BOOK REVIEW: THAI GOLD ORNAMENTS 2 BOOK REVIEW: THAI GOLD ORNAMENTS 2
BOOK REVIEW: THAI GOLD ORNAMENTS 2

GIT LIbrary Admin

 25 Apr 2022   2038

เครื่องทองไทย 2

“เครื่องทองไทย” มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานนับตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็นงานหัตถศิลป์ชั้นสูงที่มีความงดงามและมีเสน่ห์ชวนหลงใหล ด้วยความปราณีตวิจิตบรรจงของลวดลายจากช่างฝีมือชั้นครูที่รังสรรค์ด้วยความประณีตและพิถีพิถันในทุกขั้นตอนของการผลิต รวมทั้งแสดงออกในคติความเชื่อและความเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย หรือสถานภาพของผู้สวมใส่ เช่น เป็นกษัตริย์ พระราชวงศ์ ขุนนางชั้นสูง หรือสามัญชน ทำให้ “เครื่องทองไทย” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของไทยที่งดงามไม่เป็นสองรองใครในโลก ซึ่งหากใครที่สนใจศึกษาในเรื่องราวของเครื่องทองโบราณของไทยและเครื่องทองไทยนั้น ห้องสมุดได้รวบรวมหนังสือที่น่าสนใจมาแนะนำให้ได้อ่านและศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงประวัติความเป็นมาและกระบวนการผลิตเครื่องประดับทองโบราณของไทยได้ดียิ่งขึ้น
 
หนังสือทั้ง 6 เล่มจากคอลเล็กชัน “เครื่องทองไทย 2” ที่ได้รวบรวมมานี้ นับได้ว่าเป็นหนังสืออันทรงคุณค่าที่ได้นำเสนอ “เครื่องทองไทย” ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์และเครื่องสูง เครื่องอิสริยยศ เครื่องประกอบพระราชพิธีต่างๆ เครื่องราชบรรณาการ เครื่องทองพุทธบูชา ช่างทองรัตนโกสินทร์ ศิลปะการทำทองรูปพรรณ เป็นต้น อันเป็นงานหัตถศิลป์หนึ่งในภูมิปัญญาไทยที่ได้สั่งสมมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เรียกได้ว่าเป็นชิ้นงานระดับมาสเตอร์พีชที่มีสวยงามประณีตวิจิตรบรรจงที่สร้างสรรค์จากฝีมือของช่างทองไทย โดดเด่นด้วยอัตลักษณ์เฉพาะตัว และสร้างความภาคภูมิใจให้แก่คนในชาติ
 

เครื่องอิสริยยศ พระบรมราชวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์ โดย หม่อมราชวงศ์ สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์
LC Call # CR 4195 .ค74 2539
สืบค้นเพิ่มเติม: https://opac.git.or.th/BibDetail.aspx?bibno=2394

หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงดำรงสิริราชสมบัติเป็นปีที่ ๕๐ ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของเครื่องอิสริยยศของพระบรมวงศานุวงศ์ที่ได้เก็บรักษาไว้ในศาลาเครื่องราชเครื่องอิสริยยศในพระบรมมหาราชวังมีคุณค่าและความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ราชประเพณี ความงดงามอลังการ ทั้งในความคิดสร้างสรรค์ของฝีมือช่างและความมั่งคั่งของวัสดุที่ใช้ ความงดงามของรูปทรงและลวดลายที่จำลักบนเครื่องราชอิสริยยศ
 

คู่มือพัฒนาผู้ประกอบธุรกิจด้านอัญมณีและเครื่องประดับไทยเชิงอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น : ทองคำ โดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
LC Call # NK 7178.7 ค74 2553
สืบค้นเพิ่มเติม: https://opac.git.or.th/BibDetail.aspx?bibno=2276

หนังสือเล่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของ "โครงการส่งเสริมพัฒนาเอกลักษณ์ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับไทยสู่สากล" ภายใต้แนวคิด "30 ที่สุดแห่งอัญมณีไทย สร้างสรรค์สู่สากล" ซึ่ง "ทองคำ" จัดเป็นหนึ่งในอัญมณีและเครื่องประดับที่ต้องอาศัยทักษะความชำนาญ ความประณีต และฝีมือการผลิตที่มีความละเอียดอ่อน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาไทยที่ได้มีการสั่งสมมาตั้งแต่บรรพบุรุษมาอย่างต่อเนื่อง รุ่นต่อรุ่น อันเป็นเอกลักษณ์เฉฑาะตัวที่โดดเด่นของไทย โดยเป็นการศึกษางานเครื่องประดับทองของ 3 จังหวัดเป้าหมายอันมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน คือ เครื่องทองโบราณของ จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดนครราชสีมา
 

เครื่องทองรัตนโกสินทร์ โดย บุญเตือน ศรีวรพจน์ และประภัสสร โพธิ์ศรีทอง
LC Call # NK 7178.7 .บ74 2542
สืบค้นเพิ่มเติม: https://opac.git.or.th/BibDetail.aspx?bibno=1332

