GIT LIbrary Admin
14 Jun 2022 4647เรื่องราวของ “Gangubai Kathiwadi” โสเภณีผู้ทรงอิทธิผลในย่าน “กามธิปุระ” แห่งนครมุมไบ ประเทศอินเดีย จากเด็กสาว “คังคุไบ” ที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นดาราหนังชื่อดังในบอลลีวูดแต่ชีวิตพลิกผันถูกสามีหลอกมาขายตัว ภาพยนตร์ที่ได้รับการดัดแปลงมาจากนวนิยาย “Mafia Queen of Mumbai” ซึ่งเขียนโดย Hussain Zaidi (ฮุสเซน ไซดี) ที่อิงมาจากชีวประวัติจริงของหญิงสาวผู้เรียกร้องสิทธิ์ให้กับ “โสเภณี” นามว่า Ganga Harjeevandas Kathiawadi (คงคา ฮาร์จีวันดัส กฐิยาวาฑี) ผ่านมิติของตัวละครเอกอย่าง “Gangubai Kathiawadi” (คังคุไบ กฐิยาวาฑี) ที่รับบทโดย “Alia Bhatt” (อาเลีย บาตต์) นางเอกสาวชื่อดังวัย 29 ปี จากบอลลีวูด
นอกจากเสื้อผ้าหน้าผมและการเต้นรำ รวมไปถึงเรื่องราวสุดเข้มข้นในหนัง “Gangubai Kathiawadi หญิงแกร่งแห่งมุมไบ” ที่ได้รับความสนใจจนกลายเป็นกระแสไปทั่วโลกแล้วนั้น “เครื่องประดับอินเดีย” ที่แม้ว่าจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ปรากฎให้เห็นอยู่ในภาพยนตร์ แต่ก็ทำให้หลายๆ คนเกิดอยากรู้เรื่องราวของเครื่องประดับอินเดียไม่มากก็น้อย
ในภาพยนตร์เราจะได้เห็น อาเลีย บาตต์ สวมใส่เครื่องประดับเงินอินเดียโบราณเป็น “เครื่องประดับเงินออกซิไดซ์” (Oxidised Silver Jewelry) เป็นเครื่องประดับประเพณีนิยมอินเดียแบบดั้งเดิม สร้อยคอขนาดใหญ่กับต่างหูในสไตล์ ChandBali (จันดาบาลี) และ Jhumkas (จุมคา) ช่วยเสริมลุคให้ส่าหรีสีขาวของคังคุไบให้ดูโดดเด่นมากยิ่งขึ้น
“เครื่องประดับ” ในวัฒนธรรมอินเดียนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมากมาเป็นเวลาหลายพันปี มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ของชาติพันธุ์และจิตวิญญาณ เพิ่มสุนทรียภาพของแต่ละวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวา แสดงถึงความมั่งคั่ง อำนาจ และความเจริญรุ่งเรือง ทั้งยังขึ้นชื่อในเรื่องความประณีต มีสีสัน มีความสลับซับซ้อน มีรายละเอียดที่โดดเด่นและสะดุดตาเป็นอย่างมาก ทำจากวัสดุที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นทองคำ เงิน ทองแดง ประดับประดาด้วยอัญมณี มีรูปแบบและลวดลายที่สื่อถึงค่านิยมที่แสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ความเชื่อในสังคมที่ฝังรากลึกมาเป็นเวลานาน
ชาวอินเดียนั้นนิยมสวมใส่ “เครื่องประดับ” ในทุกโอกาสหลากหลายรูปแบบ ผู้หญิงชาวอินเดียใช้เพื่อประดับตกแต่งตั้งแต่คอ หู จมูก แขน ข้อเท้า นิ้ว เอว หรือแม้แต่เส้นผม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานแต่งงาน เครื่องประดับที่เจ้าสาวสวมใส่เป็นเครื่องบ่งบอกว่าเธอกำลังจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวของสามี นอกจากเครื่องประดับเจ้าสาวที่เจ้าสาวสวมใส่แล้ว ยังมีเครื่องประดับทางศาสนาอีกด้วยที่มักจะเชื่อมโยงกับเทพเจ้าและเทพธิดาในศาสนาฮินดูซึ่งการสวมเครื่องประดับยังหมายความว่าคุณกำลังขอความคุ้มครองจากเทพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้
