HIGHLIGHTS

เบื้องหลังลุคจิวเวลรี่ ความลับราชินีแห่งอังกฤษ

GIT LIbrary Admin

 07 Jun 2023   10612

แฟนๆ ซีรีส์โรแมนติกดราม่าย้อนยุคของ Netflix (เน็ตฟลิกซ์) อย่าง Bridgerton (บริดเจอร์ตัน) คงได้สัมผัสกับเรื่องราวการตามหารักแท้ที่ทำให้ต้องหลงใหลไปกับสเน่ห์ของตระกูลบริดเจอร์ตันและหนุ่มสาวในสังคมชั้นสูงของลอนดอนกันมาบ้างแล้ว แต่ในปีนี้ผู้ชมจะได้พบกับซีรีส์ Queen Charlotte: A Bridgerton Story (ควีนชาร์ล็อตต์: เรื่องเล่าราชินีบริดเจอร์ตัน) ซีรีส์ภาคแยกในจักรวาลบริดเจอร์ตันที่สตรีมให้ได้รับชมพร้อมกันทั่วโลกเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ในซีรีส์เรื่องนี้ควีนชาร์ล็อตต์กลายเป็นตัวละครหลัก ที่มีเรื่องราวจากเค้าโครงประวัติศาสตร์อันเป็นต้นกำเนิดของราชินีชาร์ล็อตต์กับพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งราชวงศ์อังกฤษ ความรักและอุปสรรคที่คุกคามความสัมพันธ์อันยืนยาวของทั้งคู่ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในช่วงศตวรรษที่ 18


นอกเหนือจากความโรแมนติกของเนื้อเรื่องแล้ว สิ่งที่ดึงดูดแฟนๆ ของซีรีส์แฟรนไชส์ ​​Bridgerton ให้ติดตามซีรีส์เรื่องนี้ก็คือ เสื้อผ้าอาภรณ์ของเหล่าชนชั้นสูงอันสุดอลังการ รวมไปถึง “เครื่องประดับ” ที่ออกแบบมาอย่างประณีตวิจิตรตระการตาและสามารถตีความเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ให้มีความน่าสนใจได้อย่างน่าอัศจรรย์ เป็นการพาผู้ชมซีรีส์เรื่องนี้เข้าสู่โลกของชนชั้นสูงแห่งอังกฤษในยุค Georgian (จอร์เจียน) และยุค Regency (รีเจนซี่) ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

Queen Charlotte: A Bridgerton Story เป็นซีรีย์ที่สร้างโดย Shonda Rhimes (ชอนดา ไรมส์) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทสื่อบันเทิงระดับโลก Shondaland (ชอนดาแลนด์) ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์และผู้เขียนบทที่ได้ดึงผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายระดับมือรางวัลอย่าง Lyn Elizabeth Paolo (ลิน เอลิซาเบธ เปาโล) ซึ่งเคยร่วมงานกันในซีรี่ส์ Scandal มาร่วมสร้างสรรค์งานเสื้อผ้าและเครื่องประดับย้อนยุคสุดอลังการ ซึ่งเปาโลยังได้ Laura Frecon (ลอร่า เฟรคอน) มาเป็นผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายร่วมกันในซีรีส์เรื่องนี้อีกด้วย 

Queen Charlotte: A Bridgerton Story 
(Photo Credit: LIAM DANIEL/NETFLIX )

นอกจากเครื่องแต่งกายที่มาพร้อมงานปักอันหรูหราอันได้รับแรงบันดาลใจจากยุคจอร์เจียนและยุครีเจนซี่แล้วนั้น เปาโลและทีมของเธอยังต้องเฟ้นหา “เครื่องประดับ” ที่ทำให้ตัวละครได้ย้อนเวลากลับไปในยุคนั้นจริงๆ และต้องค้นหารูปแบบเครื่องประดับให้ความสมดุลสำหรับสองช่วงเวลาที่แตกต่างกัน เนื่องจากการออกแบบแฟชั่นสไตล์ “จอร์เจียน” และ “รีเจนซี่” นั้นมีความสวยงามละเอียดอ่อน ทั้งยังต้องผสมผสานการออกแบบที่ทันสมัย เพื่อยังคงรักษาเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด 

