หน้าหลัก

Black Diamond: มนต์เสน่ห์แห่งเพชรสีดำความงามอันลึกลับที่รอการพิสูจน์

GIT Library Admin มีนาคม 20, 2019 23,671 1,363

เพชรสีดำ (Black Diamond) จัดเป็นเพชรที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่สีดำสนิทที่เห็นนั้นเกิดจากธาตุคาร์บอน (Carbon) หรือ กราไฟท์ (Graphite) และธาตุเหล็ก (Iron) ที่ก่อตัวเป็นรูปผลึกละเอียด (มลทิน) ที่รวมตัวกันเป็นจำนวนมากในเนื้อเพชรและได้ดูดกลืนแสงภายนอกไว้ทั้งหมด ไม่กระจายแสงออกมาทำให้มีลักษณะเป็นผลึกที่ดำเป็นเงาแวววาว แต่ไม่มีประกายแบบเพชรไร้สีทั่วๆ ไป ซึ่งเพชรสีดำเหล่านี้จะไม่โปร่งแสงหากได้มองผ่านขอบอัญมณีภายใต้แสงไฟแรงสูง หากแต่จะถูกมองเห็นเป็นสีน้ำตาลหรือสีเขียวเข้ม ชาวบราซิลเรียกเพชรที่มีสีดำสนิทว่า Cabonados (คาโบนาโด) ซึ่งเป็นเพชรสีดำที่มีราคาสูงมาก เพชรสีดำที่มีคุณภาพสูงจะส่งประกายเป็นเงาแวววาวเจิดจรัส สวยงามกว่าพลอยสีดำทั่วไปและถ้าเป็นเพชรสีดำธรรมชาติโดยไม่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพจะมีราคาแพง ส่วนเพชรคุณภาพต่ำจะสีหม่นดูไม่สวยงามและสกปรกจึงนิยมถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการขุดเจาะและนำไปทำหัวเครื่องมือที่ใช้เจียระไนเพชร

Photo Credit :www.indiamart.com

เพชรสีดำกับความเชื่อโบราณ

ตามตำราอินเดียโบราณเชื่อกันว่า เพชรสีดำเป็น เพชรศูทรชาติ ถ้าใครมีไว้ครอบครองจะทำให้ร่ำรวยด้วยทรัพย์สมบัติ และเปี่ยมไปด้วยโชคลาภอันได้จากพื้นดิน โดยเฉพาะทางด้านการเกษตร ทางยุโรปโดยเฉพาะชาวกรีกและโรมันโบราณเชื่อกันว่า เพชรดำเป็นอัญมณีแห่ง ความปรองดองและการคืนดี เชื่อกันว่าสัมผัสของเพชรดำ สามารถขับไล่ความเข้าใจผิดระหว่างคู่กรณีได้ 

เพชรสีดำ: เอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร

ก่อนหน้านี้ผู้บริโภคไม่ค่อยนิยมใส่เพชรสีดำที่นำมาทำเป็นเครื่องประดับ จนเมื่อปลายศตวรรษที่ 20 ได้มีนักออกแบบเริ่มนำเพชรสีดำมาใช้ออกแบบเป็นเครื่องประดับโดย การฝังแบบจิกไข่ปลาหรือ Pave' กับเพชรไร้สีเม็ดเล็กๆ ทำให้เครื่องประดับดูมีความสวยงามแปลกตาด้วยการตัดสีระหว่างดำและขาว การนำเพชรสีดำมาทำเป็นแหวนหมั้นเพชรสีดำก็มีมาสักพักแล้ว ดังจะเห็นได้ในภาพยนต์เรื่อง Sex and the City 2 เมื่อปี 2010 โดยตอนท้ายของเรื่อง ที่ Mr. Big มอบแหวนหมั้นเพชรสีดำ 5 กะรัตล้อมด้วยเพชรไร้สีเม็ดเล็กๆ ให้กับ Carrie Bradshaw พร้อมกับคำพูดสุดคลาสสิกที่ว่า Why black? "Because you are not like anyone else" โดยแหวนหมั้นเพชรสีดำวงนี้ออกแบบโดย Itay Malkin 