วัสดุและอัญมณีที่ใช้ในเครื่องประดับอินเดีย
การผลิตเครื่องประดับในอินเดียใต้นั้นมีมานานหลายร้อยปี วัสดุที่ใช้ในการทำเครื่องประดับก็มีความหลากหลายและแตกต่างกันไป มีตั้งแต่ ทองคำและเงินตกแต่งตัวเรือนด้วยเพชรหรือพลอยสี หรือวัสดุอื่นๆ เช่น ครั่ง ไม้ พลาสติก ลูกปัดแก้ว กระจก แต่วัสดุและอัญมณีที่นิยมมากที่สุดในการนำมาใช้ทำเครื่องประดับอินเดีย มีดังนี้
ทองคำ
ทองคำเป็นโลหะที่นิยมใช้ทำเครื่องประดับมากที่สุดในวัฒนธรรมอินเดีย มีความทนทานและไม่หมองแม้จะใส่ทุกวัน สำหรับชาวอินเดียทองคำถือเป็นสิ่งล้ำค่าที่เชื่อกันว่ามีพลังในการชำระล้างทุกสิ่งที่ได้สัมผัส เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจและความมั่งคั่ง นอกจากนี้ยังเป็นสัญลักษณ์ของสุขภาพที่ดี ความเจริญรุ่งเรือง และมีความเชื่อว่าการสวมใส่เครื่องประดับทองมีผลต่อชีวิตหลังความตายทำให้ได้ขึ้นสวรรค์อีกด้วย
เงิน
เงินเป็นโลหะอีกชนิดหนึ่งที่ชาวอินเดียมักสวมใส่ เครื่องประดับทองคำนั้นจะสวมเหนือเอว ในขณะเดียวกันก็สวมใส่เครื่องประดับเงินตั้งแต่เอวลงมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กำไล แหวน และกำไลข้อเท้ามักจะทำด้วยเงิน นอกจากนี้เครื่องเงินในวัฒนธรรมอินเดียยังหมายถึงการปกป้องจากสิ่งชั่วร้าย เวทมนตร์ดำต่างๆ ชาวอินเดียเชื่อว่าโลหะเงินหมายถึง “ดวงจันทร์” สัญลักษณ์ของความเป็นผู้หญิงและการเป็นแม่ เชื่อกันว่าช่วยต่อสู้กับอารมณ์ด้านลบและทำให้ฝันร้ายกลายเป็นดี
ทองแดง
โลหะที่นิยมใช้กันทั่วไปอีกชนิดหนึ่งคือ “ทองแดง” ในวัฒนธรรมอินเดียเชื่อว่าทองแดงมักเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ เนื่องจากทองแดงเป็นโลหะที่นำไฟฟ้าได้ดี มีราคาถูก สามารถหลอมรวมเข้ากับโลหะผสมอื่นๆ ได้ดี จึงนิยมนำไปผลิตเครื่องประดับประดับเทียมหรือเครื่องประดับแฟชั่นที่มีราคาถูกกว่าเครื่องประดับเงินหรือทอง ชาวอินเดียมีความเชื่อกันว่าทองแดงแสดงถึงความรัก ความสงบสุข และความสัมพันธ์ที่ดียิ่งขึ้นกับคนที่คุณรัก นอกจากนี้ยังสามารถช่วยให้ผู้คนสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับผู้อื่นได้อีกด้วย
แพลทินัม
แพลทินัมเป็นโลหะที่มีราคาแพงที่สุดชนิดหนึ่งที่นิยมใช้ทำเครื่องประดับ ทำความสะอาดง่าย แค่ใช้สบู่อ่อนๆ และผ้านุ่มๆ เช็ดเบาๆ เพื่อคืนความสดใส แวววาว ได้อย่างง่ายดาย เป็นที่รู้จักกันว่าเป็นโลหะที่ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้
เพชร
เพชรเป็นอัญมณีที่นิยมใช้ทำเครื่องประดับ มักเกี่ยวข้องกับพิธีงานแต่งงานและการหมั่นหมายตามประเพณี ชาวอินเดียเชื่อว่าเพชรมีพลังเหนือธรรมชาติที่จะนำพวกเขาไปสู่ความสำเร็จ นำความสุขมาสู่ผู้สวมใส่ เนื่องจากเพชรหมายถึงความบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา และความรักนิรันดร์