“เราพยายามที่จะออกแบบเครื่องแต่งกายให้ตรงกับความเป็นจริงตามช่วงเวลานั้นให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และยังต้องสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมาเพื่อให้เกียรติกับนวนิยาย “Bridgerton” เราจึงตั้งใจเนรมิตเสื้อผ้าและเครื่องประดับให้ออกมาเหมือนกับภาพวาดแนวอิมเพรสชั่นนิสม์” เปาโลกล่าว “มันสำคัญมากที่องค์ประกอบทั้งหมดต้องทำงานร่วมกันตั้งแต่หัวจรดเท้า ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทีมคอสตูมจะต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับแผนกผมและเมคอัพอาร์ติส Nichola Collins (นิโคลา คอลลินส์) ซึ่งทีมงานของเธอก็สามารถสร้างรูปลักษณ์ที่สอดคล้องกับเรื่องราวในแต่ละฉากออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ”

Queen Charlotte: A Bridgerton Story 
(Photo Credit: LIAM DANIEL/NETFLIX)
 
Queen Charlotte: A Bridgerton Story 
(Photo Credit: LIAM DANIEL/NETFLIX)

บรรดาเหล่าสตรีในราชสำนักของราชินีชาร์ล็อตต์จะสวมใส่เสื้อผ้าและวิกผมที่ดูอลังการ ทั้งยังประดับประดาด้วยเครื่องประดับอย่างหรูหรา แต่ในซีรีส์บริดเจอร์ตันเครื่องประดับที่ใช้ในแต่ละฉากมีขนาดเล็กและบอบบาง ทำให้รู้สึกเหมือนเป็นของเลียนแบบ เพียงแค่นำมาประดับเพื่อเสริมให้ชุดดูคอมพลีต สง่างาม และเปล่งประกายมากขึ้น แต่ในซีรีส์เรื่องนี้มีการออกแบบให้เครื่องประดับของควีนชาร์ล็อตต์มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น เพื่อให้ความรู้สึกหรูหราและเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น และได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นด้วยความพิถีพิถัน เพื่อให้สะท้อนบุคลิกและรสนิยมของราชินีได้อย่างแท้จริง ทุกชิ้นมีความสวยงามและโดดเด่น แสดงถึงสไตล์และวัฒนธรรมในสมัยจอร์เจียนและรีเจนซี่ ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงการใช้วัสดุและการออกแบบที่ประณีตละเอียดอ่อน อันเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องประดับในยุคสมัยนั้น

Queen Charlotte: A Bridgerton Story 
(Photo Credit: LIAM DANIEL/NETFLIX )

อย่างไรก็ตาม เปาโลยอมรับว่า “เครื่องประดับ” นั้นมีความสำคัญมาก ต้องมีความสมจริงและสมบูรณ์แบบให้มากที่สุด ทั้งในเรื่องของดีเทลเล็กๆ น้อยๆ ของเครื่องประดับและเครื่องแต่งกายจากยุค “จอร์เจียน” และ “รีเจนซี่” ที่ต้องมีความละเอียดอ่อนและให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม “เราออกแบบชุดให้กับเชื้อพระวงศ์  ไม่ใช่แค่ตระกูลบริดเจอร์ตันที่มีชื่อเสียง” เธอกล่าว “หมายความว่าเราต้องจัดหาอัญมณีของจริงและบางชิ้นก็ทำขึ้นมาใหม่ โดยเสื้อผ้าแต่ละชุดจะได้รับการประดับประดาด้วยอัญมณีบนเสื้อท่อนบน แขนเสื้อ จากนั้นเราได้เพิ่มเติมในส่วนของ สร้อยคอ ต่างหู แหวน สร้อยข้อมือ และเครื่องประดับเส้นผม” โดยเปาโลได้เครื่องประดับไข่มุกสไตล์วินเทจมาจากเยอรมนีและคอสตูมจิวเวลรี่คุณภาพสูงที่ผลิตในอิตาลี นอกจากนี้ยังใช้เครื่องประดับจาก Emily Satloff (เอมิลี่ แซทลอฟฟ์) เจ้าของแบรนด์ Larkspur & Hawk (ลาร์คสเปอร์ & ฮอว์ก) ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำเครื่องประดับและการเจียระไนพลอยด้วยเทคนิคแบบโบราณในสไตล์จอร์เจียนอีกด้วย

Queen Charlotte (India Ria Amarteifio) in a Larkspur & Hawk rivière. 
(Photo Credit: LIAM DANIEL/NETFLIX)
 
Catherine Rivière in Multi-Garden Rose
(Photo Credit: https://larkspurandhawk.com)

