หน้าหลัก

CLASSIC BLUE.. จากอัญมณีสีน้ำเงินสู่นิยามสีแห่งปี 'แพนโทน 2020' ตอนที่ 2

Admin J. มกราคม 20, 2020 27,515 11

CLASSIC BLUE: THE COLOUR OF 2020 IN THE WORLD OF GEMS

จากอัญมณีสีน้ำเงินสู่นิยามสีแห่งปี  “แพนโทน 2020” (ตอนที่ 2)

เมื่อตอนที่แล้วเราได้ทำความรู้จักกับอัญมณีสีฟ้าและสีน้ำเงินไปแล้ว 5 ชนิดด้วยกัน คือ Blue Diamond (บลู ไดมอนด์), Blue Sapphire (บลู แซฟไฟร์), Blue Beryl (บลู เบริล), Blue​ Spinel (บลู สปิเนล), Blue​ Tourmaline (บลู ทัวร์มาลีน) และไคยาไนต์ (Kyanite) ในตอนที่ 2 นี้เราจะมาทำความรู้จักกับอัญมณีในโทนสีคลาสสิกบลูกันต่ออีก 6 ชนิด พร้อมส่องเทรนด์ผู้บริโภคและตัวอย่างธีมการออกแบบเครื่องประดับของปี 2020 โดยใช้อัญมณีสีฟ้าและสีน้ำเงินจากหนังสือ "JEWELRY TRENDBOOK 2020+"

Photo: GIT

Lapis Lazuli (ลาพีส ลาซูลี)

ลาพิส ลาซูลี (Lapis Lazuli) มาจากภาษาลาติน แปลว่า "หินสีน้ำเงิน" เป็นหินสีน้ำเงินสดกึ่งโปร่งใสกึ่งทึบแสง ประกอบด้วยแร่ธาตุสำคัญที่มีสีน้ำเงิน คือ แร่ลาซูไรต์ (Lazurite) และอาจมีแร่ไพไรต์สีทองอยู่ด้วย ทำให้มีความสวยงามมาก เป็นหินที่นำมาใช้ทำเป็นอัญมณีและเครื่องประดับมานานมากกว่า 6,000 โดยก่อนปี ค.ศ. 1828 เคยนำมาใช้เป็นรงควัตถุสำหรับทำสีน้ำเงิน เรียกว่า อัลตรามารีน (Untramarine) ถึงแม้ว่าลาพิสลาซูลีจัดเป็นหินไม่ใช่แร่ แต่ในทางอัญมณีถือว่าเป็นอัญมณีประเภทหนึ่ง มีความแข็ง 5-6 ตามโมห์สเกล 

Persian Lapis Lazuli (Photo: https://shop.atperrys.com)

สีของลาพีส ลาซูรี่ มีตั้งแต่สีน้ำเงินเข้มถึงปานกลาง สีน้ำเงินอมม่วง มักพบเกล็ดหรือสายสีทองของไพไรต์หรือแคลไซต์สีขาว สีน้ำเงินจะเข้มขึ้นตามปริมาณซัลเฟอร์ ส่วนคลอรีนทำให้มีสีน้ำเงินอมเขียว ลาพีสลาซูรี่คุณภาพดี ราคาสูง จะเรียกว่า เปอร์เซียนลาพิส (Persian Lapis) มีสีน้ำเงินอมม่วงเล็กน้อย มีความอิ่มตัวของสีสูง สีสดสม่ำเสมอเท่ากันทั้งเม็ด ไม่มีไพไรต์และแคลไซต์ปะปนหรืออาจจะมีเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น ซิเลียนลาพิส (Chilean Lapis) โดยทั่วไปจะไม่มีแร่คาลไซท์แต่จะมีจุดแต้มมากเกิดจาก Green Copper ถือเป็นลาพิสที่มีค่าอีกชนิดหนึ่ง และรัสเซียหรือไซบีเรียนลาพิส (Russian or Siberian Lapis) สีน้ำเงินเข้มมีแร่ไพไรท์ปะปนอยู่ ซึ่งลาพีสลาซูลีที่มีคุณภาพดีอยู่ที่อัฟกานิสถาน รองลงมาคืออาร์เจนตินา ส่วนที่พบในรัสเซียและชิลีจะมีสีน้ำเงินอ่อน ส่วนลาพีสลาซูลีจากสหรัฐอเมริกาจะมีสีน้ำเงินเข้มกว่าที่พบในแคนาดา 