พลอยสี
พลอยสีเป็นหัวใจสำคัญของเครื่องประดับอินเดีย เนื่องจากช่วยเพิ่มลวดลายที่ประณีตและสีสันที่สวยงามให้กับงานออกแบบเครื่องประดับ อัญมณียอดนิยม ได้แก่ เทอร์ควอยส์ ทับทิม ไพลิน บุษราคัม อาเกต หยก และอเมทิสต์ อัญมณีเหล่านี้ไม่เพียงแต่เพิ่มสีสันแต่ยังเพิ่มมูลค่าให้กับเครื่องประดับด้วย นอกจากนี้นักออกแบบเครื่องประดับยังเลือกใช้อัญมณีที่มีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถช่วยในการบำบัดรักษา เชื่อกันว่าจะนำสุขภาพที่ดี ความมั่งคั่ง ความเจริญรุ่งเรืองและความสุขมาสู่ผู้สวมใส่
ไข่มุก
ในการออกแบบเครื่องประดับของอินเดียไข่มุกมักจะถูกจับคู่กับอัญมณีและโลหะอื่นๆ เพื่อสร้างชิ้นงานเครื่องประดับที่วิจิตรบรรจง ความมันวาวของไข่มุกเมื่อนำมารวมกับประกายและสีสันของอัญมณีทำให้เครื่องประดับนั้นดูโดดเด่นและทันสมัยมากยิ่งขึ้น
รูปแบบของเครื่องประดับอินเดีย
เครื่องประดับอินเดียนั้นมีรูปแบบที่แสดงให้เห็นถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรม ต้นกำเนิดของความเชื่อ ลวดลาย วัสดุและกรรมวิธีการผลิต รวมทั้งประเพณีปฏิบัติ ความคิดความอ่าน คุณค่า ที่ยังมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตปัจจุบัน รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นของอินเดียในการสร้างสรรค์ผลงานเครื่องประดับ ที่สามารถแบ่งได้หลายรูปแบบ แต่โดยทั่วไปแล้วรูปแบบของเครื่องประดับอินเดียที่โดดเด่นและพบเห็นได้บ่อยในวัฒนธรรมอินเดียนั้นมีดังนี้
เครื่องประดับ Kundan (Kundan Jewelry)
Kundan (กุนดาน) ที่รู้จักกันในชื่อเครื่องประดับ Bikaneri (ไบคาเนอริ) หรือ Jaipuri (ไจปุริ) ถือเป็นเครื่องประดับที่เก่าแก่ที่สุดรูปแบบหนึ่งในอินเดียที่มีมายาวนานกว่า 2,500 ปี ทำจากทองคำบริสุทธิ์ ซึ่งคำว่า “Kundan” หมายถึงทองคำบริสุทธิ์ที่มีคุณภาพสูงโดยใช้ทองคำบริสุทธิ์ 24k ประดับด้วยอัญมณี เช่น พลอยสี ไข่มุก รวมถึงมีการลงยาสีบนพื้นผิวเครื่องประดับให้มีความสวยงาม เป็นงานฝีมือที่มีความวิจิตรบรรจงและสลับซับซ้อนเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีการผลิตตัวเรือนให้เชื่อมต่อกันเพื่อสร้างลวดลายที่สวยงามและจัดวางให้อัญมณีมีความโดดเด่น ส่วนด้านหลังของเครื่องประดับ Kundan มักจะเคลือบผิวด้วยการใช้เทคนิค Meenakari (มีนาคาริ) ซึ่งทำให้ชิ้นงานสามารถพลิกกลับได้และสามารถใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น โดยทั่วไปแล้วเครื่องประดับ Kundan เป็นเครื่องประดับประเพณีนิยมของอินเดีย หรือใช้ในพิธีการแต่งงานของชาวอินเดีย ซึ่งในปัจจุบันเครื่องประดับ Kundan ได้มีการพัฒนาการออกแบบให้มีรูปแบบและลวดลายที่มีความร่วมสมัย สวมใส่ได้หลากหลายโอกาส สามารถเข้ากับเทรนด์เสื้อผ้ายุคใหม่ ทำให้ดูเก๋ไก๋และทันสมัยมากยิ่งขึ้น
เครื่องประดับ Meenakari (Meenakari Jewelry)