เครื่องประดับของควีนชาร์ลอตต์

สมเด็จพระราชินีชาร์ล็อตต์ (Queen Charlotte) หรือที่รู้จักกันในนามว่า ชาร์ล็อตต์แห่งเมคเลนบูร์ก-สเตรลิทซ์ (Charlotte of Mecklenburg-Strelitz) เป็นพระราชินีในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร พระองค์มีพระชนม์ชีพอยู่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ถึงต้นศตวรรษที่ 19 หรือในช่วงระหว่างปี 1744 ถึง 1818 ซึ่งอยู่ในยุคจอร์เจียน (Georgian era) ควีนชาร์ล็อตต์เป็นที่รู้จักจากการเป็นผู้นำเทรนด์แฟชั่นและการเป็นผู้อุปถัมภ์งานศิลปะ รวมไปถึงแฟชั่นทรงผมรูปทรงหัวใจอันโดดเด่นในช่วงกลางปี 1770 ที่ต่อมาในภายหลังได้พัฒนาทรงผมเป็นรูปทรงวงรี

Queen Charlotte wearing the new inverted triangle style of stomacher
and a heart shaped hairstyle. (Photo Credit: http://www.rct.uk)
 
Queen Charlotte (Golda Rosheuvel)
(Photo Credit: LIAM DANIEL/NETFLIX)

นอกจากนี้ ควีนชาร์ล็อตต์ยังทรงมีความชื่นชอบในเครื่องประดับหรูหราเป็นอย่างมาก ซึ่งคอลเลกชันเครื่องประดับของพระองค์ก็มีอยู่มากมายหลายคอลเลกชัน ซึ่งแต่ละชิ้นงานมีความประณีตที่สะท้อนถึงเทรนด์แฟชั่นสุดฮิตในยุคของพระองค์แทบทั้งสิ้น หนึ่งในนั้นก็คือ “The Diamond Stomacher” หรือเครื่องเพชรประดับอุทรที่มีมูลค่า 60,000 ปอนด์หรือราว 10 ล้านปอนด์ในปัจจุบัน โดย “The Diamond Stomacher” ชิ้นนี้ประดับด้วยเพชรเม็ดเล็กๆ ซ้อนทับด้วยอัญมณีขนาดใหญ่ที่ออกแบบมาคล้ายใบไม้ โดยควีนชาร์ล็อตต์ทรงใช้สวมใส่ทั้งในพิธีอภิเษกสมรสและพิธีบรมราชาภิเษก รวมถึงเซตเครื่องประดับ เช่น ต่างหู หมวก สร้อยคอ และเข็มกลัดก็ทำมาจากเพชรทั้งหมดเช่นกัน

Queen Charlotte of Mecklenburg-Strelitz (Photo Credit: http://www.rct.uk)

แผงประดับหน้าท้องเปรียบเสมือน “เครื่องประดับ” ที่ใช้ตกแต่งเสื้อผ้าบริเวณหน้าอกไปจนถึงหน้าท้อง มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมแคบตรงปลายแหลม อาจเป็นผ้าลูกไม้ตกแต่งด้วยริบบิ้นใช้เย็บติดกับเสื้อหรือกลัดให้อยู่กับที่หรือยึดกับตัวเสื้อด้วยลูกไม้ของเสื้อตัวใน หรืออาจจะเป็นชิ้นหรือชุดเครื่องประดับที่ทำด้วยอัญมณีเพื่อตกแต่งเสื้อผ้าท่อนบน ซึ่งเป็นที่นิยมในสตรีชั้นสูงและสตรีในราชสำนักของยุโรปมานับร้อยปีตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา และค่อยๆ ลดทอนรูปแบบลงให้เข้ากับยุคสมัย จนกลายเป็นเข็มกลัดขนาดใหญ่เป็นพิเศษหรือสร้อยระย้าขนาดใหญ่นำมากลัดติดกับเสื้อผ้าของผู้สวมใส่ในบริเวณหน้าอก ซึ่งอาจจะไม่ค่อยได้พบเห็นในยุคปัจจุบัน

The stomacher is very similar to the silver stomacher below 1750
(Photo Credit: http://www.metmuseum.org)
Queen Mary wearing the Karputhala stomacher 
(Photo Credit: http://www.metmuseum.org)

เครื่องประดับอีกชิ้นหนึ่งที่มีชื่อเสียงและได้รับการชื่นชมอย่างกว้างขวางนั่นก็คือ แหวนที่มีภาพเหมือนขนาดย่อของพระเจ้าจอร์จที่ 3 อยู่ใต้เพชรเจียระไนขนาดใหญ่ (มองเห็นได้จากด้านบน) ล้อมรอบด้วยเพชรเม็ดเล็กๆ ซึ่งควีนชาร์ล็อตต์ทรงสวมไว้ที่นิ้วก้อยของมือขวาสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 ได้มอบเป็นของขวัญให้แก่พระราชินีชาร์ล็อตต์ในวันอภิเษกสมรส รวมถึงสร้อยคอไข่มุกที่ประกอบด้วยไข่มุกมากกว่า 100 เม็ดที่ถูกเก็บไว้ในพระราชวังวินด์เซอร์