Possession Open Bangle Bracelet, Piaget (Photo:https://int.piaget.com)

ชาวอียิปต์โบราณมีความเชื่อว่า ลาพิส ลาซูลี เป็นอัญมณีของเทพเจ้า มันจึงมักถูกนำมาแกะสลักเป็นรูปเคารพของเทพเจ้าต่างๆ ซึ่งเป็นที่นับถือของชาวอียิปต์ รวมถึงถูกนำไปทำเป็นเครื่องราง เช่น แกะสลักเป็นรูปแมลงปีกแข็ง (Scarab) เป็นแมลงศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชาวไอยคุปต์ว่าด้วยเรื่องของการถือกำเนิดใหม่ อีกทั้งยังถูกนำไปประดับบนโลงพระศพ ตลอดจนทำเป็นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อบรรจุในพีระมิดของฟาโรห์ผู้ล่วงลับ มีความเชื่อว่าผู้ที่ได้สวมใส่ลาพีสลาซูลี จะได้รับการปกป้องให้พ้นจากอำนาจของสิ่งชั่วร้าย ช่วยในการนั่งหรือทําสมาธิ ช่วยในการติดต่อสื่อสารทุกระดับอย่างไม่ติดขัด ชักจูงให้ตัวเองเชื่อในสัญชาตญานที่ถูกต้องของตนเอง ชักนําเพื่อนแท้เข้ามาในชีวิต ทําให้เป็นคนกล้าหาญในการเผชิญหน้าและเข้าสังคมมีความมั่นใจในตัวเอง

Two Butterfly Between the Finger Ring, Van Cleef & Arpels (Photo: www.vancleefarpels.com)


Tanzanite (แทนซาไนต์)

แทนซาไนต์ (Tanzanite) อยู่ในกลุ่มของซอยไซต์ (Zoisite) ซึ่งเป็นแร่ที่มีหลายชนิด จัดเป็นอัญมณีที่มีสีคล้ายกับไพลิน (Blue Sapphire) มาก แต่แทนซาไนต์นั้นแสดงสีแฝดที่เด่นชัดกว่า มีค่าดัชนีหักเหและความถ่วงจำเพาะที่ต่ำกว่า และเป็นอัญมณีที่แสดงสีแฝด (pleochroism) คล้ายกับไอโอไลต์ (Iolite)

Tanzanite Color Grading (Photo:www.tanzanitefoundation.com/)

แทนซาไนต์เป็นอัญมณีที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากในโลกนี้เราจะพบซาไนต์เพียงแหล่งเดียวเท่านั้น คือ แถบภูเขาเมเรลานี (Merelani Hills) ทางเหนือของประเทศแทนซาเนีย แทนซาไนต์เป็นพลอยสีน้ำเงินอีกชนิดที่ได้รับความนิยมในตลาดเป็นอย่างมาก แทนซาไนต์ที่มีราคาสูงจะมีสีน้ำเงินเข้มสดคล้ายไพลินเมื่อดูภายใต้แสงแดดและเห็นเป็นสีม่วง เมื่อดูภายใต้แสไฟสีอมส้ม คุณสมบัติทางสีของแทนซาไนท์ดูจะเป็นจุดเด่นที่สุดของพลอยชนิดนี้ เนื่องจากแทนซาไนท์เป็นพลอยไทรโครอิก (Trichroic Stone หมายถึงพลอยที่มีสี 3 สีในตัวเอง เมื่อมองจากหลายทิศทาง) จากทิศทางที่ต่างกันทำให้เห็นสีถึง 3 สี คือ สีน้ำเงิน ม่วง และสีแดงเบอร์กันดี เป็นลักษณะคล้ายๆ พลอยเปลี่ยนสีได้ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวและเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของแทนซาไนต์

Pleochrism : One Tanzanite, Many Colors (Photo:www.tanzanitefoundation.com/)

สีของแทนซาไนต์ที่นิยมกันในท้องตลาดคือสีน้ำเงินอมม่วงเล็กน้อยและต้องปราศจากมลทินและรอยแตก หรือถ้ามีควรมีน้อยที่สุดส่วนใหญ่มักผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยความร้อนเพื่อให้มีสีที่สวยขึ้น แทนซาไนท์ที่มีคุณภาพสูงสุดจะมีสีน้ำเงินอมม่วงเล็กน้อยคล้ายกับสีไพลิน อันเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ทั้งนี้จะมีสีม่วงมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับทิศทางของการเจียระไนด้วย

