember Pearl Harbor" และ "Long May it Wave" ใช้โทนสีแดง สีขาว และสีน้ำเงินเป็นหลัก หรือเครื่องหมายตราสร้างความกล้า ณ ดินแดนที่ได้รับชัยชนะ เป็นต้น ซึ่งหลอมรวมกลายเป็นความภาคภูมิใจของชาวอเมริกันและกลายเป็นวัฒนธรรมของชาวอเมริกันในวันนี้ หญิงสาวมักจะสวมเข็มเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของคู่รักซึ่งเป็นทหารที่ประจำการอยู่ต่างประเทศมอบให้เป็นของขวัญ เข็มกลัดตัวอักษร V ที่มาจากคำว่า "Victory" แสดงถึงชัยชนะ เป็นเข็มกลัดที่ได้รับความนิยมเป็นพิเศษ ซึ่งการรักษาขวัญกำลังใจเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในช่วงสงคราม

Cartier “V” brooches,1945s (Photo: https://vintagedancer.com)
 

ธีมแปลกใหม่ (Novelty Shapes) รูปแบบ Novelty เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นและเป็นที่นิยมในยุคนี้ เป็นรูปแบบที่ดูสนุกสนาน ร่าเริง เต็มไปด้วยสีสัน เป็นงานผลิตแบบอุตสาหกรรมที่ราคาไม่แพงมาก เหมาะแก่การให้เป็นของขวัญให้กับผู้อื่นได้ โดยลักษณะการออกแบบมาจากเรื่องราวต่างๆ และนำมาผลิตโดยการพิมพ์รูปแบบจากแม่พิมพ์  ทำให้การสร้างเรื่องราวเป็นไปได้โดยง่าย และผลิตได้เป็นจำนวนมากๆ สามารถลดราคาได้อย่างรวดเร็ว การออกแบบเครื่องประดับแนวนี้จะทำให้เป็นหมุดหรือเข็มกลัดที่เป็นรูปร่างแปลกใหม่ เช่น ม้า มือ หมวก ดินสอ และริมฝีปาก ล้วนแต่เป็นลวดลายที่ได้รับความนิยม นอกจากนี้ยังมีการออกแบบเครื่องประดับให้สามารถถอดแยกชิ้นส่วนและประกอบเข้าไปใหม่ได้

“Loose Lips Sink Ships” bakelite pin 
(Photo: WWII Bakelite jewelry : love & victory (ISBN 978-0764338717) by Bambi Deville Engeran)

WWII Bakelite jewelry : Love & Victory
Author: Bambi Deville Engeran
LC Call No. : NK 4890.P55 E31 2011
Collection: Jewelry Design
Read More: https://opac.git.or.th/BibDetail.aspx?bibno=4511
 

เจลลี่ เบลลี่ (Jelly Belly) เข็มกลัดหงส์ประดับมุกสไตล์บาร็อคดีไซน์โดย Fulco di Verdura จากปี 1940 เป็นต้นแบบของเข็มกลัดสไตล์ Jelly Belly ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
 
Swan pin, 1940s by Fulco di Verdura (Photo: https://www.granger.com)
 
ทำให้ อัลเฟรด ฟิลิปป์ (Alfred Philippe) ดีไซน์เนอร์ของบริษัทเครื่องประดับเทียมชื่อดังอย่าง  “Trifari” ใช้เป็นแรงบันดาลใจในออกแบบและผลิตเครื่องประดับเทียมขึ้นในสไตล์ Jelly Belly ออกมาจำหน่ายเป็นจำนวนมาก โดยออกแบบให้เป็นรูปสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ช้าง ปลา หงส์ นก สุนัขพุดเดิ้ล เพนกวิน กบ และกิ้งก่า และมักจะมี “Belly” ตรงส่วนท้องหรือลำตัวทำจากพลาสติกใสติดบนตัวเรือนเงินสเตอร์ลิง​ชุบเงินหรือทอง
 
Trifari owl brooch jelly belly, 1940s by Zallenajewelry (Photo: https://www.etsy.com)
 