Queen Charlotte wearing her diamond stomacher
and a diamond ring with George III which was worn by Queen Charlotte (Photo Credit: http://www.rct.uk)
 
Queen Charlotte (Photo Credit: http://www.rct.uk)
 
Queen Charlotte (Golda Rosheuvel)
(Photo Credit: NETFLIX)

เทรนด์ “เครื่องประดับ” จากยุคจอร์เจียนและยุครีเจนซี่

เครื่องประดับจอร์เจียน (Georgian) เป็นรูปแบบของเครื่องประดับที่ได้รับความนิยมในยุคจอร์เจียนซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ปี 1714 ถึง 1837 โดยตั้งชื่อตามรัชสมัยของกษัตริย์อังกฤษ เช่น George I, George II, George III และ George IV เครื่องประดับจอร์เจียนโดดเด่นด้วยการออกแบบที่ซับซ้อนและงานฝีมือที่ประณีต ในช่วงเวลานี้เครื่องประดับเป็นงานทำมือและมักมีลวดลายอันวิจิตรบรรจงซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ เช่น ดอกไม้ ใบไม้ และสัตว์ต่างๆ อัญมณีที่นิยมใช้มากที่สุดในเครื่องประดับยุคจอร์เจียน ได้แก่ เพชร ไข่มุก โกเมน อเมทิสต์ และบุษราคัม อัญมณีเหล่านี้มักถูกเจียระไนด้วยวิธีที่เพิ่มประกายระยิบระยับ เช่น การเจียระไนเหลี่ยมกุหลาบ (Rose cut) และการเจียระไนแบบเหลี่ยมโบราณ (Old mine cut)

เครื่องประดับจอร์เจียนมีรูปแบบที่หลากหลายสะท้อนความงามในสไตล์บาโรก (Baroque) และโรโกโก (Rococo) โดยมีการออกแบบที่ละเอียดอ่อนและประณีตด้วยงานโลหะและอัญมณีที่สลับซับซ้อน เมื่อยุคสมัยดำเนินไปศิลปะสไตล์นีโอคลาสสิก (Neoclassical) ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เป็นศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากการออกแบบของกรีกและโรมันโบราณ สไตล์นี้มีรูปทรงเรขาคณิตมากขึ้น รวมถึงจี้และหินแกะสลักที่มักจะรวมอัญมณี เช่น อาเกตและโอนิกซ์ เนื่องจากเครื่องประดับสไตล์จอร์เจียนเป็นงานแฮนด์เมด แต่ละชิ้นจึงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม เครื่องประดับของจอร์เจียนที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันเป็นของหายากและมีค่าอย่างมาก จึงเป็นที่ต้องการของนักสะสมและผู้ที่ชื่นชอบชื่นชมศิลปะและงานฝีมือที่สร้างสรรค์ชิ้นงานเหล่านี้

Queen Charlotte (Golda Rosheuvel)
(Photo Credit: LIAM DANIEL/NETFLIX)

เครื่องประดับรีเจนซี่ (Regency) เป็นเครื่องประดับแบบที่นิยมในยุครีเจนซี่ในอังกฤษซึ่งตรงกับต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นยุคที่ตั้งชื่อตามช่วงเวลาที่พระเจ้าจอร์จที่ 4 ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ปกครองในนามของพระราชบิดา “พระเจ้าจอร์จที่ 3” ซึ่งถูกมองว่าไม่เหมาะที่จะปกครองเนื่องจากอาการป่วยทางจิต ยุคนี้กินเวลาตั้งแต่ปี 1811 ถึง 1820 เครื่องประดับรีเจนซี่ ขึ้นชื่อเรื่องความสง่างาม ความประณีต ซึ่งเป็นอิทธิพลของสไตล์นีโอคลาสสิกและโรแมนติก สะท้อนถึงรสนิยมและบรรทัดฐานทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคนั้น ตลอดจนอิทธิพลของการออกแบบของกรีกและโรมันโบราณ