Tanzanite can have an intense and deep violetish blue color, GIA (Photo:www.gia.edu)

แทนซาไนต์ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในปี 1967 โดยชนเผ่ามาไซ (Maasai) ได้พบผลึกโปร่งแสงสีน้ำเงินอมม่วงบนพื้นดินแถบภูเขาเมเรลานี (Merelani Hills) ทางตอนเหนือของประเทศแทนซาเนีย “Tanzanite” เป็นชื่อทางการค้าที่บริษัททิฟฟานี่ คอมพานี (Tiffany Company) ใช้เป็นครั้งแรกสำหรับแร่ซอยไซต์ที่มีสีน้ำเงินอมม่วงนี้ โดยทิฟฟานี่ (Tiffany) อาจจะขายอัญมณีชนิดนี้ภายใต้ชื่อทางแร่วิทยาว่า “blue zoisite” ก็ย่อมได้  แต่พวกเขาคิดว่าชื่อ “Tanzanite” จะกระตุ้นความสนใจของลูกค้ามากกว่าและทำการตลาดได้ง่ายขึ้น หลังจากนั้นเพียงไม่นาน แทนซาไนท์ก็กลายเป็นอัญมณีสีน้ำเงินที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับสองรองจากไพลิน ทั้งยังมีราคาที่ถูกกว่าไพลินอีกด้วยและเป็นหนึ่งในอัญมณีที่พบได้ยาก ซึ่งนำไปสู่ความนิยมของผู้บริโภคในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ด้วยความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้เกิดจากแผนการโปรโมตที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากของ “Tiffany” และสีน้ำเงินแกมม่วงอันสวยงามของ “แทนซาไนท์” นั่นเอง โดยหนึ่งในความสำเร็จของการประชาสัมพันธ์ “แทนซาไนท์” ในภาพยนต์ “ไททานิค” สร้อยคออันเลื่องชื่อนามว่า “หัวใจมหาสมุทร (The Heart of the Ocean)” ที่นางเอกของเรื่อง “โรส” ใส่ตลอดทั้งเรื่อง โดยสร้อยคอดั้งเดิมคือสร้อยคอแทนซาไนต์รูปทรงหัวใจสีฟ้าลอนดอนบลู (London-Blue) ขนาดใหญ่ที่ล้อมรอบด้วยเพชร cubic zirconia ทรงลูกแพร์และทรงกลม ส่วนตัวเรือนทำด้วยทองคำขาว และนั่นเองที่ทำให้แทนซาไนท์กลายเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว

The Heart of the Ocean, Titanic Movie (Photo: Pinterest)

แต่ทันทีที่สร้อยหัวใจแห่งมหาสมุทรปรากฎตัวต่อสายตาสาธารณชน มันได้ดึงดูดความสนใจของผู้คนเป็นจำนวนมาก   จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างถึงการมีอยู่จริงของเพชรเม็ดดังกล่าว และด้วยเรื่องราวความเป็นมาที่คล้ายคลึงกับเพชรโฮป (Hope Diamond) จึงมีผู้สันนิษฐานว่าเจ้าหัวใจแห่งมหาสมุทรและเพชรโฮปคือเพชรเม็ดเดียวกัน อย่างไรก็ตาม James Cameron ได้กล่าวว่า เจ้าสร้อยหัวใจแห่งมหาสมุทรนี้เป็นเพียงวัตถุสมมติที่สร้างขึ้นมาจากจินตนาการ เพื่อเติมเต็มอรรถรสให้แก่ภาพยนตร์เท่านั้น เช่นเดียวกับตัวละครเอกของเรื่องอย่างแจ็คกับโรส ซึ่งทั้งหมดนี้หาได้มีอยู่จริงในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์แต่อย่างใด แทนซาไนต์เป็นอัญมณีสำหรับผู้ที่เกิดเดือนธันวาคม ร่วมกับเพทาย เทอร์คอยซ์ และบลูโทแพซ และยังเป็นอัญมณีสำหรับวันครบรอบ 24 ปี เชื่อกันว่าเป็นแทนซาไนท์ตัวแทนของความมั่นคงทั้งจิตใจและร่างกาย ความมั่นใจในตัวเอง เพิ่มเสน่ห์และความโดดเด่นในวงสังคม ความอดทนอดกลั้นสูง มีอำนาจเหนือคู่แข่ง

