HIGHLIGHTS
GIT LIbrary Admin
25 Oct 2022 1829“วันฮาโลวีน” (Halloween) เทศกาลสุดหลอนที่ทำให้มนุษย์ได้ระลึกถึง “ความตาย” อีกครั้ง ในวันที่ 31 ตุลาคมของทุกปีที่ถูกกำหนดให้เป็น “คืนปล่อยผี” มีที่มาจากชาวเผ่าเซลท์โบราณที่อาศัยอยู่ในยุโรปตอนเหนือ พวกเขาเชื่อกันว่าวันที่ 31 ตุลาคมเป็นวันสิ้นสุดฤดูร้อน ช่วงเวลาที่มิติระหว่างเขตแดนของโลกมนุษย์และโลกของวิญญาณนั้นเปราะบางที่สุด ทำให้ทั้งสองโลกเชื่อมโยงเข้าหากัน เหล่าภูติผีวิญญาณทั้งหลายจะสามารถกลับมายังโลกเพื่อเข้าสิงสู่ร่างของมนุษย์เพื่อกลับมามีชีวิตขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
ศิลปะแห่ง “ความตาย”
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบศิลปะคงเคยเห็นภาพวาดหัวกะโหลกในยุคโบราณกันมาบ้าง โดยงานศิลปะประเภทนี้มีชื่อเรียกเป็นภาษาละตินว่า “Memento Mori” (เมเมนโต โมรี) หมายถึง Remember You Will Die (จำไว้ว่าคุณต้องตาย) เป็นศิลปะหรือสัญลักษณ์ที่เตือนใจถึง “ความตาย” สิ่งที่มนุษย์หลีกเลี่ยงไม่ได้ แนวคิดนี้มาจากนักปรัชญาในสมัยโบราณ มักปรากฏอยู่ในงานศิลปะ งานศพ และสถาปัตยกรรมในยุคกลาง สะท้อนให้เห็นผ่านรูปแบบงานศิลปะ “Vanitas” (วานิทัส) เป็นงานศิลปะเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความไม่ยั่งยืนของชีวิตผ่านการใช้สัญลักษณ์ต่างๆ เช่น นาฬิกาทราย เรือ งูหรือหนอน และดอกไม้ที่เหี่ยวแห้ง รวมไปถึงเครื่องประดับ
จิวเวลรี่ที่ระลึกถึง…ความตาย
เครื่องประดับที่ได้รับความนิยมในช่วงปลายศตวรรษที่ 16 ถึงศตวรรษที่ 18 ที่กันเรียกว่า “Memento Mori” (เมเมนโต โมรี) ทำขึ้นเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจถึง “ความตาย” ความไม่เที่ยงของชีวิตมนุษย์และความแน่นอนของความตายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้มนุษย์ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เห็นคุณค่าและความสวยงามของการมีชีวิตอยู่ เครื่องประดับประเภทนี้มักทำด้วยทองคำและลงยาลวดลายที่เด่นชัด เช่น หัวกะโหลก โครงกระดูก หรือโลงศพ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความหมายที่แฝงอยู่ของ “ความตาย” นอกจากนี้ยังมีการสลักข้อความหรือคติเตือนใจเกี่ยวกับความตาย การระลึกถึง และศาสนา ด้วยภาษาละติน ฝรั่งเศส หรืออังกฤษ ไว้ที่ด้านนอกหรือซ่อนอยู่ด้านในของเครื่องประดับแต่ละชิ้น รูปแบบของเครื่องประดับที่เป็นที่นิยม ก็คือ แหวน ล็อกเกต จี้ และเข็มกลัด แต่ “แหวน” เป็นรูปแบบเครื่องประดับที่พบมากที่สุด ที่มีทั้งแหวน “แหวนกล” (Gimmel Ring) และแหวนหมั้นดีไซน์เรียบง่ายที่นิยมในยุคนั้น