เครื่องประดับของรีเจนซี่มักเป็นงานที่มีลวดลายละเอียดประณีต ลวดโลหะที่ละเอียดอ่อนบิดเป็นเกลียวและขึ้นรูปเป็นลวดลายประดับ เทคนิคนี้เพิ่มความรู้สึกบางเบาและความเป็นผู้หญิงให้กับชิ้นงาน เครื่องประดับส่วนใหญ่ได้รับแรงบันดาลใจจากความหลงใหลในศิลปะกรีกและโรมันโบราณผสมผสานลวดลายคลาสสิก เช่น ลอเรลหรีธ (Laurel wreath) พิณ โกศ และใบอะแคนทัส (Acanthus leave) ลวดลายเหล่านี้มักทำด้วยทองคำและจับคู่กับอัญมณี เช่น มรกต ทับทิม ไพลิน และอเมทิสต์ อัญมณีเหล่านี้มักถูกเจียระไนเป็นรูปทรงแบบดั้งเดิม เช่น วงรี (Oval Cut) หรือหมอนอิง (Cushion Cut) หนือนำไปล้อมรอบด้วยเพชรเพื่อเพิ่มความแวววาว นอกจากนี้ไข่มุกเม็ดเล็กแบบกลมเกลี้ยงเป็นตัวเลือกที่นิยมในเครื่องประดับรีเจนซี่ มักนำมาสร้างรูปแบบต่างๆ ที่ซับซ้อนให้กับเครื่องประดับ เช่น โซ่หรือพู่ระย้า เพื่อเพิ่มความสง่างามให้กับสร้อยคอ ต่างหู และรัดเกล้า นอกจากนี้ เครื่องประดับที่ทำจากเส้นผมมนุษย์ก็เป็นที่นิยมในยุคนี้เช่นกัน ปอยผมของบุคคลที่รักถูกทอหรือถักเป็นลวดลายที่ซับซ้อน นำมาทำเครื่องประดับหรือบรรจุในเข็มกลัด แหวน และอื่นๆ กลายเป็นของที่ระลึกที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความรัก ที่มีคุณค่าทางจิตใจเป็นอย่างมาก

ในปัจจุบันเครื่องประดับรีเจนซี่เป็นที่ต้องการของนักสะสมและผู้ที่ชื่นชอบอย่างมากเนื่องจากมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และงานฝีมืออันประณีตในการออกแบบสร้างสรรค์ผลงานแต่ละชิ้นที่ได้แสดงถึงยุคสมัยที่แตกต่าง ทั้งยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ออกแบบและผู้ผลิตเครื่องประดับร่วมสมัยมาจนถึงทุกวันนี้

Queen Charlotte (Golda Rosheuvel)
(Photo Credit: LIAM DANIEL/NETFLIX)

รูปแบบเครื่องประดับในยุคจอร์เจียนและยุครีเจนซี่

Handmade Jewellery ก่อนที่จะมีการผลิตเครื่องประดับแบบ mass production จะเข้ามามีบทบาทในยุค Victorian (วิกตอเรียน) และเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วในหมู่ชนชั้นกลาง ทำให้ยุคจอร์เจียนและรีเจนซี่เป็นยุคสุดท้ายที่ผลิตเครื่องประดับที่ทำด้วยมือ ช่างฝีมือที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างเชี่ยวชาญจะใช้ทองคำและโลหะอื่นๆ มาผลิตและออกแบบเครื่องประดับอย่างประณีต มีการเจียระไนพลอยมีค่าและกึ่งมีค่าแต่ละชิ้นด้วยมือ นี่คือเหตุผลว่าทำไมเครื่องประดับจากช่วงเวลานี้จึงมีความไม่สมบูรณ์แบบ กล่าวคือ “อัญมณี” ที่อยู่ในเครื่องประดับชิ้นเดียวกันจะมีรูปร่างและขนาดที่ไม่เท่ากันทั้งเส้นจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย นอกจากนี้ อัญมณียังได้รับการเจียระไนแบบพิเศษที่สามารถส่องประกายภายใต้แสงเทียนเพื่อให้สามารถสะกดทุกสายตาและดึงดูดความสนใจมายังผู้สวมใส่ ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ถึงมาตรฐานงานฝีมือระดับสูงของช่างทำเครื่องประดับในยุคสมัยนั้น

Georgian 1820 Antique Convertible Brooch 18kt Gold 5.54 Ctw
in Diamonds Emerald (Photo Credit: www.1stdibs.com)
Elaborate Georgian Chain With Hand Clasp 