 

Earrings in platinum with pear-shaped tanzanites and round brilliant diamonds, Tiffany & Co.(Photo: www.tiffany.com)


Blue Topaz (บลู โทแพช)

โทแพซ (Topaz) จัดอยู่ในหมู่ซิลิเกตที่มีองค์ประกอบของอลูมิเนียม ฟลูออรีน และหมู่ไฮดรอกซิล ระบบผลึกเป็นแบบ Orthorhombic โดยทั่วไปมักพบทั้งรูปทรงปริซึมแบบแท่งยาวถึงสั้น มีหลากหลายสี เช่น สีขาว สีเหลือง-เหลืองทอง-เหลืองอมส้ม-ส้ม น้ำตาล ฟ้า ส่วนสีชมพูและแดงค่อนข้างหายาก มีความแข็งเท่ากับ 8 ตามโมห์สเกล พบมากในประเทศบราซิล รองลงมาคือ เม็กซิโก อเมริกา ศรีลังกา ญี่ปุ่น ไนจีเรีย และรัสเซีย (บริเวณแถบไซบีเรียและเทือกเขาอูราล) โดยปกติแล้วสีตามธรรมชาติของโทพาซคือสีเหลือง (Yellow Topaz) มีตั้งแต่สีน้ำตาลทองถึงสีเหลืองซึ่งเป็นลักษณะที่บางครั้งก็สับสนกับพลอยที่มีค่าน้อยกว่าซิทริน 

Blue Topaz, Photo: Terri Weimer/GIA (Photo: www.gia.org)

ส่วนมากโทแพซสีฟ้าจะผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยการอาบรังสีซึ่งมีหลายเทคนิคขึ้นอยู่กับความต้องการโทแพซให้มีสีน้ำเงินอ่อนปานกลางหรือสีน้ำเงินเข้ม เนื่องจากสีฟ้าธรรมชาติมีสีอ่อนมากและการฉายรังสีทำให้เกิดโทแพซสีน้ำเงินที่มีสีเข้มกว่าและมีสีฟ้าหลากหลายเฉดเพิ่มขึ้นมา โดยมีชื่อเรียกทางการค้าหลากหลายชื่อตามเฉดสีฟ้าและน้ำเงิน ตัวอย่างเช่น โคบอลต์บลูโทแพซ (Cobalt Blue Topaz) มีสีฟ้าแกมเทา สกายบลูโทแพซ (Sky Blue Topaz) ลอนดอนบลูโทแพซ (London Blue Topaz) มีสีน้ำเงิน สีเกิดจากการอาบรังสีนิวตรอน

Blue Topaz Color Chart
(Photo by Navneet Gems&Minerals Limited Co.; https://www.navneetgems.com/topaz/)
 

โทแพซสีน้ำเงินที่ผ่านฉายรังสีนั้นมีตั้งแต่แสงมากไปจนถึงสีฟ้าจนถึงสีน้ำเงินเข้มเกือบดำสนิท หลังจากฉายรังสีใช้เวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์ถึงจะนำออกจำหน่ายได้ บลูโทแพชที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “Swiss Blue” และ “London Blue” สองสีนี้เป็นที่นิยมในตลาด โดย Swiss Blue เป็นโทแพซสีน้ำเงินที่สดใสด้วยสีฟ้าที่สว่างถึงเข้มปานกลาง ส่วน London Blue เป็นโทแพซสีน้ำเงินเข้มที่มีโทนสีเข้มถึงเข้มมากและมีความอิ่มตัวของสี โดยสี London Blue เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคในปัจจุบันและมีราคาแพงกว่า Swiss Blue อยู่เล็กน้อย เชื่อกันว่าบลูโทแพช แสดงถึงพลังแห่งจิตใจและความรู้ ช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่นในตนเองและความสามารถในการเรียนรู้ คิดถึงแนวความคิดและเข้าใจแนวคิดที่ซับซ้อน สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เพิ่มช่วงความสนใจและช่วยให้บรรลุความสมบูรณ์แบบในโครงการและแรงบันดาลใจต่างๆ สวมใส่บริเวณลำคอ จะช่วยให้ผู้อื่นเข้าใจอย่างชัดเจนและเห็นได้ชัดถึงความคิดและความรู้สึกที่ต้องการสื่อสาร และเพื่อให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่ต้องการและในชีวิตของคนอื่น  โทแพซสีฟ้าเป็นหินที่แสดงถึงความสงบทางอารมณ์ และเหมาะสำหรับการทำสมาธิ แม้ว่าผลึกโทแพซสีฟ้าในธรรมชาติจะหายาก แต่ชิ้นสีธรรมชาติก็เหมาะที่สุดสำหรับการส่งเสริมพลังงานทางจิต

