GIT LIbrary Admin
09 Dec 2020 5990เครื่องทองสุโขทัย หรือ “ทองศรีสัชนาลัย” ถือเป็นมรดกเชิงงานช่างฝีมือที่ได้รับการถ่ายทอดและเรียนรู้กระบวนการพื้นฐานงานช่างจากรุ่นสู่รุ่น มีเทคนิคการผลิตและรูปแบบลวดลายการทำทองที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ด้วยงานสร้อยทองถักของศรีสัชนาลัยทำจากทองสวิส 99.99% จึงทำให้ทองมีสีสุกปลั่งงดงามอร่ามตา และมีความละเอียดอ่อนช้อย ประณีตงดงาม ถือเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นอีกอย่างของงานทองสุโขทัย และยังมีเทคนิคการผลิตจากแรงบันดาลใจและจินตนาการที่น่าค้นหาอีกด้วย
จุดเริ่มต้นของการผลิตงานทองสุโขทัยตามรูปพรรณเครื่องทองโบราณโดยช่างชาวศรีสัชนาลัย เริ่มจากชุมชนเล็กๆ ริมแม่น้ำยม อำเภอศรีสัชนาลัยขยายตัวขึ้นทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำ ผู้คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิต พึ่งพาการเกษตรเป็นหลัก ในขณะที่ย่านเศรษฐกิจก็เติบโตขึ้้นตามลำดับ โดยเฉพาะสองฟากแนวถนนฝั่งตะวันออก ของแม่น้ำยม โดยเฉพาะที่บ้านท่าชัยในปัจจุบัน กลายเป็นย่านร้านทองอันเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “ทองสุโขทัย”
นอกจากแรงบันดาลใจหลักที่ได้จากโบราณสถานและโบราณวัตถุผนวกเข้ากับจินตนาการแล้ว เครื่องทองสุโขทัยยังมีการสร้างสรรค์ลวดลายและมีเทคนิคการผลิตจากลายเสมือนจริง รูปแบบของงานมาจากลายเสมือนจริงจากธรรมชาติอย่างลายดอกบัว และลายประดิษฐ์ซึ่งเป็นลายที่สร้างจากความงดงามของจินตนาการอย่างลายดอกพิกุล ทุกลวดลายล้วนต้องอาศัยจินตนาการและทักษะเทคนิคเชิงช่างที่ช่างทองสร้างสรรค์ขึ้นจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ในปี 2534 งานทำทองได้เปลี่ยนจากอุตสาหกรรมในครัวเรือนไปสู่การผลิตในระบบโรงงานมากขึ้น มีการเพิ่มจำนวนช่างทองในชุมชนเข้ามาฝึกหัดทำทอง ไม่จำกัดเฉพาะในหมู่เครือญาติเท่านั้น มีการแยกตัวออกมาตั้งกิจการร้านทองของตัวเอง เรียงรายสองฟากฝั่งถนนบริเวณบ้านท่าชัย และในช่วงที่ตลาดขยายตัวแบบก้าวกระโดด ได้เริ่มมีการรับช่างต่างถิ่นชาวไทยภูเขาซึ่งมีความชำนาญด้านการสลักดุนเครื่องเงินอยู่แล้วมาทำงานเครื่องทอง ร่วมด้วย เป็นงานสลักดุนร่วมกับการเดินเส้นทองและฝังเม็ดไข่ปลาเป็นลวดลายทำให้งานทองมีมิติมากขึ้น
นอกจากนี้ ได้มีการนำเทคนิคอื่นๆ มาผสมผสานในการผลิตเครื่องทองสุโขทัย โดยมีการนำเทคนิคสานสร้อยแบบ “หิ้ว” และกรรมวิธีลงยา หรือ Enamel มาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับชิ้นงาน และทำให้ทองมีความเป็นเอกลักษณ์สวยงามแปลกตา อีกทั้งยังมีการนำเอาเทคนิคการฉลุชิ้นงานมาใช้เพื่อทำให้เครื่องทองดูโปร่งและมีมิติมากกว่าเครื่องทองรุ่นแรกๆ ที่หนาและเปลืองน้ำหนักทอง
ปัจจุบันเครื่องทองสุโขทัยมีการออกแบบให้มีความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น โดยดึงเอาแรงบันดาลใจจากธรรมชาติรอบตัว เช่น ดอกไม้ ใบไม้ หรือลวดลายในเชิงสัญลักษณ์มาใช้ในการออกแบบ ต่อยอดจากเครื่องทองโบราณที่ทำกันมาตั้งแต่ต้น รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและลวดลายเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด สร้างชิ้นงานที่ท้าทายความสามารถของช่าง เช่น งานศิลปะเพื่อตกแต่งและบูชา หรืองานพุทธศิลป์ต่างๆ เป็นต้น ถือเป็นการผนวกเทคนิคและกระบวนการทำเครื่องทองลักษณะต่างๆ เข้าไว้ในชิ้นงานเดียวกัน ทั้งเทคนิคการบุ การตีขึ้นรูป การสลักดุนลาย การประดับลวดเดินลาย การประดับไข่ปลา การฉลุลาย และการลงยาสี แต่ก็ยังคงยึดลวดลายและรูปทรงแบบโบราณอยู่ ทำให้ชิ้นงานมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นทั้งด้านเทคนิคลวดลายและรูปแบบ สามารถบ่งบอกถึงที่มาได้ว่าเป็น “เครื่องทองสุโขทัย” จากอำเภอศรีสัชนาลัย
หากสนใจศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องประดับทองสุโขทัย สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากงานวิจัยเรื่อง “โครงการศึกษาและรวบรวมองค์ความรู้ด้านเทคนิคการผลิตและลวดลายเครื่องประดับโบราณ จังหวัดสุโขทัย” ซึ่งมีให้บริการฉบับเต็มทั้งแบบรูปเล่มและออนไลน์ หรือหากสนใจเรื่องเครื่องเงิน เครื่องทอง หรือข้อมูลเกี่ยวกับโลหะมีค่าอื่นๆ สามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ที่ชั้นหนังสือ “Precious Metals Collection” ภายในห้องสมุดอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เลขที่ 140 ชั้น 1 อาคารไอทีเอฟ-ทาวเวอร์ ถนนนสีลม แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500 เปิดให้บริการทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-16.30 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 02-6344999 ต่อ 102-103 อีเมล์ library@git.or.th หรือสามารถอ่านหนังสือและวารสารด้านอัญมณีและเครื่องประดับออนไลน์ได้ฟรีผ่านทางเว็บไซต์ GIT eLibrary ผู้สนใจสมัครเข้าใช้งานฟรีได้ที่ https://elibrary.git.or.th/ หรือใช้งานผ่านแอปพลิเคชั่น "GIT eLibrary" ดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งระบบ iOS และ Android