Sentimental Jewellery เครื่องประดับสำหรับความรู้สึกพิเศษๆ มักมีคุณค่าทางจิตใจ เป็นเครื่องประดับที่เราสวมใส่เพื่อระลึกถึงบุคคลอันเป็นที่รักหรือผู้ล่วงลับไปแล้ว บ่อยครั้งที่เครื่องประดับเหล่านี้มีการจารึกคำ สัญลักษณ์ หรือแม้แต่องค์ประกอบที่เอาไว้เตือนใจผู้ที่สวมใส่ ในบริบทของ “Memento Mori” หรือเครื่องประดับไว้ทุกข์ จะใช้สัญลักษณ์ซึ่งอาจเป็นเส้นผม โกศ ฟัน หรือสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่ ส่วนในบริบทของ “ความรัก” เหล่าขุนนางมักจะให้ของขวัญแก่คนรักด้วยเครื่องประดับที่มีประโยคสั้นๆ หรือข้อความต่างๆ ซ่อนอยู่ เช่นคำว่า “Regard”, “Forever” และ “Love” แต่ยังรวมถึงเส้นผมหรือชื่อบุคคลอันเป็นที่รัก บางครั้งก็ใช้การเล่นสีสันของอัญมณีเพื่อสื่ออารมณ์และความรู้สึก ซึ่งอัญมณีที่นำมาใช้ก็จะต้องเป็นอัญมณีที่เป็นที่ต้องการและหายาก เป็นของสะสมอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ธรรมเนียมปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายในยุคนี้ก็คือการสวม “เครื่องประดับไว้ทุกข์” ซึ่งในซีรีส์เราจะเห็นได้จาก เลดี้ แดนเบอรี (อาร์เซมา โธมัส) หลังจากสามีของเธอเสียชีวิตลง เธอได้ใส่เครื่องประดับที่ทำจากอัญมณีหรือวัสดุสีดำ เช่น เจ็ต นิล เอนาเมลสีดำ และยางสีดำที่สกัดจากต้นไม้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Georgian Table Cut Diamond Inscribed Gold Ring.
(Photo Credit: http://www.1stdibs.com)

Antique Georgian Mourning brooch, flat cut Garnet, Pearl, 9k gold.
(Photo Credit: http://www.1stdibs.com)
Young Agatha Danbury (Arsema Thomas) in Queen Charlotte: A Bridgerton Story 
(Photo Credit: NICK WALL/NETFLIX)

Paste Jewellery เครื่องประดับที่ทำจากแก้วชนิดพิเศษที่เจียระไนเลียนแบบอัญมณีหลากหลายชนิดมักนำมาใช้ใน “เครื่องประดับโบราณ” ส่วนใหญ่จะใช้แก้วผสมตะกั่วหรือแก้วคริสตัล (Crystal) เนื่องจากแก้วชนิดนี้มีค่าดัชนีหักเหแสงสูง มีการกระจายตัวของแสงที่ดี ทำให้ส่องประกาย แวววาว ระยิบระยับสวยงาม ราวกับอัญมณีชั้นเลิศ พบได้ทั่วไปในเครื่องประดับจากยุคจอร์เจียนและรีเจนซี่ ซึ่งคนที่มีฐานะมั่งคั่งมักจะกลัวการถูกปล้นระหว่างการเดินทางไกลจึงมักสวมเครื่องประดับชนิดนี้แทนเครื่องประดับที่ทำจากอัญมณีที่มีราคาสูง เครื่องประดับชนิดนี้มักจะทำโดยช่างทำอัญมณีคนเดียวกับที่ทำเครื่องประดับจากพลอยแท้ๆ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เครื่องประดับชนิดนี้จะดูสมจริง หากยังจำกันได้ในซีซันที่สองของซีรีส์บริดเจอร์ตัน แผนการของ Jack Featherington (แจ็ค เฟเธอร์ริงตัน) ได้นำสร้อยคอทับทิมปลอมที่ทำจากแก้วไปหลอก Cressida Cowper (เครสสิดา คาวเปอร์) รวมถึงช่างทำเครื่องประดับได้สำเร็จ แต่ก็ปกปิดได้ไม่นานความจริงก็เปิดเผย

การผลิตเครื่องประดับเพสต์นั้นจะใช้แรงงานเป็นจำนวนมากกว่าการผลิตเครื่องประดับอัญมณี เนื่องจากแก้วตะกั่วต้องได้รับการเจียระไนและขัดด้วยมืออย่างเชี่ยวชาญ สิ่งนี้ทำให้หลายๆ คนในสังคมชั้นสูงของปารีสมองว่าเครื่องประดับชนิดนี้ดีกว่าอัญมณีของจริง เพสต์จิวเวลรี่เป็นที่นิยมเป็นอย่างมากตลอดยุคจอร์เจียนและรีเจนซี ในยุควิคตอเรียนผู้หญิงที่มีรสนิยมแทบทุกคนจะต้องมีเครื่องประดับเพสต์อยู่ในคอลเลกชัน ซึ่งความนิยมยังคงดำเนินต่อไปและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงยุคเอ็ดเวิร์ดและอาร์ตเดโค จนกระทั่งประมาณปี 1930 เครื่องประดับเพสต์แบบดั้งเดิมได้หมดความนิยมลง นี่เป็นเพราะดีไซเนอร์กูตูร์ชาวปารีส เช่น Coco Chanel (โคโค่ ชาแนล) และ Elsa Schiaparelli (แอลซา สกียาปาแรลลี) ได้สร้างสรรค์คอสตูมจิวเวลรี่ด้วยเทคนิคสมัยใหม่ เพื่อให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้าในปัจจุบัน