 

Blue Topaz Butterfly Ring in Sterling Silver and 18k Rose Gold, Tiffany (Photo: www.tiffany.com)


Iolite (ไอโอไลต์)

ไอโอไลต์ (Iolite) มาจากภาษากรีก “Ios” แปลว่าสีม่วงและ “Iithos” แปลว่าหิน ไอโอไลต์หรือที่เรียกในอีกชื่อว่า คอร์เดียไรต์ (Cordierlite) ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่นักธรณีวิทยาชาวฝรังเศส “เป.แอล.อา. กอดีเยร์ (P.L.A. Cordier) ที่มีบทบาทในการศึกษาไอโอไลต์ และไดครอยต์ (Dichroite) โดยเป็นชื่อตามคุณสมบัติทางแสงของไอโอไลต์ที่มีคุณสมบัติการเปลี่ยนสีคู่ ไอโอไลต์ เป็นแร่ซิลิเกตที่พบได้ในหินแปรและหินอัคนี โดยทั่วไปแล้วจะมีสีน้ำเงินหรือฟ้าอมม่วง จุดเด่นและเป็นความพิเศษของอัญมณีชนิดนี้ก็คือมีปรากฎการณ์เปลี่ยนสีหรือพลีโอโครอิซึม (Pleochroism) ที่เด่นชัดมาก หมายความว่าเมื่อมองไอโอไลต์ที่มุมหนึ่งที่ตั้งฉากกับแกนผลึกจะเห็นสีน้ำเงินม่วง แต่เมื่อมองในทิศที่ตั้งฉากกับแกนผลึกอีกมุมหนึ่งจะเห็นสีใสคล้ายน้ำ และถ้ามองในทิศทางตามแนวแกนผลึกด้านบนที่ตั้งฉากกับ 2 ทิศทางแรกจะเห็นสีเหลืองน้ำผึ้ง จึงเป็นหนึ่งในอัญมณีที่หายากที่สุดชนิดหนึ่ง ไอโอไลต์เป็นสีที่เกิดโดยธรรมชาติจึงไม่มีความจำเป็นต้องผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยวิธีการใดๆ ทั้งสิ้น และเนื่องจากทิศทางการมองของไอโอไลต์จะได้สีที่แตกต่างกัน ช่างเจียระไนจึงจำเป็นต้องรู้จักสมบัติทางแสงของไอโอไลต์ เพื่อที่จะเจียระไนไอโอไลต์ได้สีที่สวยที่สุด 

Iolite Color Chart
(Photo by Navneet Gems&Minerals Limited Co.;
 