Meenakari (มีนาการิ) มาจากคำว่า “Meena (มีนา)” แปลว่าความเป็นผู้หญิง และ “Minoo (มินู)” ในภาษาเปอร์เซีย ซึ่งหมายถึงสวรรค์ เป็นเครื่องประดับที่ใช้เทคนิค “การลงยาสี” เพื่อตกแต่งพื้นผิวของโลหะบนตัวเรือนให้มีความสวยงาม นิยมใช้ในเครื่องประดับอินเดียประเภทต่างๆ เช่น กำไล สร้อยคอ ต่างหู ฯลฯ ซึ่งเสน่ห์และความงดงามของเครื่องประดับประเภทนี้จะอยู่ที่สีสันที่มีความสดใสและพื้นผิวที่เรียบลื่น เป็นเครื่องประดับที่บ่งบอกถึงความสนุกสนาน มีความร่วมสมัยที่ผสมผสานกับเครื่องประดับในแบบดั้งเดิมของอินเดียได้อย่างลงตัว
เครื่องประดับ Polki (Polki Jewelry)
Polki (โพลกิ) หรือเครื่องประดับเพชรแบบดั้งเดิมของอินเดียที่มีการออกแบบที่โดดเด่นและสวยงามที่สุด ด้วยการนำเอาเพชรดิบหรือเพชรซีกที่ยังไม่ได้เจียระไนมาจับคู่กับตัวเรือนทองคำ ตกแต่งด้วยอัญมณีชนิดต่างๆ อย่าง ทับทิม ไพลิน และมรกต ทำให้เครื่องประดับ Polki นั้นมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างออกไป ส่วนใหญ่มักจะออกแบบให้มีส่วนผสมของเครื่องประดับในสไตล์ Meenakari และ Kundan เนื่องจากเครื่องประดับ Polki ทำมาจากเพชรแท้ จึงไม่ต้องบอกว่าเครื่องประดับ Polki แต่ละชิ้นนั้นมักจะมีราคาแพงลิบลิ่ว ทั้งยังบ่งบอกถึงสถานะของผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ที่สวมใส่ เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความมั่งคั่ง ร่ำรวย และกลายเป็นมรดกอันล้ำค่าที่สืบทอดไปยังลูกหลานรุ่นต่อรุ่น
เครื่องประดับ Lac (Lac Jewelry)
Lac (แลค) มาจากคำว่า Lacquer (แลคเกอร์) หรือที่เรียกว่า “ครั่ง” เป็นสารเหนียวที่ได้มาจากตัวแมลงตัวเมียที่มีชื่อว่า “Tachardia Lacca (ทาชาร์เดีย แลคคา)” พบได้ในป่าไม้ของอินเดียและประเทศไทย เนื่องจาก “ครั่ง” มีลักษณะที่นิ่มเหนียวสีเหลืองทอง ช่างทองจะใช้ครั่งในการบุงานเป็นแกนภายในเครื่องประดับ เพื่อช่วยในการยึดเกาะ ขึ้นรูป ตกแต่งชิ้นงาน และมีการใช้ครั่งมาตั้งแต่ยุคต้นของอินเดียโบราณ (หรือกว่า 3,000 ปีก่อนคริสตศักราช) เครื่องประดับ Lac เป็นเครื่องประดับเทียมประเภทหนึ่งที่มีสีสันสดใสและมีรายละเอียดที่สลับซับซ้อน ช่างทำเครื่องประดับจะนำ “ครั่ง” ไปทำให้ร้อนโดยการใช้ความร้อนจากแผ่นดีบุกที่เผาไฟไว้บนเตาขนาดเล็ก ทำการหลอมและรีดให้เป็นรูปทรงที่กำหนดไว้ เมื่อครั่งเย็นตัวลงช่างจะระบายสีด้วยการบิดเกลียวหลายๆ เส้นเข้าด้วยกัน สามารถผสมสีหรือสร้างลวดลายที่ฝังไว้แล้วประดับด้วยลูกปัดแก้วและกระจก นิยมใช้ทำเป็นสร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวน ต่างหู ฯลฯ แต่เครื่องประดับครั่งที่พบมากที่สุดคือกำไลซึ่งเป็นที่นิยมมากในรัฐราชสถาน เครื่องประดับครั่งเป็นที่นิยมโดยเฉพาะในหมู่สตรีที่แต่งงานแล้วเพราะเชื่อว่าเป็นมงคลต่อผู้สวมใส่ ปัจจุบันได้มีการนำขี้ผึ้งหรือพลาสติกมาทดแทนเนื่องจากมีราคาถูกกว่าครั่งที่มาจากแมลงมาก
