โครงการการศึกษาระบบการสำแดงและติดตามแหล่งที่มาของพลอยสี
“บล็อกเชน” (Blockchain) เป็นนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อความปลอดภัยสำหรับข้อมูลที่เปิดเผยได้ เป็นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับ Bitcoin Cryptocurrency ใช้เป็นเครื่องมือบันทึกธุรกรรมทางการเงินของเงินดิจิทัล และจากความสำเร็จของเทคโนโลยีบล็อกเชนกับเงินสกุลบิทคอยน์นี้เอง ส่งผลให้เทคโนโนโลยีบล็อกเชนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและได้ถูกนำไปใช้ในหลายๆ อุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการเงินและธนาคาร แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีบล็อกเชนยังสามารถนำมาสร้างประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมอื่นได้อีกมากมาย แม้กระทั่งในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับก็ได้เริ่มมีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้กันอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น
เทคโนโลยีบล็อกเชนในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ได้แก่ ระบบ Trustchain ของ Richline ระบบ Tracr ของ De Beers ระบบ Provenance Proof ของ Gübelin และระบบ RSI ของ Swarovski ยกตัวอย่างเทคโนโลยีบล็อกเชนของ บริษัท เดอเบียร์ส (De Beers) ได้ประกาศที่จะใช้เทคโนโลยีนี้เมื่อพฤษภาคม ปี 2018 ที่ผ่านมา โดยได้พัฒนาร่วมกับ Boston Consulting Group เพื่อทดลองใช้งานด้วยการติดตามและบันทึกข้อมูลของเพชรเจียระไนขนาดใหญ่ เริ่มจากเพชรก้อนจากเหมืองสู่ขั้นตอนการตัด การเจียระไน การเข้าตัวเรือน จนถึงมือผู้บริโภค กล่าวคือจะมีการบันทึกข้อมูลและที่มาของเพชรเม็ดนั้นๆ ในทุกขั้นตอนจนถึงมือผู้บริโภค โดยมุ่งเน้นเรื่องความถูกต้องของแหล่งที่มาของเพชรและความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะกระบวนการใช้แรงงานในการทำเหมือง มีการบันทึกลงเวลาการเกิดกิจกรรมการเพิ่มมูลค่าหรือธุรกรรมที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เรียกได้ว่า เทคโนโลยีบล็อกเชน จะเข้ามาช่วยลดช่องโหว่ในการปลอมแปลงข้อมูล และช่วยบันทึกข้อมูลการทำธุรกรรมและกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับอัญมณีแต่ละชิ้นตลอดห่วงโซ่อุปทานได้ง่ายและน่าเชื่อถือมากขึ้นจนช่วยเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าได้
ด้วยความสำคัญของเทคโนโลยีบล็อกเชนที่มีต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับนี้ ทางสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมกับบริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด จัดทำโครงการวิจัยเรื่อง “การศึกษาระบบการสำแดงและติดตามแหล่งที่มาของพลอยสี” โดยได้ทำการศึกษาระบบการสำแดงและติดตามแหล่งที่มาของพลอยสี ที่อาศัยการศึกษาแนวทางและขั้นตอนการติดตามแหล่งที่มาของพลอยสีในต่างประเทศ รวมทั้งระบบติดตามแหล่งที่มาของอัญมณีบนระบบบล็อกเชนและระบบที่มิใช่ดิจิทัล รวมถึงการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders Analysis) เพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการพัฒนาหรือประยุกต์ใช้งานระบบติดตามแหล่งที่มาของพลอยสีในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย
โครงการวิจัยเรื่อง “การศึกษาระบบการสำแดงและติดตามแหล่งที่มาของพลอยสี” ได้นำเสนอแนวทางในการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล รวบรวมข้อมูล ระบบการตรวจรับรองแหล่งที่มา ที่ใช้อยู่ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ พร้อมทั้งประเมินข้อดีและข้อเสียของระบบต่างๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้และความเหมาะสมของระบบในการที่จะนำมาใช้กับประเทศไทย โดยคำ นึงถึงเหตุปัจจัยและผลกระทบในด้านต่างๆ ซึ่งเนื้อหาภายเล่มได้มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
- ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศไทย
- แนวทาง ขั้นตอนและวิธีการของระบบสำแดงแหล่งที่มาที่มีอยู่ในปัจจุบัน
- กรณีศึกษาระบบการสำแดงแหล่งที่มาของวัตถุดิบและพลอยสีของบริษัทต่างๆ
- แนวทางในการการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในกระบวนการสำแดงที่มาของพลอยสีของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย
- มูลค่าทางเศรษฐกิจ มูลค่าการส่งออกสินค้า พฤติกรรมตลาดและแนวโน้ม
- จุดอ่อน จุดแข็งของแนวทางการบริหารจัดการการออกใบรับรอง
- ข้อจำกัดของบุคลากร
- ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบการจัดเก็บฐานข้อมูล
- ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ
- ปัญหาและอุปสรรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
สำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับที่ต้องการศึกษาและทำความเข้าใจในกระบวนการทำงานของเทคโนโลยีบล็อกเชนให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและเป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมบนแพลตฟอร์มระบบการสำแดงและติดตามแหล่งที่มาของพลอยสีต่อไปในอนาคต
เรื่อง: โครงการการศึกษาระบบการสำแดงและติดตามแหล่งที่มาของพลอยสี
ผู้แต่ง: บริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย)
สำนักพิมพ์: สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
Collection: Research & Thesis
Read More: https://elibrary.git.or.th/book-detail/2501

Emerald Modern Gemmology
“มรกต” อัญมณีแห่งความอุดมสมบูรณ์
“มรกต” (Emerald)” หนึ่งในเก้าอัญมณีมงคลสีเขียวจากตำรา “นพรัตน์” หรือ “นพเก้า” ที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมความเชื่อของไทยมาอย่างยาวนาน สำหรับคนไทยมรกตจัดเป็นอัญมณีระดับสูงที่เป็นที่นิยมและรู้จักกันอย่างแพร่หลาย ทั้งยังเป็นอัญมณีที่ใครหลายๆ คนปรารถนาไม่แพ้อัญมณีอย่างทับทิมและไพลิน มีหลักฐานประวัติความเป็นมาและความเชื่อเกี่ยวกับมรกตมาอย่างยาวนานนับพันปี ตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณว่า “สีเขียว” ของมรกตนั้นเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ร่ำรวย ร่มเย็น และมีความหมายถึงดาวพุธ จึงเป็นอัญมณีมงคลสำหรับผู้ที่เกิดในวันพุธ ซึ่งจะทำให้ผู้สวมใส่อยู่ยงคงกระพัน สามารถป้องกันอาวุธต่างๆ และอุบัติเหตุ นอกจากนี้ มรกต ยังเป็นอัญมณีประจำเดือนของผู้ที่เกิดเดือนพฤษภาคม สีเขียวสดใสของมรกตยังเป็นตัวแทนแห่งฤดูใบไม้ผลิและการเกิดใหม่ และยังเชื่อกันว่าเป็นอัญมณีแห่งความฉลาด ความรุ่งเรือง และความอดทน ซึ่งคำว่า EMERALD ในภาษาอังกฤษ นั้น มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกว่า “SMARAGDOS” หมายถึง สีเขียว (ภาษาลาติน SMARAGDU) จนกลายเป็นภาษา อังกฤษสมัยกลางเรียกว่า “ESMERALDE”
“เขียวใสแสงมรกต”
“มรกต” (Emerald)” หนึ่งในอัญมณีที่มีค่าที่สุดของโลก เป็นแร่ในตระกูลเบริล (Beryl) ที่มีสีเขียวถึงสีเขียวเข้มแกมน้ำเงิน และเป็นอัญมณีที่มีมลทินภายในค่อนข้างมากและสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า เป็นที่รู้กันดีในบรรดานักสะสมว่าเป็น “สีเขียว” ในมรกตเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการกำหนดมูลค่าและคุณภาพของมรกตธรรมชาติ สีเขียวของมรกตนั้นมีหลากหลายเฉดสี ตั้งแต่สีเขียวอ่อนถึงเขียวเข้ม สีเขียวแกมเหลือง และสีเขียวแกมน้ำเงิน แต่สีที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดคือ “สีเขียวสด” หรือ “สีเขียวแกมน้ำเงิน” ที่มีความสดชัดทั่วทั้งเม็ดไม่อ่อนหรือเข้มจนเกินไป โดยสีเขียวที่สวยสดใสของมรกตนั้นเกิดจากธาตุร่องรอยโครเมียม (Cr) หรือธาตุวาเนเดียม (V) ที่เจือปนอยู่ในโครงสร้างผลึก ยิ่งมีปริมาณของธาตุโครเมียมและหรือวาเนเดียมมากเท่าใด ความเข้มสดของสีเขียวมรกตก็จะยิ่งสดสวยงาม มีคุณค่า และราคาที่สูงมากขึ้นเท่านั้น