Carrie Bradshaw's Black Diamond Engagement Ring in Sex and the City 2, Photo by Itay Malkin

 

Mr. Big and Carrie Bradshaw in Sex and the City 2

แหวนหมั้นเพชรสีดำได้ออกสื่อเป็นข่าวโด่งดังขึ้นอีกครั้ง เมื่อปี 2008 นางแบบและเซเลบริตี้คนดังอย่าง Carmen Electra ได้สวมแหวนหมั้นเพชรสีดำจากแฟนหนุ่ม Rob Patterson และเธอได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารพีเพิลเกี่ยวกับแหวนหมั้นเพชรสีดำของเธอว่า “It’s a black diamond, perfect for us. Different – it’s our style.”  จนทำให้เพชรสีดำมีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Carmen Electra's Black Diamond Engagement Ring, Photo by Pinterest

ความนิยมการนำเพชรสีดำมาทำเป็นเครื่องประดับก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากดีไซน์เนอร์จากหลากหลายแบรนด์ที่นำเพชรสีดำมาทำเป็นแหวนหมั้น ที่ก็สามารถเป็นสื่อแทนใจได้อย่างดีเยี่ยมและไม่ซ้ำใคร แต่หากใครที่กำลังมองหาเครื่องประดับที่มีความแตกต่าง ไม่เหมือนใครแล้วละก็ "เพชรสีดำ" ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ทั้งยังบ่งบอกถึง ความมีเสน่ห์ลึกลับ ชวนให้ค้นหา เหมาะกับเครื่องประดับสำหรับสาวๆ ที่มีเสน่ห์ ชอบความท้าทายในชีวิต

Barkev's Black Diamond Engagement Ring, Photo by Barkev's

 

ตำนานอาถรรพ์เพชรสีดำ “Black Orlov” เพชรยมฑูต

Black Orlov (แบล็ก ออร์ลอฟ) เป็นหนึ่งในตำนานของเพชรสีดำอันเลื่องชื่อของโลกที่มีประวัติว่าต้องคำสาป แต่น้อยคนที่จะล่วงรู้ถึงประวัติที่แท้จริงของเพชรสีดำ Black Orlov ที่เต็มไปด้วยความลึกลับและอาถรรพ์นี้ เพชรสีดำเม็ดนี้มีขนาด 67.50 กะรัต เป็นเพชรสีดำที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก โดยทุบการสถิติการขายเพชรสีดำ Black Orlov ที่ได้มีบันทึกไว้ครั้งแรกคือในปี 1969 ถูกประมูลไปในราคาที่น่าประทับใจถึง 300,000 เหรียญสหรัฐ และอีก 20 ปีต่อมา ในปี 1990 มีการประมูลอีกครั้งโดย Sotheby's ซึ่งขายให้กับผู้ซื้อนิรนามคนหนึ่งในราคา 99,000 เหรียญสหรัฐ ในวันที่ 11 ตุลาคม 2006 ได้ถูกประมูลเพชรอีกครั้งโดย Christie's จากป้ายราคา 100,000-200,000 เหรียญสหรัฐ แต่สามารถขายได้สองเท่าด้วยราคาถึง 352,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งหมายถึงราคา 5,214 เหรียญสหรัฐต่อกะรัตเลยทีเดียว

The Black Orlov Diamond, Photo by DeBeers

Black Orlov วันนี้มีมูลค่าเท่าไหร่?

