อัตลักษณ์เครื่องประดับของไทย มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น ที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ลงบนเครื่องประดับแต่ละชิ้น เครื่องประดับอัตลักษณ์ไทยอันงดงามอย่าง เครื่องเงินเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ และเครื่องทองศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัยก็เช่นกัน ได้ถูกรังสรรค์ขึ้นโดยช่างฝีมือผู้ชำนาญงาน ที่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวและวิถีชีวิตในท้องถิ่นผ่านลวดลายอันซับซ้อน บ่งบอกถึงความเป็นไทยได้เป็นอย่างดี แล้วอัตลักษณ์เครื่องประดับของไทยนั้น สามารถแข่งขันในตลาดอัญมณีและเครื่องประดับโลกได้อย่างไร?
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ได้ทำการศึกษาเครื่องประดับอัตลักษณ์ไทยจากวิสาหกิจชุมชนจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดสุโขทัย เพื่อหาแนวทางในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันและขยายช่องทางการตลาดด้วยการออกแบบเครื่องประดับร่วมสมัยเชิงวัฒนธรรมของธุรกิจวิสาหกิจชุมชน ซึ่งก่อให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การผลิตที่ใช้ความปราณีตสูง งดงาม และการทำตลาดสู่กลุ่มเป้าหมายทั้งในประเทศและในระดับสากล
แนวทางในการพัฒนางานออกแบบอัตลักษณ์ของเครื่องประดับท้องถิ่นหรือไทย ทั้งจังหวัดสุรินทร์และสุโขทัยสำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนนั้นก็คือ “การทำให้เกิดลูกผสม” เป็นการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมกับอิทธิพลวัฒนธรรมสมัยใหม่ และการคาดการณ์กระแสนิยมเครื่องประดับโลกสำหรับปี 2020 จากหนังสือ Jewellery Trendbook 2020+ การผสมผสานทางวัฒนธรรมส่งผลให้เกิดอัตลักษณ์ใหม่ของเครื่องประดับวิสาหกิจชุมชนสุรินทร์และสุโขทัย เกิดเป็นนวัตกรรมทางวัฒนธรรมโดยการใช้อัตลักษณ์อันโดดเด่นในจังหวัดมาปรับใช้ในการออกแบบเครื่องประดับให้มีความสวยงามและร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น
การศึกษาและวิจัยของสถาบันในครั้งนี้ จะเป็นแนวทางในการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตในชุมชนท้องถิ่นในหลากหลายด้าน ส่งเสริมให้คนในชุมชนใช้ฐานความรู้ ความชำนาญ และความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบเครื่องประดับ ก่อให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน ทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยการเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายอย่างครบวงจร สามารถออกแบบและพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์เชิงวัฒนธรรมที่เด่นชัด เพื่อสร้างตราสินค้าใหม่ของตนเองจากภูมิปัญญาท้องถิ่น และสามารถทำการตลาดไปสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั้งในและต่างประเทศ นำไปสู่การพัฒนาและส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยได้เติบโตอย่างเข้มแข็งตั้งแต่ระดับฐานราก


นอกจากนี้ ชุมชนยังสามารถต่อยอดองค์ความรู้เพื่อการสร้างนวัตกรรมทางวัฒนธรรมจากงานวิจัย ทำให้เครื่องประดับมีความสวยงาม เป็นเอกลักษณ์ ทรงคุณค่า น่าจดจำ และมีความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น จนสามารถยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าไทยสู่สากล และด้วยความเป็นอัตลักษณ์ เชิงช่างที่ชัดเจนของชุมชนที่มีความแตกต่างอันยากจะเลียนแบบได้นี้เอง ทำให้สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน




โครงการวิจัยเรื่อง “ปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่ออัตลักษณ์เครื่องประดับไทยร่วมสมัย: การพัฒนาอัตลักษณ์เครื่องประดับไทยเพื่อพัฒนาธุรกิจด้านเครื่องประดับเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่น” มีเรื่องราวความโดดเด่นของอัตลักษณ์เครื่องประดับไทย การออกแบบที่ผสมผสานทางวัฒนธรรมทำให้เกิดเป็นนวัตกรรมทางวัฒนธรรมร่วมสมัย และสามารถแข่งขันทางตลาดโลกได้อย่างยั้งยืน โดยผู้สนใจสามารถอ่านในแบบรูปเล่มฉบับเต็ม หรือเข้ามาศึกษาหาความรู้ด้านอัญมณีและเครื่องประดับได้ที่ ห้องสมุดอัญมณีและเครื่องประดับ ณ ชั้น 1 อาคารไอทีเอฟ-ทาวเวอร์ ถนนนสีลม หรืออ่านในรูปแบบออนไลน์ที่
https://elibrary.git.or.th/book-detail/2508 หรือ แอปพลิเคชั่น "GIT eLibrary"

ทั้งนี้สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ยังได้เผยแพร่ความรู้ด้านเกี่ยวกับอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่ว่าจะเป็นด้านธรณีวิทยา อัญมณีศาสตร์ โลหะวิทยา การผลิตและการออกแบบเครื่องประดับ การตลาด รายงานการวิจัย ทั้งจากในและต่างประเทศ ให้ทุกคนเข้าถึงความรู้ได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านทาง https://elibrary.git.or.th/ ทั้ง eBook, eMagazine, eArticle และสื่อออนไลน์อื่นๆ หรือดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น "GIT eLibrary" ที่จะย่อโลกอัญมณีและเครื่องประดับไว้ในมือของคุณ ทั้งระบบ iOS และ Android