ไอโอไลต์เป็นอัญมณีที่ผลิตได้ในปริมาณมากและราคาไม่สูงมากนักในท้องตลาด โดยมีราคาต่ำกว่าอัญมณีสีน้ำเงินชนิดอื่นๆ เช่น แซฟไฟร์และแทนซาไนต์ แต่นักอัญมณีศาสตร์ก็จัดไอโอไลต์อยู่ในกลุ่มเดียวกับอัญมณีสำคัญอื่นๆ ไอโอไลต์ที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดก็คือ ต้องสีน้ำเงินม่วงเข้มและมีมลทินน้อย ขนาดที่นำไปใช้ทำเครื่องประดับจะมีขนาดไม่เกิน 3 กะรัต ส่วนไอโอไลต์ที่มีขนาดน้อยกว่า 1 กะรัตจะมีสีน้ำเงินของท้องฟ้าหรือสีของดอก Periwinkle ไอโอไลต์ได้รับความนิยมนำไปใช้ทำเครื่องประดับในยุโรปสมัยศตวรรษที่ 18 และ 19 ซึ่งไอโอไลต์เป็นอัญมณีที่มีสีสวยงามที่เกิดตามธรรมชาติและยังเป็นอัญมณีที่ค่อนข้างใหม่สำหรับตลาดอัญมณีและเครื่องประดับ แต่ในปัจจุบันนั้นได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีคุณสมบัติสีแฝดที่เด่นชัดเป็นเอกลักษณ์ที่แปลกตาน่าทึ่ง ปัจจุบันมีการทำเหมืองไอโอไลต์ในอินเดีย ศรีลังกา แอฟริกา บราซิล โมซัมบิก พม่า เป็นต้น ไอโอไลต์ถูกนำไปทำเป็นเครื่องประดับในรูปแบบที่หลากหลาย แต่นิยมนำไปทำเป็นสร้อยคอหรือจี้มากกว่าจะทำเป็นแหวน เนื่องจากมีความเปราะบางและแตกง่าย ตามประวัติศาสตร์ไอโอไลต์เป็นอัญมณีที่ชาวไวกิ้ง ใช้เป็นเข็มทิศที่ช่วยในการเดินเรือโดยใช้หักเหมุมของแสงจากดวงอาทิตย์ ด้วยการถือชิ้นส่วนของไอโอเลทที่เจียระไนไว้อย่างเหมาะสม และตรวจสอบจากแสงสะท้อนและสีของไอโอไลต์ทำให้ลูกเรือชาวไวกิ้งสามารถระบุตำแหน่งและนำทางได้ เพราะเหตุนี้เองที่ไอโอไลท์ได้รับการขนานนามว่าเป็น “เครื่องนำทาง” ว่ากันว่าเป็นอัญมณีที่นำแสงสว่างเป็นเครื่องนำทางให้กับผู้สวมใส่ เกี่ยวกับการแสวงหาภายในของพวกเขาและค่อยๆนำคุณไปในทิศทางที่ถูกต้องเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ในชีวิตของคุณ มีความเชื่อว่าการสวมใส่ไอโอไลต์นั้นจะสามารถประโลมอารมณ์ มีสมาธิ ทำให้จิตใจสงบลง และอ่อนโยนขึ้น 

 

Iolite (Photo: https://www.jtv.com/library/gemopedia/iolite)


Blue Zircon (บลู เซอร์คอน)

เซอร์คอน (Zircon) หรือเพทาย มีองค์ประกอบทางเคมีเป็นเซอร์โคเนียมซิลิเกต (ZrSio4) มีความแข็งเท่ากับ 7.5 ของโมส์สเกล คำว่า “Zircon” มาจากภาษาอาราบิก “zargun” แปลว่า สีทอง ซึ่งจริงๆ แล้ว เพทายพบได้หลายสี เช่น แดง ส้ม เหลือง น้ำตาล ฟ้า ม่วง และเขียว แต่เพทายสีฟ้าที่เกิดจากธรรมชาตินั้นหายากเช่นเดียวกับสีม่วงแดง ทั้งยังมีประกายดีเล่นไฟคล้ายเพชรอีกด้วย ตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 มีการนำเพทายไร้สีที่เจียระไนแล้วออกขายเป็นอัญมณีเลียนแบบเพชรเพราะว่าเพทายมีการกระจายแสงได้ดีกว่าเพชรเสียอีกและยังเป็นที่คุ้นตาในเครื่องประดับในยุคโบราณ เพทายเป็นองค์ประกอบส่วนน้อยของหินภูเขาไฟโดยเฉพาะหินแกรนิต ผลึกเซอร์คอนคุณภาพเป็นอัญมณีหายากมักพบในหินเพกมาไทต์ แหล่งที่พบเพทายก็คือ กัมพูชา ศรีลังกา พม่า ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่แล้วเพทายที่ขายกันในตลาดและเป็นที่นิยมจะเป็นสีฟ้า จนทำให้มีคนเข้าใจไปว่าเป็นสีที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งความจริงแล้วเพทายสีฟ้านั้นเป็นสีที่หายาก แต่ที่พบเพทายสีฟ้าเป็นจำนวนมากนั้นได้มากจากการนำไปปรับปรุงคุณภาพด้วยความร้อน 

Blue Zircon - Cambolite (Photo: https://www.gemstone.org)