Antique Georgian French Paste Silver Pendant.
(Photo Credit: http://www.1stdibs.com)
 
The ruby necklace in Bridgerton season 2 
(Photo Credit: Colin Hutton/Netflix)

Coral Jewellery เครื่องประดับที่ทำจากปะการัง (Coral) อัญมณียอดนิยมที่ถูกนำมาใช้ทำเป็น “เครื่องประดับ” ในยุคจอร์เจียนและยุครีเจนซี่ เป็นเวลาหลายพันปีมาแล้วที่สังคมตะวันตกเชื่อว่าปะการังเป็นอัญมณีวิเศษที่มีพลังในการปกป้องทุกรูปแบบ ซึ่งความเชื่อของผู้คนยุคนั้นในเรื่องของพลังในการปกป้องคุ้มครองป้องกันภัยให้กับผู้ที่สวมใส่ ซึ่งมีภาพวาดบุคคลในสมัยนั้นจำนวนไม่น้อยที่มักสวมสร้อยคอหรือสร้อยข้อมือที่ทำจากปะการัง รวมถึงนำไปใช้ทำเครื่องรางเพื่อปัดเป่าความชั่วร้าย ด้วยสีสันอันสดใสของปะการังยังเป็นสัญลักษณ์ของการมีสุขภาพที่แข็งแรง โดยในฉากหนึ่งจากซีรีส์ Queen Charlotte: A Bridgerton Story ราชินีชาร์ลอตต์สวมชุดเครื่องประดับที่ทำจากอัญมณีสีแดง ซึ่งสามารถตีความได้ว่าเป็นการแสดงความชื่นชอบในการสวมใส่ปะการังในยุคนั้น

Gold hair pin decorated with a red coral
in a gold setting with filigree rosettes c 1785 - c 1800
 
 Adèle Romany, Portrait of a Lady at a Pianoforte, circa 1808, Museum of Fine-Arts, Boston
 
 
Antique Georgian Hand-Carved Natural Coral Bead Tassel Lariat
(Photo Credit: http://www.1stdibs.com)

Elaborate Headgear เครื่องประดับศีรษะหรือเครื่องประกับเส้นผมในยุคจอร์เจียนและยุครีเจนซีไม่ว่าจะเป็น หมวก ผ้าคลุมผม รัดเกล้า มงกุฎ หรือเครื่องประดับผมขนนกกระจอกเทศก็ล้วนแต่มีความสวยงาม โดดเด่น และวิจิตรตระการตาเป็นอย่างมาก ด้วยการตกแต่งผมอย่างประณีต มาคู่กับทรงผมยาวรวบหางม้า หนือเกล้าเป็นมวยสูง หรือม้วนเป็นลอนสั้นๆ ขมวดลูกผมเป็นวงๆ ล้อมกรอบหน้า ซึ่งในซีรีส์ Queen Charlotte: A Bridgerton Story โดยผู้ชมจะได้เห็นเทียร่าอันสวยงามของราชีนีชาร์ลอตต์ในงานอภิเษกสมรส ซึ่งทีมงานของซีรีส์เรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพทางประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ต่างๆ รวมถึงควีนเอลิซาเบธที่ 2 และเทียร่าอันสวยงามจากรันเวย์ของ Elie Saab (เอลี ซาบ) ที่ได้ Jen Lewis (เจน ลูอิส) และ Stephen Rogers (สตีเฟน โรเจอร์ส) ช่างทำเครื่องประดับของบริษัท มาร่วมมือกันในการออกแบบและประกอบเทียร่าอย่างพิถีพิถัน นอกจากนี้ยังมีมงกุฏประดับอัญมณีอันสง่างามในงานราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 ที่ยังรวมถึงเครื่องประดับตกแต่งวิกผมของควีนชาร์ลอตต์ที่ผู้ชมจะได้เห็นตลอดทั้งเรื่อง

Queen Charlotte: A Bridgerton Story 
(Photo Credit: LIAM DANIEL/NETFLIX)
 
Queen Charlotte: A Bridgerton Story 
(Photo Credit: LIAM DANIEL/NETFLIX)