ในปัจจุบันด้วยราคาของเพชรสีในท้องตลาดได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มูลค่าเพชรสีดำอยู่ที่ประมาณ 3,000-3,500 เหรียญสหรัฐต่อกะรัต สำหรับเพชรสีดำธรรมชาติขนาดปกติ ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 3-10 กะรัต แล้วเพชรสีดำน้ำหนัก 67.50 กะรัต อย่าง Black Orlov ที่เป็นหนึ่งในเพชรที่โด่งดังที่สุดในโลก ก็ไม่น่าแปลกใจที่ราคาประมูลจะได้มากกว่าสองเท่าของปี 2006 และถ้าหากว่าราคาของเพชรสีดำเม็ดนี้จะอยู่ 1,000,000 เหรียญสหรัฐ ก็ไม่ได้น่าประหลาดใจอะไรเลย

The Black Orlov Diamond, Photo by GIA

ประวัติความเป็นมาของ Black Orlov

เพชรสีดำ Black Orlov ว่ากันว่าเดิมเพชรเม็ดนี้มีขนาดใหญ่ถึงราว 195 กะรัต ก่อนถูกลดขนาดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง โดยตามตำนานได้กล่าวไว้ว่าได้เคยเป็นดวงตาของเทวรูปพระพรหมอันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดูในวิหารแห่งหนึ่งใกล้กับเมืองพอนดิเชอรอรี่ (Pondicherry) ในประเทศอินเดีย ถูกค้นพบในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 โดยเป็นที่รู้จักกันในนาม Eye of Brahma (เนตรแห่งพรหม) และได้ถูกขโมยออกจากดวงตาของเทวรูปศักดิ์สิทธิ์โดยนักบวชรูปหนึ่ง จนกระทั่งในปี 1932 นาย J.W. Paris ได้นำเพชรสีดำนี้เข้ามาที่สหรัฐอเมริกา และในปี 1950 ได้ถูกเปลี่ยนมือไปยังเจ้าของคนใหม่คือนาย Charles F. Wilson และได้ลดขนาดเพชรจนเหลือ 67.50 กะรัต ปัจจุบันเพชรสีดำ Black Orlov ถูกนำไปทำเข็มกลัด และล้อมด้วยเพชรน้ำหนักรวม 108 กะรัต ติดอยู่กับสร้อยคอเพชรน้ำหนักรวม 124 กะรัต ซึ่งทำให้ Black Orlov เป็นสุดยอดเครื่องประดับที่น่าประทับใจที่สุดชิ้นหนึ่ง

Black Orlov Diamond ถูกสาปหรือไม่?

น่าแปลก (หรือไม่…) มีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับเพชรที่ถูกสาปรวมถึง Black Orlov ... ว่ากันว่าหลังจากที่นักบวชได้ขโมยเพชรจากดวงตาของเทวรูปศักดิ์สิทธิ์ไปได้ไม่นานก็เริ่มมีข่าวลือว่า เพชรสีดำนี้ได้ต้องคำสาปจากเทพเจ้า โดยใครก็ตามที่ได้ครอบครองเพชร Black Orlov จะต้องพบจุดจบชีวิตที่น่าสยดสยอง หลายคนเชื่อว่านักบวชรูปนั้นก็ถูกฆ่าตายหลังจากที่ได้ไปขโมยเพชรสีดำอาถรรพ์เม็ดนี้ และผู้ที่เป็นเจ้าของเพชร Black Orlov คนต่อมาก็คือนาย J.W. Paris ไม่นานธุรกิจของเขาก็พังไม่เป็นท่า ประมาณหนึ่งปีให้หลังเขาก็กระโดดตึกฆ่าตัวตายที่ตึกระฟ้าในแมนฮัตตันหลังจากขายเพชร Black Orlov ได้ไม่นาน ต่อมานาย Charles F. Wilson พ่อค้าอัญมณีแห่งนครนิวยอร์กผู้เป็นเจ้าของเพชรสีดำนี้ในปี 1950 ก็ได้มีความพยายามในการล้างอาถรรพณ์ที่ติดมากับเพชร โดยการเจียระไนเพชรออกเป็นสามเม็ด จากนั้นเพชรถูกกระจายไปเป็นกรรมสิทธิ์ของบรรดามหาเศรษฐีและดูเหมือนว่าทุกคนจะรอดพ้นจากคำสาปอาถรรพ์นั้น