การเพิ่มคุณภาพโดยการเผาที่อุณหภูมิ 1,000 องศาเซลเซียส จะได้เพทายสีฟ้าถึงสีน้ำเงิน โดยสีของเพทายที่เป็นที่นิยมในตลาดก็คือ สีฟ้าสดเข้มอาจมีแกมเขียวเล็กน้อย เพทายแบ่งได้เป็น 3 ชนิด ตามลักษณะการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างดังนี้ 1) ชนิดสูง (high type) เป็นเพทายคุณภาพดี มีโครงสร้างสมบูรณ์ มีสีน้ำตาลแกมเหลืองถึงแกมแดง 2) ชนิดปานกลาง (intermediate type) เป็นเพทายที่มีโครงสร้างเป็นผลึกบางส่วนมีสีเหลืองแกมเขียวถึงสีเขียวแกมน้ำตาล 3) ชนิดต่ำ (low type) เป็นเพทายที่มีโครงสร้างไม่เป็นระเบียบหรือไม่เป็นผลึก ซึ่งเพทายชนิดสูงและชนิดปานกลางเมื่อผ่านความการปรับปรุงคุณภาพด้วยความร้อนจะเป็นสีฟ้า สีส้ม หรือใสไร้สี ขึ้นอยู่กับเทคนิคการเผา อุณหภูมิ และระยะเวลาที่เผา เพทายเป็นอัญมณีประจำเดือนเกิดเดือนธันวาคม เชื่อกันว่าเพทายเป็นสัญลักษณ์ของความฉลาด ในสมัยโบราณยังใช้เพทายเป็นเครื่องรางสำหรับนักเดินทางเพื่อป้องกันผู้สวมใส่จากโรคร้ายหรือการบาดเจ็บ ทำให้นอนหลับสบาย และนำมาซึ่งความมั่งคั่ง อีกทั้งความรักและความชื่นชมจากประชาชน

 

Blue Zircon, Tsavorite and Diamond Pendant, Omi Privé (Photo: www.omiprive.com)


Alexandrite (อะเลกซานไดรต์)

อะเลกซานไดรต์ (Alexandrite) หรือเจ้าสามสี เป็นหินตระกูลเดียวกับ คริโซเบริล (Chrysoberyl) คุณสมบัติเด่นของอัญมณีชนิดนี้ก็คือ เปลี่ยนสีได้ (Color Changing) ตามแหล่งของแสง เนื่องจากมีธาตุให้สีที่มีสีเขียวเมื่ออยู่ภายใต้แสงสีขาว และเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือแดงแกมม่วงเมื่ออยู่อยู่ภายใต้แสงสีส้มจากหลอดไส้ ด้วยปรากฎการณ์ที่พิเศษนี้ทำให้มีคำเปรียบเปรยถึงอะเลกซานไดรต์ว่า “Emerald by day, Ruby by night” ถือเป็นอัญมณีที่หายากและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยตั้งชื่อ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 2 ของรัสเซีย เพราะมีการค้นพบในสมัยนั้น โดยค้นพบในแถบหุบเขาอูรัล (Ural) ในปี 1830 ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของพระเจ้าซาร์ อะเลกซานไดรต์ที่พบในสหภาพโซเวียตแถมเมืองซเวิร์ดลอฟสค์ (Sverdlovsk) และแถบแม่น้ำซานาร์กา (Sanarka River) ปัจจุบันได้หมดไปแล้ว ส่วนแหล่งผลิตอะเลกซานไดรต์ที่สำคัญก็คือ ศรีลังกา มาดากัสการ์ แทนซาเนีย และบราซิล โดยสีของอะเลกซานไดรต์จะมีสีที่แตกต่างกันไปตามแต่ละแหล่งที่พบ โดยอะเลกซานไดรต์จากเหมืองเฮมาติตา ประเทศบราซิล สีจะเปลี่ยนจากน้ำเงินอมเขียวถึงสีเขียวอมเหลืองภายใต้แสงกลางวัน เป็นสีแดงอมม่วงถึงม่วงแดงในแสงจากไฟสีส้ม

Alexandrite, GIA (Photo: www.gia.edu)

อะเลกซานไดรต์ที่มีชื่อเสียงมีน้ำหนักถึง 40 กะรัตขุดได้จากเหมืองมาลีเชฟ (Malyshev) ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่ บริติช มิวเซียม (British Musuem) ส่วนอะเลกซานไดรต์ที่ใหญ่ที่สุดจากศรีลังกา มีน้ำหนักถึง 65.08 กะรัต จัดแสดงไว้ที่สถาบันสมิธโซเนียน กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. อะเลกซานไดรต์เป็นอัญมณีสำหรับเดือนมิถุนายนพร้อมกับมุกและมูนสโตน และเป็นอัญมณีสำหรับวันครบรอบแต่งงานปีที่ 55 ปีชาวรัสเซียเชื่อกันว่าอะเลกซานไดรต์เป็นอัญมณีที่บอกเหตุล่วงหน้าหรือลางสังหรณ์ได้ จึงเป็นอัญมณีชนิดเดียวเท่านั้นที่มีบทบาทสำคัญที่ใช้เป็นเครื่องรางของขลังในศตวรรษที่ 19