Foil-Backed Jewellery เครื่องประดับที่ใช้เทคนิคการปรับปรุงพื้นผิวของอัญมณี เป็นเทคนิคที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยมิโนสหรือมิโนอัน (หรือตั้งแต่ 2,000-1600 ปีก่อนคริสตกาล) โดยช่างทองจะนำไปแผ่นฟอยล์/โลหะบางๆ หรือวัสดุอื่นๆ (อาจจะมีสีหรือเป็นสีขาว) วางเอาไว้ด้านหลังของอัญมณี โดยแผ่นฟอยล์จะทำหน้าที่เป็นทั้งสารสะท้อนแสงและสารแต่งสีให้กับอัญมณี ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการสะท้อนแสงของอัญมณีจากด้านหลัง ทำให้อัญมณีดูสดใสยิ่งขึ้น ส่องประกายแวววาว อัญมณีที่มีสีซีดก็จะมีสีที่เข้มขึ้น สวยงามมากยิ่งขึ้น
 
Foil-backed jewelry from the Georgian era.
(Photo Credit: GemFlix/www.veranda.com)
 
Satloff’s jewelry line, Larkspur & Hawk, features stunning,
foil-backed jewelry inspired by the Georgian era.
(Photo Credit: https://larkspurandhawk.com)

นอกจากเรื่องราวอันสนุกเข้มข้นชวนติดตามของซีรี่ส์ “Queen Charlotte: A Bridgerton Story” ซีรีส์เรื่องนี้ยังได้พาผู้ชมไปสำรวจโลกแฟชั่นของสังคมชั้นสูงของอังกฤษ  รวมถึง “เครื่องประดับ” ที่มีบทบาทสำคัญในการแสดงถึงความมั่งคั่ง อำนาจ และบุคลิกลักษณะของพระราชินีชาร์ล็อตต์ ในขณะเดียวกันก็ยังแสดงถึงกระแสแฟชั่นและงานฝีมืออันประณีตที่สะท้อนถึงความรุ่งเรืองทางประวัติศาสตร์ของยุคจอร์เจียนและยุครีเจนซี่ ซึ่ง “เครื่องประดับ” จากทั้งสองยุคนี้จะมีความสวยงามอลังการขนาดไหน? ไปพิสูจน์กันได้ที่สตรีมมิ่งบนแพลตฟอร์ม Netflix


หนังสือแนะนำ (Book Recommendations)

LC Call #NK 7343 .D39 2018

Georgian Jewellery is a celebration of the style and excellence of the eighteenth century, and of the ingenuitythat produced such a wealth of fabulous jewellery. Heavy academic tomes have already been written about the period,but this book examines it in a more colourful and accessible way. The book aims to show that Georgian jewellery is not only the stuff of museums and safe boxes,but that it can be worn as elegantly and fashionably todayas it was 200 years ago. Much disparate information about the jewellery has been gathered together and the period isbrought alive by portraits and character sketches of famous Georgians in their finery, fashion tips, gossip, and some rather outrageous cartoons of the time, as well as fascinating recently discovered facts. With informationon how to identify, buy and repair pieces, this sumptuously illustrated volume contains the largest singlecatalogue of 18th Century jewellery.

Heavy academic tomes have already been written about the period, but this book examines it in a more colorful and accessible way. The book aims to show that Georgian jewelry is not only the stuff of museums and safe boxes, but that it can be worn as elegantly and fashionably today as it was 200 years ago. Much disparate information about the jewelry has been gathered together and the period is brought alive by portraits and character sketches of famous Georgians in their finery, fashion tips, gossip, and some rather outrageous cartoons of the time, as well as fascinating recently discovered facts. With information on how to identify, buy and repair pieces, this sumptuously illustrated volume contains the largest single catalogue of 18th Century jewelry.


หากใครที่สนใจเรื่องราวของ "เครื่องประดับจอร์เจียน" และเครื่องประดับจากยุคอื่นๆ อีกมากมาย สามารถสืบค้นหนังสือได้ที่ SEARCH ON OPAC ได้จาก https://elibrary.git.or.th/ หรือเข้ามาใช้บริการอ่านหนังสือได้ที่​ห้องสมุดอัญมณีและเครื่องประดับ​ ตั้งอยู่ที่​ชั้น​ 1​ อาคารไอทีเอฟ​ ทาวเวอร์​ ถนนสีลม​ เปิดให้บริการวันจันทร์-วันศุกร์​ เวลา​ 08.30-16.30 น.​ หยุดวันเสาร์-อาทิตย์​ ​และวันหยุดนักขัตฤกษ์​

 

We uses cookies to improve website performance. You can learn more about the use of cookies at Cookie Policy Setting Accept