ปัจจุบันเพชรสีดำ Black Orlov ยังคงดึงดูดผู้คนทั่วโลกจากความงดงามและอาถรรพ์ของมัน จนสื่อได้ให้สมญาเพชรสีดำ Black Orlov ว่า "เพชรยมทูต" และได้อวดโฉมสู่สายตาชาวโลกโดยถูกจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกันในปี 1951 งานแสดงศิลปะ “Wonderful World of Fine Jewelry & Gifts” แห่งรัฐเท็กซัสปี 1964 และ Diamond Pavilion ที่โจฮันเนสเบิร์กแอฟริกาใต้ในปี 1967 

 

The Black Orlov Diamond, Photo by London Museum of Natural History

 

ไม่มีใครรู้ได้ว่าเพชรถูกสาปจริงหรือไม่? หรือเพชรอยู่ที่ไหนในช่วงเวลาที่นักบวชขโมยเพชรมาจนถึงช่วงเวลาสุดท้ายที่เพชรได้ตกมาอยู่ในมือของนาย J.W. Paris? เรื่องเล่าตำนานอาถรรพ์เหล่านี้ยังคงเป็นปริศนาลึกลับที่โลกอาจไม่เคยล่วงรู้ แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุดก็คือ ตำนานอาถรรพ์ของ เพชรสีดำ Black Orlov นั้นได้ช่วยเสริมให้มันเป็นอัญมณีอีกชิ้นหนึ่งเต็มไปด้วยเสน่ห์ มีพลังดึงดูด และมีความงดงามอย่างลึกลับ และยังคงเป็นหนึ่งในอัญมณีที่สวยงามและน่าสนใจที่สุดในโลกพร้อมที่จะดึงดูดให้ผู้คนได้เรียนรู้และทำความรู้จักกับเพชรสีดำเม็ดนี้

เชื่อว่าหลาย ๆ คนอาจจะเกิดความสงสัยว่า “เพชร” นั้นมีสีอื่นๆ นอกจากไร้สีด้วยเหรอ? จริงๆ แล้ว "เพชร" ไม่ได้มีแค่ไร้สีอย่างเดียวเท่านั้น แต่ว่าเพชรในธรรมชาติมีได้หลายสีที่พบมากคือ ตั้งแต่ไม่มีสี จนถึงค่อนข้างเหลือง สำหรับเพชรที่มีสีสวยงาม เช่น สีน้ำเงิน ชมพู แดง เหลืองสด และสีดำ ซึ่งเรียกว่า Fancy Color Diamond จัดเป็นเพชรที่หายากและมีราคาแพง

หากท่านใดสนใจที่จะศึกษาเกี่ยวกับเพชรสีสามารถค้นได้จากชั้นหนังสือของคอลเลคชั่น Diamonds Collection ภายในห้องสมุดอัญมณีและเครื่องประดับ โดยมีหนังสือที่เกี่ยวกับ Fancy Color Diamond ที่น่าสนใจหลายเล่มดังนี้

Collecting and classifying coloured diamonds : an illustrated study of the Aurora Collection By Stepehen C. Hofer

Fancy color diamonds : the pricing architecture By Eden Rachminov

The fancy color diamond book : facts & secrets of trading in rarieties By Eden Rachminov

 

พิกัด: ห้องสมุดอัญมณีและเครื่องประดับ ชั้น1 อาคารไอทีเอฟ ทาวเวอร์ ถนนสีลม


 

 Reference:

♦ https://4cs.gia.edu/en-us/blog/black-diamonds-what-you-need-to-know/

♦ https://www.naturallycolored.com/famous-diamonds/black-orlov-diamond

♦ https://4cs.gia.edu/en-us/blog/bewitched-black-diamonds/

♦ https://www.git.or.th/

 

URL อ้างอิง:
external-site