เรียกว่า “แหวนโพซี่ย์” (Posey Ring) ทำจากเงินหรือทองคำที่สลักตัวเรือนด้วยลวดลายต่างๆ หรือข้อความส่วนตัวสุดโรแมนติก ที่ต่อมาภายหลังมีการสลักข้อความไว้ว่า “Memento Mori” หรือออกแบบให้มีสัญลักษณ์อันแสดงถึงความตายและการเกิดใหม่ เช่น โครงกระดูก กะโหลกศรีษะ และเด็กทารก ซึ่งต่อมาในช่วงกลางศตวรรษที่ 17 มักนิยมออกแบบเครื่องประดับที่สามารถใส่ปอยผมและชื่อย่อของผู้ล่วงลับและประกอบเข้ากับสัญลักษณ์รูปหัวกะโหลกหรือโลงศพ จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 18 เครื่องประดับ “Memento Mori” ลดทอนรูปแบบของสัญลักษณ์ต่างๆ ที่น่าสยดสยองให้น้อยลงเหลือเพียงแค่การสลักชื่อของบุคคลให้มีความโดดเด่นมากขึ้น
เครื่องประดับไว้ทุกข์ : ไอเทมสุดฮิตในยุควิกตอเรีย
ในศตวรรษที่ 19 เกิดการระบาดของ “วัณโรค” ทั่วทั้งยุโรป และ “อหิวาตกโรค” ที่ระบาดลามไปทั่วโลกถึง 6 ครั้ง คร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนมหาศาล การตายเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ผู้คนในยุคนั้นจึงมองความตายเป็นเรื่องปกติ การไว้ทุกข์จึงไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของความเศร้าโศกเพียงอย่างเดียว แต่ยังเปี่ยมล้นไปด้วยความรู้สึกนึกคิด ความรัก และความทรงจำ ทำให้ “เครื่องประดับไว้ทุกข์” (Mourning Jewelry) เป็นไอเทมสำคัญของแฟชั่นในยุควิกตอเรีย เปรียบเสมือน “ของที่ระลึก” เพื่อเตือนผู้สวมใส่ถึงความรักที่มีต่อคนที่พวกเขาสูญเสีย ด้วยเหตุนี้การสูญเสียคนที่รักจึงไม่ใช่เหตุการณ์ที่น่าตกใจอะไร เป็นแค่เพียงเรื่องน่าเศร้าที่เกิดขึ้นได้ในชีวิต ทำให้การออกแบบเครื่องประดับในยุคนั้นจะมีลวดลายหรือรูปแบบเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความสวยงามของ “ความตาย” ในแง่มุมต่างๆ ได้แก่ ล็อกเกตรูปไม้กางเขน โกศจิ๋ว จี้รูปดอกไม้ และสัญลักษณ์โรแมนติกอื่นๆ ที่มักจะรวมถึง เส้นผม ชื่อ อายุ หรือวันที่เสียชีวิตของคนในครอบครัว หรือเพื่อนสนิท
เมื่อความตายคือจุดเริ่มต้นของ “เครื่องประดับไว้ทุกข์”
ย้อนกลับไปเมื่อ ค.ศ. 1861 เป็นปีที่น่าเศร้าสำหรับสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เนื่องจากในปีเดียวกันนี่เองพระองค์ต้องทรงทนทุกข์ทรมานต่อการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของ “เจ้าหญิงวิกตอเรียแห่งซัคเซิน-โคบวร์ค-ซาลเฟลด์” พระราชชนนี และ “เจ้าชายอัลเบิร์ต” พระสวามีอันเป็นที่รักของพระองค์ โดยสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการไว้ทุกข์เป็นเวลายาวนานถึง 40 ปี ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ทรงสวมใส่ชุดสีดำและ “เครื่องประดับไว้ทุกข์” เพื่อเป็นการไว้อาลัยและระลึกถึงผู้เป็นที่รัก ในยุคนี้ไม่เพียงแต่เป็นช่วงเวลาที่แสดงให้เห็นถึงความรัก ความสูญเสีย และความเศร้าโศกของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้คนทั่วยุโรปและอเมริกาที่ต้องประสบกับการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักด้วยเช่นกัน และแม้ในช่วงเวลาที่มืดมนเช่นนี้พระองค์ก็ยังทรงเป็นผู้นำเทรนด์แฟชั่นของเครื่องประดับไว้ทุกข์จนกลายเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากภายในเวลาอันรวดเร็ว
วัสดุที่นิยมนำมาใช้ในเครื่องประดับไว้ทุกข์ ก็คือ Jet (เจ็ท) ฟอสซิลไม้สีดำ (ที่มีความคล้ายคลึงกับถ่านหิน) จากเหมืองในเมืองวิตบี ประเทศอังกฤษ สามารถนำไปตัด แกะสลัก และขัดให้มันวาวได้จึงเหมาะสำหรับทำเครื่องประดับ ในยุค 1870 เมื่อแฟชั่นเครื่องประดับไว้ทุกข์เฟื่องฟูสุดขีดจึงทำให้ “เจ็ท” ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากและมีราคาแพง แต่เนื่องจาก “เจ็ท” เป็นวัสดุที่ค่อนข้างแข็งต้องใช้ช่างฝีมือที่มีความชำนาญเพื่อหลีกเลี่ยงการแตกหักระหว่างการแกะสลัก ทำให้ “กระจกสีดำ” เป็นอีกทางเลือกยอดนิยม เพราะหาง่าย มีราคาถูกกว่า และมีการใช้งานได้ง่ายขึ้น ส่วนวัสดุสีดำอื่นๆ ที่นิยมนำมาใช้ ได้แก่ Gutta Percha (ยางไม้ชนิดหนึ่ง), French jet (แก้วสีดำ), Bog Oak (ฟอสซิลไม้หรือพีทสีน้ำตาลเข้ม-ดำ), ยาง Vulcanite (วัลคาไนต์), Onyx (ออนิกซ์), กระดองเต่าสีเข้ม รวมไปถึงการลงยาสีดำ
Gutta Percha French Jet Cuff Bracelet (Photo: https://www.1stdibs.com/)
นอกจากนี้ยังมีเครื่องประดับไว้ทุกข์ที่ทำจาก “เส้นผม” เป็นการนำเส้นผมของผู้ล่วงลับนำมาถักทอเป็น สร้อยคอ จี้ เข็มกลัด ต่างหู สร้อยข้อมือ หรือบรรจุลงในล็อกเกตหรือแหวน แม้แต่พระราชินีนาถวิคตอเรียก็ยังสวมล็อกเกตที่บรรจุเส้นผมของเจ้าชายอัลเบิร์ตไว้ติดพระศอของพระองค์ เครื่องประดับสไตล์นี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมาก และสามารถออกแบบหรือทำเองได้ง่ายๆ แต่ในปี ค.ศ. 1901 หลังจากการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เครื่องประดับไว้ทุกข์ที่ทำจากเส้นผมนี้ก็ค่อยๆ ลดความนิยมลง แม้ว่าเครื่องประดับสไตล์นี้อาจดูแปลกตาไปสักหน่อย แต่สำหรับผู้คนในยุควิกตอเรียแล้ว เครื่องประดับประเภทนี้เป็นวิธีการไว้ทุกข์ที่ดีที่สุดในการอยู่ใกล้ชิดกับบุคคลที่รักมากที่สุด
Memento Mori Jewelry กับ Mourning Jewelry มีความแตกต่างกันอย่างไร?