เครื่องประดับ Pachchikam (Pachchikam Jewelry)
Pachchikam (พัชชิกา) เครื่องประดับอินเดียแบบดั้งเดิมที่มีอายุเก่าแก่นานหลายศตวรรษ มีต้นกำเนิดมาจากรัฐคุชราตและคุชช์ ประเทศอินเดีย ซึ่งครั้งหนึ่งตามประวัติศาสตร์พบว่าถูกสวมใส่โดยราชวงศ์และขุนนางยุโรปในศตวรรษที่ 16 เครื่องประดับ Pachchikam มีรูปแบบที่ล้าสมัยเป็นอย่างมาก จึงทำให้เริ่มมีการฟื้นฟูศิลปะการทำเครื่องประดับประเภทนี้โดยนักออกแบบรุ่นใหม่ๆ ให้มีรูปแบบที่มีความร่วมสมัยและทันต่อกระแสแฟชั่นมากยิ่งขึ้น และเข้ามาแทนที่เครื่องประดับทองคำแบบดั้งเดิม เนื่องจากเครื่องประดับ Pachchikam มักทำด้วยโลหะเงินและอัญมณีกึ่งมีค่าทำให้มีราคาที่ไม่แพงจนเกินไป จึงกลายเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วในกลุ่มสตรีวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็น กำไล ต่างหู สร้อยคอ ปลอกแขน รวมไปถึงเครื่องประดับศีรษะกลายเป็นไอเทมหลักที่สาวอินเดียรุ่นใหม่ทุกคนต้องมี
เครื่องประดับ Jali (Jali Jewelry)
Jali (จาลี) เป็นเทคนิคการทำเครื่องประดับที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดดเด่นด้วยการฉลุลายลงบนตัวเรือนโลหะ เช่น เงิน ทองคำ หรือวัสดุอื่นๆ เช่น ครั่ง ไม้ เพื่อให้เป็นลวดลายต่างๆ โดยลวดลายดังกล่าวนั้นจะมีลักษณะเป็นตาข่ายหรือลายเส้น ซึ่งคำว่า Jali หมายถึงประเภทของงานแกะสลักหินที่พบได้ทั่วไปในสถาปัตยกรรมอินเดีย เช่น ทัชมาฮาล และมัสยิดซีดี บาชีร์ ในนครอะห์มดาบาด รัชคุชราต ประเทศอินเดีย หรือแม้กระทั่งฉากกั้นห้องและกล่องเครื่องประดับที่ทำจากไม้ก็มีการฉลุลายลวดลายด้วยเช่นกัน ซึ่งในส่วนของเครื่องประดับ Jali นั้นจะโฟกัสไปที่วิธีการฉลุลายโลหะหรือการให้เป็นลวดลายขัดแตะที่สลับซับซ้อน วิจิตรบรรจง มากกว่าที่เน้นในส่วนของอัญมณีที่ประดับอยู่บนตัวเรือน เนื่องจากเครื่องประดับ Jali เป็นงานที่ต้องใช้ทักษะช่างฝีมือชั้นสูงเพราะชิ้นงานมีรายละเอียดและใช้เวลาในการทำนานมาก ต้องมีการออกแบบและร่างแบบวาดบนโลหะก่อนแล้วค่อยๆ ใช้เลื่อยหรือตะไบขนาดเล็กเจาะลงไปบนพื้นผิวของโลหะให้เกิดเป็นช่องว่างหรือลวดลายต่างๆ จากนั้นนำโลหะมาขัดให้เงาวาวและประดับด้วยอัญมณี
นอกจากเรื่องราวของภาพยนตร์ “Gangubai Kathiawadi หญิงแกร่งแห่งมุมไบ” ที่เดินเรื่องได้อย่างสนุก ดราม่าเข้มข้น จนต้องอินตามไปกับตัวเอกอย่าง “คังคุไบ” แล้วนั้น ผู้ชมยังได้ดื่มด่ำไปกับวิถีชีวิตของผู้หญิงอินเดีย ที่รวมไปถึงสังคม วัฒนธรรม ประเพณีของชาวอินเดีย หรือแม้กระทั่งมนเสน่ห์ของ Soft Power ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ตัวตนความเป็นอินเดียอันโดดเด่น เช่น อาหารอินเดีย ชุดส่าหรี เทศกาลนวราตรี ท่าเต้นแบบหนังบอลลีวูด และ “เครื่องประดับ” ในแบบดั้งเดิมของอินเดียที่มีให้เห็นตลอดทั้งเรื่อง ยังรอให้ทุกคนได้ไปพิสูจน์กันได้ที่สตรีมมิ่งบนแพลตฟอร์ม Netflix