ดูเอท พินท์ (Duette Pin) แบรนด์ Coro ผู้ออกแบบและผลิตเข็มกลัด Duette อันโด่งดัง เป็นเข็มกลัดที่มีขนาดใหญ่สามารถถอดแยกออกได้เป็นสองชิ้น ออกแบบให้เป็น นกสองตัว คนสองคน หรือดอกไม้สองดอก ได้รับแรงบันดาลใจจาก Dress Clip ของแบรนด์ Cartier​ โดยเข็มกลัด Duette สามารถถอดใช้งานแยกกันได้​ เพื่อการใช้งานที่หลากหลาย​นำไปจับคู่ให้เข้าชุด เช่น นำไปติดบนชุดเดรสกับหมวก หรือหมวกกับเสื้อคลุมเป็นต้น ปัจจุบันเข็มกลัด​ Duette เป็นของสะสมราคาสูงโดยเข็มกลัดบางชิ้นขายในราคาที่แพงจนน่าเหลือเชื่อ
 
Coro birds duette brooch, 1940s by YosFinds (Photo: https://www.etsy.com)
 
ธีมธรรมชาติ (Nature) การออกแบบเครื่องประดับด้วยรูปทรงธรรมชาติยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ 1940 ไม่ว่าจะเป็น ขนนก ใบไม้ ดอกไม้ ผักผลไม้ และแมลงต่างก็ถูกนำมาใช้ในการออกแบบเครื่องประดับเทียมหรือเครื่องประดับแฟชั่น การออกแบบเหล่านี้มักใช้ Rhinestone มาประดับตกแต่ง เนื่องจากเป็นวัสดุที่หาได้ง่าย มีราคาถูก และสามารถผลิตได้มากๆ ในต้นทุนที่ต่ำ
 
Dress Clip by Miriam Haskell Jewelry
 (Photo: Miriam Haskell Jewelry, Revised 2nd Edition by Cathy Gordon, Sheila Pamfiloff)

Miriam Haskell Jewelry
Author: Cathy Gordon and Sheila Pamfiloff
LC Call No. : NK 7398.H38 G67 2009
Collection: Jewelry Design
Read More: https://opac.git.or.th/BibDetail.aspx?bibno=4951
 

โจนาส ไอเซนเบิร์ก (Jonas Eisenberg) ดีไซน์เนอร์ชาวออสเตรียจากแบรนด์ Eisenberg เริ่มต้นจากการเป็นนักออกแบบเสื้อผ้า แต่หันมาเอาดีด้านการออกแบบเครื่องประดับเทียมด้วย Rhinestone และประสบความสำเร็จอย่างสูง เครื่องประดับที่เขาออกแบบเป็นนิยมเป็นอย่างมาก สวมใส่โดยดาราฮอลลีวู้ดที่มีชื่อเสียงหลายคน เครื่องประดับรูปแบบที่มีชื่อเสียงที่สุดของบริษัท  Eisenberg คือ รูปแบบคลาสสิค  ซึ่งได้เรียกรูปแบบการออกแบบเครื่องประดับประเภทนี้อีกอย่างว่า Eisenberg Ice เป็นการออกแบบที่มีสีขาวใสเป็นหลัก  และเข็มกลัดโบว์ประดับด้วยอัญมณีเม็ดใหญ่เป็นสินค้าขายดีที่สุดของแบรนด์นี้ นอกจากนี้เครื่องประดับของ Eisenberg ยังความสวยงาม ปราณีตทัดเทียมกับเครื่องประดับแท้เป็นอย่างมาก 

 

Floral Brooch and Daisy Fur Clip By Eisenberg
(Photo: Eisenberg Originals: The Golden Years of Fashion, Jewelry, and Fragrance, 1920s-1950s (ISBN 978-0764352348) by Sharon Schwartz)
 