เครื่องประดับเมเมนโต โมรี (Memento Mori) ในสมัยวิกตอเรียจะถูกนำมาใช้เพื่อเตือนใจและเน้นย้ำผู้คนให้ตระหนักถึงความจริงที่ว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาแล้วจะต้องตายในที่สุด และยังใช้เฉพาะเพื่อส่งเสริมให้ผู้คนสนุกกับการใช้ชีวิตในขณะที่ตัวเองยังมีชีวิตอยู่ ทำให้การออกแบบแหวนแต่งงานหรือแหวนหมั้นในช่วงเวลานี้มีการแกะสลัก 'Memento Mori' ไว้ด้านในของแหวนเป็นการเตือนให้คู่บ่าวสาวเพลิดเพลินไปกับสิ่งที่อยู่ข้างหน้าพวกเขา โดยคำนึงถึงว่าจุดหมายปลายทางสุดท้ายของชีวิตก็ต้องเจอกับ “ความตาย” แต่ เครื่องประดับไว้ทุกข์ (Mourning Jewelry) ใช้สวมใส่เพื่อแสดงความไว้อาลัยต่อการสูญเสียของผู้ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งในสมัยวิกตอเรียเมื่อบุคคลผู้เป็นที่รักเสียชีวิต เครื่องประดับไว้ทุกข์เป็นวิธีหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในการใช้เป็นสิ่งที่แสดงถึงความระลึกถึงผู้ตาย
จากเถ้ากระดูกสู่ “เครื่องประดับ”
“ความตายคือศิลปะ” ที่เป็นได้มากกว่าความสูญเสียและความเศร้าโศก ในยุคที่สังคมเปลี่ยนไปมุมมองการจัดการความตายของคนปัจจุบันทำให้การผูกพันกับพิธีกรรมและศาสนาน้อยลง เราสามารถออกแบบสิ่งที่หลงเหลือของผู้ตายให้กลายเป็นเครื่องประดับเพื่อระลึกถึง มากกว่าปล่อยไว้ในโกศบนแท่นบูชาที่บ้านหรือนำไปไว้ในกำแพงวัด เพื่อให้เป็นเครื่องบันทึกความทรงจำที่เต็มไปด้วยเรื่องราวและสิ่งแทนใจจากคนที่คุณรักให้คงอยู่ไปตลอดกาล อีกทั้งสามารถส่งต่อเครื่องประดับแห่งความทรงจำที่มีค่านี้ให้เป็นมรดกจากครอบครัวสู่ครอบครัวและจากรุ่นสู่รุ่น ในต่างประเทศมีบริการนำอัฐิของบุคคลอันเป็นที่รักหรือสัตว์เลี้ยงมาเปลี่ยนเป็นเครื่องประดับในรูปแบบต่างๆ มีดีไซน์ที่หลากหลาย และเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก เรียกกันว่า “เครื่องประดับจากอัฐิ” (Cremation Jewelry) เป็นเครื่องประดับที่ทำจากสารอนินทรีย์ของมนุษย์ที่หลงเหลือจากการถูกเผาไหม้ เช่น เส้นผม กระดูกและฟัน นำมาผ่านขั้นตอนกระบวนการต่างๆ เพื่อทำเป็นอัญมณีหรือเครื่องประดับสำหรับสวมใส่ ที่มีตั้งแต่เพชรไปจนถึงเครื่องประดับต่างๆ ราคาและระยะเวลาที่ใช้นั้นจะแตกต่างกันไปตามประเภทของเครื่องประดับที่เลือก
เครื่องประดับโกศจิ๋ว ภาชนะขนาดเล็กที่ทำไว้บรรจุอัฐิหรือเถ้ากระดูกของคนที่คุณรัก ที่ดีไซน์ให้เป็นเครื่องรางหรือลูกปัดสำหรับร้อยเป็นสร้อยข้อมือ แต่โดยทั่วไปแล้วจะทำเป็นจี้สำหรับใส่กับสร้อยคอ ซึ่งนอกจากจะใส่อัฐิแล้วสำหรับบางคนอาจจะเลือกที่จะใส่เส้นผมหรือดินจากที่ฝังศพลงไปด้วย
แหวนอัฐิ เครื่องประดับแฮนด์เมคที่ทำจากโลหะมีค่า เช่น เงินสเตอร์ลิง ทอง 9k หรือ 18k (สีขาว สีเหลือง และสีโรสโกลด์) หรือ แพลตตินั่ม ถูกออกแบบให้มีช่องว่างเล็กๆ ซ่อนไว้ภายในวงแหวน หรือสลักช่องให้เป็นรูปหัวใจหรือดาวดวงเล็กๆ เพื่อระบุตำแหน่งที่เติมเถ้ากระดูกเข้าไป อัฐิจะถูกเก็บไว้ในช่องลับในวงแหวนนี้ และเชื่อมปิดด้วยเลเซอร์ สามารถกันน้ำ กันอากาศไม่ให้เข้าไปได้ และยังสามารถสลักชื่อและข้อความได้อีกด้วย
ลูกปัดอัฐิ การหลอมแก้วที่ผสมเถ้ากระดูกลงไป มีรูปทรงและสีให้เลือกมากมายขึ้นอยู่กับผู้ผลิตเครื่องประดับแต่ละบริษัท