การเดินทางอันน่าหลงใหลสู่ใจกลาง “มรกต”
หนังสือ Emerald Modern Gemmology เล่มนี้จะพาทุกท่านไปค้นพบกับมหัศจรรย์ความงามของ “มรกต” ที่ธรรมชาติได้สร้างสรรค์ผ่านกล้องจุลทรรศน์ เป็นการสำรวจมลทินภายในผลึกของ “มรกต” จากแหล่งสำคัญต่างๆ ซึ่งมีมากกว่า 10 แห่งจากทั่วโลกที่สามารถบอกเล่าถึงกระบวนการเกิดมรกตในแต่ละแหล่งได้เป็นอย่างดี และทำให้ผู้อ่านได้เห็นถึงความงดงามในอีกรูปแบบหนึ่งที่แปลกตาไปกว่าจากที่เคยเห็นเมื่อมองด้วยกล้องจุลทรรศน์ หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือเล่มแรกที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือมลทินภายในของอัญมณี แต่สิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้แตกต่างจากหนังสืออื่นๆ ก็คือ การนำเสนอข้อมูลและหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับคุณสมบัติสำคัญของมรกตแบ่งตามแหล่งกำเนิดของแต่ละประเทศอย่างเจาะลึก เป็นการรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปใช้อ้างอิงเรื่องลักษณะภายในของมรกตที่มีความแตกต่างกันตามแหล่งต้นกำเนิดทางภูมิศาสตร์ได้
ภาพถ่ายที่ใช้แทนคำพูดนับพันคำ
คุณสมบัติของอัญมณีในหนังสืออัญมณีวิทยาทั่วไปอาจจะอธิบายได้ไม่ชัดเจนเท่ากับการศึกษาจากภาพถ่ายภายในมรกตในระดับไมโครจากหนังสือเล่มนี้ที่จะทำให้เห็นภาพมลทินของมรกตในแต่ละแหล่งกำเนิดได้อย่างชัดเจน พร้อมคำอธิบายใต้ภาพด้วยคำศัพท์ทางวิทยาศาสตร์และมีการอธิบายเพิ่มเติมห้เข้าใจได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
เผยทุกเรื่องราวของ “มรกต” ที่คุณอยากรู้
ผู้เขียนได้ออกเดินทางเพื่อทำการศึกษาและรวบรวมหลักฐานภาพผลึกของมรกตเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความรู้ความเข้าใจถึงสภาพแวดล้อมทางธรณีวิทยา แหล่งกำเนิด ลักษณะของโครงสร้างผลึกของมรกตจากแหล่งในแต่ละประเทศต้นกำเนิดแบบเจาะลึก นับได้ว่าเป็นหนังสือที่สามารถนำไปใช้เป็นคู่มือในการอ้างอิงหลักฐานทางธรณีวิทยาของมรกตได้เป็นอย่างดี ซึ่งเนื้อหาภายเล่มมีหัวข้อที่น่าสนใจดังนี้
- ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับมรกต
- ประวัติ ความเป็นมา ความเชื่อ
- การจำแนกคุณสมบัติภายใน
- การกำเนิดและแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ของแต่ละประเทศ
- คุณสมบัติทางอัญมณีวิทยา
- ภาพถ่ายมลทินมรกตในระดับไมโคร
สำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอัญมณีและผู้สนใจทั่วไปที่กำลังมองหาหนังสือที่สามารถใช้อ้างอิงในเรื่องราวของ “มรกต” ได้ และทำให้คุณได้มีความรู้ความเข้าใจธรรมชาติด้านต่างๆ ของมรกตได้ดียิ่งขึ้น ด้วยภาพประกอบที่มีให้มาอย่างจัดเต็ม เนื้อหาที่ครบครัน เข้าใจง่าย หนังสือเล่มนี้เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่ศึกษาเรื่องราวของมรกตแบบเชิงลึกไม่ควรพลาดที่จะต้องหามาไว้อ่าน
Title: Emerald Modern Gemmology
Author: Dietmar Schwarz and Martial Curti
Publisher: Bellerophon Gemlab
LC Call No.: TS 755.E5 S3 2020
Collection: Geology & Gemology
Read More: https://elibrary.git.or.th/book-detail/3384

สามารถสืบค้นหนังสือได้ที่ SEARCH ON OPAC ได้จาก https://elibrary.git.or.th/ หรือเข้ามาใช้บริการอ่านหนังสือได้ที่ห้องสมุดอัญมณีและเครื่องประดับ ตั้งอยู่ที่ชั้น 1 อาคารไอทีเอฟ ทาวเวอร์ ถนนสีลม เปิดให้บริการวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น. หยุดวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์