มิเรียม ฮัสเกล (Miriam Haskell) หนึ่งในนักออกแบบเครื่องประดับชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดของช่วงยุคนี้คือ Miriam Haskell ได้เคยทำงานร่วมกับนักออกแบบ Frank Hess จนถึงปี 1960 ที่ผลิตและออกแบบเครื่องประดับโดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานด้านพฤกษศาสตร์ที่สวยงาม และมีฐานลูกค้าเป็นคนดังและมีชื่อเสียงมากมาย อันได้แก่ Joan Crawford, Lucille Ball และ Duchess of Windsor งานเครื่องประดับของ Miriam Haskell นั้นมีการใส่ลูกเล่นบนพื้นผิวของเครื่องประดับด้วยลวดลายต่างๆ มีการใช้สีสันด้วยการผสมสีที่แปลกตาและรูปทรงที่โดดเด่น ทั้งยังผสมผสานวัสดุต่างๆ ระหว่าง ไม้ ลูกปัด และเปลือกหอยให้เป็นงานศิลปะเครื่องประดับได้อย่างน่าทึ่ง ปัจจุบันเครื่องประดับของ Miriam Haskell เป็นของสะสมที่หายากตลอดกาลและเป็นที่ต้องการอย่างมาก ทำให้มีนักออดแบบรุ่นใหม่นำผลงานของเธอหลายต่อหลายชิ้นมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบเครื่องประดับในแนววินเทจโดยปรับเปลี่ยนและผสมผสานให้เข้ากับยุคสมัยได้อย่างลงตัว
 
Pink set comprises a tree-stand by Miriam Haskell
(Photo: Vintage Jewellery Sourcebook (ISBN 978-1780974286) By Caroline Cox)
 
นอกจากดอกไม้แล้ว ผลไม้ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่นิยมนำมาออกแบบเครื่องประดับเทียมในยุคนี้เช่นกัน เชอร์รี่เป็นผลไม้ที่นิยมนำมาออกแบบมากที่สุด ส่วนกล้วย สาลี่ องุ่น และส้มก็เป็นที่นิยมเรองลงมา ส่วนรูปทรงของผักที่นิยมนำมาใช้ออกแบบก็มี แครอท ข้าวโพดหวาน และพริก ซึ่งผลิตด้วยพลาสติก หรือแกะสลักจากไม้แล้วนำมาทาสี
 

Bakelite cherries necklace
(Photo: WWII Bakelite jewelry : love & victory (ISBN 978-0764338717) by  Bambi Deville Engeran)

และทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวหนึ่งของ “เครื่องประดับ” จากประวัติศาสตร์​ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2​ ที่ทำให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ผ่านตัวละครต่างๆ​ ในซีรีย์ “Ratched จิตอำมหิต” ถึงแม้ว่าจะอยู่ในช่วงสงครามแต่อุตสาหกรรมเครื่องประดับและแฟชั่นก็ยังคงดำเนินต่อไป​ เพียงแค่​เปลี่ยนรูปแบบ​การนำเสนอ วัสดุ​ที่ใช้ในการออกแบบ ทำให้เราได้เข้าใจวิวัฒนาการ​และแนวคิดของการออกแบบเครื่องประดับในยุคนั้นได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปแค่ไหน “เสน่ห์ของเครื่องประดับ” ยังคงมีมนต์ขลังอยู่เสมอ  และรอให้ผู้คนได้มาค้นหาและสัมผัสกลิ่นอายแห่งมนต์เสน่ห์​จากเครื่องประดับแห่งยุค 1940s นี้ด้วยกัน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวและประวัติศาสตร์ของเครื่องประดับจากยุคอื่นๆ​อีกมากมาย​จากทั่วทุกมุมโลกสามารถหาอ่านได้ที่ ห้องสมุดอัญมณีและเครื่องประดับ ตั้งอยู่ที่ ชั้น1 อาคารไอทีเอฟ ทาวเวอร์ ถนนสีลม หรือสืบค้นรายชื่อหนังสือ นิตยสาร บทความ ได้จาก http://eLibrary.git.or.th
 
 
 
 
 
 

We uses cookies to improve website performance. You can learn more about the use of cookies at Cookie Policy Setting Accept