คัฟลิงค์เถ้ากระดูก กระดุมข้อมือ (Cufflinks) ทรงกลมงานแฮนด์เมดที่ทำจากเรซิ่น สามารถเลือกสีพื้นหลังที่ต้องการได้และประดับตกแต่งด้วยเถ้ากระดูกของคนที่คุณรักบนเรซิ่น
อัฐิเพชร เพชรจากเถ้ากระดูกนั้นเป็นเพชรสังเคราะห์ที่สร้างขึ้นด้วยกระบวนการ HPHT (High Pressure High Temperature) คือ กระบวนการสังเคราะห์ด้วยการใช้ความดันและความร้อนสูงเป็นการจำลองสภาพแวดล้อมในการเกิดขึ้นตามธรรมชาติของเพชรธรรมชาติ โดยนำเถ้ากระดูกไปสกัดและทำให้บริสุทธิ์จากสารปนเปื้อนต่างๆ และให้ความร้อนสูงกว่า 5,000 องศาฟาเรนไฮต์ จนเหลือแต่ “คาร์บอนบริสุทธิ์” ที่ถูกทำให้กลายเป็นกราไฟต์ กราไฟต์นี้ถูกวางไว้ในเมล็ดเพชรตั้งต้นขนาดเล็กและใส่ลงในแท่นพิมพ์ให้ความร้อนและแรงดันที่สูงอีกครั้งด้วยอุณหภูมิประมาณ 2,500 องศาฟาเรนไฮต์ พักไว้จนก่อตัวเป็นผลึกเพชรรอบๆ เมล็ดเพชรตั้งต้น ซึ่งใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ หลักจากนั้นจะนำผลึกเพชรไปเจียระไนและขัดเงาตามความต้องการของลูกค้า
เมื่อความตายอยู่ใกล้แค่เอื้อม…คุณจะรับมืออย่างไร? และหากเราอยากมีตัวตนต่อไปบนโลกใบนี้ เราจะสามารถฝากรู้สึกนึกคิด ความรัก และความระลึกถึง ไว้ในความทรงจำกับคนครอบครัวได้อย่างไร? ชีวิตหลังจากที่เราตายไปแล้ว เราสามารถออกแบบไว้ให้คนรุ่นหลังได้ ซึ่ง “เครื่องประดับ” เป็นมากกว่าสิ่งที่เป็นตัวแทนของผู้ที่คุณสูญเสีย แต่เป็นโอกาสที่จะให้เกียรติบุคคลที่คุณรักด้วยการสร้าง “ของที่ระลึก” สักชิ้นที่เต็มไปด้วยเรื่องราวอันน่างดงามและมีชีวิตที่เราจะสามารถเก็บรักษาความทรงจำล้ำค่าของคนที่คุณรักไว้ได้ตราบนานเท่านาน และกลายเป็นมรดกตกทอดของครอบครัวที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น...
คุณพร้อมเผชิญกับ “ความตาย” แล้วหรือยัง?
The many styles of Victorian jewelry presented in this volume are selected from the best collections in the United States and abroad, and shown here in specially commissioned, exclusive color photographs. The photographs showcase the glorious color and style of the rich variety of materials, including Scottish Agate, malachite, and granite, the amazingly modern niello, and the stark black beauty of Whitby jet.
For more than half a century, during the reign of Queen Victoria, England and Europe produced some of the most delightful flights of fancy that jewelry has ever taken. Long ignored because of the intrinsic worthlessness of its various materials, today these pieces are increasingly prized for their beauty and workmanship. Surprisingly, this period in jewelry–making did not follow the fussy, overly ornate style that characterized the Victorian era, but rather promoted bold, playful, romantic and “modern” styles. Some of the most unusual pieces were constructed with materials including hair, lava, coal iron, and aluminum. The text gives authoritative and fascinating historical context to the uses of these materials and designs. Many of the most sought–after pieces are made of silver, and popular designs include stars, anchors, hearts, bows and outstretched hands.