เครื่องทองในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นงานหัตถศิลป์ที่ทรงคุณค่าทั้งในด้านรูปแบบ ลวดลาย ตลอดจนการประดับตกแต่งด้วยกรรมวิธีต่างๆ ผลงานสร้างสรรค์อันประณีตวิจิตรที่ปรากฎอยู่ในเครื่องทองเหล่านี้เป็นฝีมือของช่างทองในราชสำนัก หรือที่เรียกว่า "ช่างทองหลวง" ซึ่งบุคคลเหล่านี้เป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในการกำหนดรูปแบบของเครื่องทองที่แสดงถึงฐานันดรศักดิ์ของบุคคลระดับต่างๆ โดยในหนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับเครื่องทองในประวัติศาสตร์ไทย มรดกเครื่องทองอยุธยาจากกรุวัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ และเครื่องทองจากเจดีย์ศรีสุริโยทัย นอกจากนี้ยังพาไปชมเครื่องทองรัตนโกสินทร์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประกอบราชอิสริยยศสำหรับพระมหากษัตริย์ เครื่องอิสริยยศ เครื่องราชบรรณาการ เครื่องทองพุทธบูชา ช่างทองรัตนโกสินทร์ ศิลปะการทำทองรูปพรรณ เป็นต้น ซึ่งหนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ และยังได้รับรางวัลชมเชยกลุ่มหนังสือสวยงาม ประเภทหนังสือสวยงามทั่วไป จากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๔๓ อีกด้วย

เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์และเครื่องสูง โดย ยุพร แสงทักษิณ
LC Call # DS 568.4 .ย73 2539
สืบค้นเพิ่มเติม: https://opac.git.or.th/BibDetail.aspx?bibno=5999

หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับ "เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์และเครื่องสูง" อันเป็นสิ่งประกอบพระราชอิสริยยศที่ใช้ในพระราชพิธีสำคัญๆ โดยเฉพาะพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นราชาธิบดีนับตั้งแต่โบราณกาลจวบจนปัจจุบัน ผู้อ่านจะได้ทราบประวัติความเป็นมา ความสำคัญ และรูปลักษณ์ของบรรดาสิ่งอันเป็นมงคล รวมถึงได้ทราบประวัติความเป็นมาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกด้วย
 

ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินในพระราชพิธีโสกันต์ โดย กรมธนารักษ์
LC Call # DS 568 .ท46 2557
สืบค้นเพิ่มเติม: https://opac.git.or.th/BibDetail.aspx?bibno=6300

“พระราชพิธีโสกันต์” พระราชพิธีสำคัญสำหรับเจ้านายในราชสำนักไทย ในการก้าวข้ามผ่านชีวิตวัยเด็กเพื่อนำไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ด้วยความเป็นสิริมงคล ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาสืบทอดมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันแม้ไม่มีการประกอบพระราชพิธีโสกันต์แล้ว แต่สิ่งที่ยังคงอยู่ นอกเหนือจากเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับการพระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่ในแต่ยุคสมัยล้ว ยังคงปรากฏร่องรอยของเครื่องประกอบพระราชพิธี เครื่องแต่งพระองค์เจ้านาย และเครื่องประกอบอิสริยยศที่เกี่ยวเนื่องในการพระราชพิธี ซึ่งกรมธนารักษ์ดูแลเก็บรักษาไว้เป็น “ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน” สืบเนื่องมาถึงปัจจุบันเพื่อธำรงไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมให้ยาวนานสืบไป หนังสือเล่มนี้รวมภาพเหตุการณ์ และพระรูปพระบรมวงศานุวงศ์ ในการพระราชพิธีโสกันต์ที่หาดูได้ยาก รวมทั้งภาพทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ทั้งที่เป็นเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องแต่งพระองค์ และของใช้ในพระราชพิธีโสกันต์
 

เครื่องทองและเครื่องเงิน โดย เขมทัต วิศวโยธิน, เสนอ นิลเดช และจุลทรรศน์ พยาฆรานนท์
LC Call # NK 1055.ก4 ค74 2526
สืบค้นเพิ่มเติม: https://opac.git.or.th/BibDetail.aspx?bibno=2413

หนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอ "เครื่องทองและเครื่องเงิน" ที่จัดแสดงอยู่ ณ พระที่นั่งวิมานเมฆ พระราชวังดุสิต ที่ใช้เป็นเครื่องราชูปโภค ตลอดจนเครื่องยศของพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการระดับสูงเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีเครื่องเงินสลักลาย กะไหล่ทอง ที่มีความงดงามด้วยรูปทรงและลวดลายที่ได้รังสรรค์โดยช่างฝีมือของไทย ที่ถึงแม้ว่าฝีมือการสลักทองคำและเงินของไทยจะมีเอกลักษณ์สืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านานก็จริง แต่ฝีมือช่างจีนก็มีอิทธิพลอย่างสูงในการแกะสลักโลหะโดยเฉพาะเครื่องเงินที่แกะสลักอย่างประณีตเป็นฝีมือของช่างชาวจีนก็มีให้พบเห็นอยู่ทั่วไป เนื่องจากเป็นที่นิยมในความละเอียดงดงาม ซึ่งเครื่องเงินฝีมือช่างชาวจีนเหล่านี้นิยมเรียกกันว่า "เงินเซี่ยงไฮ้" ที่มีการตกแต่งด้วยกะไหล่ทองหรือใช้ทองคำเคลือบเพื่อให้เครื่องเงินเหล่านั้นแลดูงดงามสูงค่ายิ่งขึ้น
 
 
หากใครที่สนใจเรื่องราวของ "เครื่องทองไทย" สามารถสืบค้นหนังสือได้ที่ SEARCH ON OPAC ได้จาก https://elibrary.git.or.th/ หรือเข้ามาใช้บริการอ่านหนังสือได้ที่​ห้องสมุดอัญมณีและเครื่องประดับ​ ตั้งอยู่ที่​ชั้น​ 1​ อาคารไอทีเอฟ​ ทาวเวอร์​ ถนนสีลม​ เปิดให้บริการวันจันทร์-วันศุกร์​ เวลา​ 08.30-16.30 น.​ หยุดวันเสาร์-อาทิตย์​ ​และวันหยุดนักขัตฤกษ์​

We uses cookies to improve website performance. You can learn more about the use of cookies at Cookie Policy Setting Accept