 

Alexandrite & Diamond 3-Stone Ring, Omi Privé (Photo: www.omiprive.com)


เทรนด์การออกแบบเครื่องประดับสำหรับปี 2020

  

JEWELLERY TRENDBOOK 2020+

แนวโน้มของการออกแบบและผู้บริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของฤดูกาล 2020 ที่กำลังจะมาถึงนี้ นักออกแบบและผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดได้ ซึ่งอัญมณีในโทนสีฟ้าหรือสีน้ำเงินที่เป็นเทรนด์การออกแบบเครื่องประดับในปี 2020 และมีสีในโทนเดียวกับ Pantone 2020 อย่างเช่น แทนซาไนต์ (Tanzanite) บลูโอปอล (Blue Opal) เทอร์คอยซ์ (Turquoise) แต่ “Blue Sapphires” ยังคงเป็นดาวเด่นและมีแนวโน้มที่จะนำมาใช้ออกแบบเครื่องประดับเพื่อเน้นถึงความเรียบง่าย อ่อนหวาน และสง่างาม ในธีมของ “CELESTIAL DREAMS” ท้องฟ้ายามค่ำคืนที่สวรรค์มอบแรงบันดาลใจให้กับนักออกแบบเครื่องประดับทั้งหลาย เนื่องจากการรอคอยของความรักของมนุษยชาติโดยอาศัยการพึ่งพา ตอบให้กับการสร้างสรรค์อันไร้ขอบเขต โดยรูปแบบจะเน้นเครื่องประดับรูปทรงของ ดวงดาว  รัศมีรอบดวงจันทร์หรือดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์ ดวงจันทร์เสี้ยว กาแลคซี่ และทางช้างเผือก เป็นแรงขับเคลื่อนจินตนาการที่ไม่เหมือนใคร ต่างหูแบบยาว สร้อยข้อมือที่วางซ้อนกัน มีความโค้งเว้า แบบ Cut-out วัสดุที่ใช้ก็จะเน้นไปที่ White and Yellow Gold, Diamonds, Enamel, Blue Sapphires, Black Diamonds, Pearls

 

Photo: Trendbook2020+

นอกจากนี้ โทนสีน้ำเงินและฟ้านั้นยังเป็น Key Colours สำหรับการออกแบบใน Subtrends ของธีม SIBYLLE อีกด้วย โดยแบ่งเป็น 3 ธีมย่อย ดังนี้ 1.REMEMBER NATURE 2.FRTUNE TELLER 3.OBFUSCATION

SIBYLLE: จิตวิญญาณคือความหรูหรา วัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปในทุกวันนี้ผู้บริโภคกำลังมองหาระบบความเชื่อใหม่ที่มีพื้นฐานมาจากภูมิปัญญาความเชื่อโบราณเพื่อเอาชนะความท้าทายส่วนบุคคล วิธีย้อนกลับไปสู่ยุคเก่ากับความเป็นสมัยใหม่สู่ยุคดิจิตอลทำให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้ต้องค้นหาเรื่องราวผ่านประเพณีวัฒนธรรมตะวันออกซึ่งเต็มไปด้วยความลึกลับและน่าสนใจ เรื่องของศาสนาจะได้รับการตีความใหม่ความเชื่อเรื่องจิตและวิญญาณจะมีมากขึ้นและมีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์

Key Colours, SIBYLLE  (Photo: Trendbook2020)

JEWELLRY TREND 2020+ (Photo: Trendbook2020)

Retrouvai,Omi Prive, Deirdre Featherstone (Photo: Trendbook2020)

สำหรับเครื่องประดับของผู้ชายนั้น ก็มีการนำอัญมณีอย่าง ลาพีส ลาซูลี่ (Lapis lazuli) หรือวัสดุที่มีสีน้ำเงินมาใช้ และมีโทนสีน้ำเงินและสีฟ้ามาเป็น Key Colours สำหรับการออกแบบเช่นกันใน Subtrends ของธีม ANOTHER MAN โดยแบ่งเป็น 3 ธีมย่อย ดังนี้ 1.ELEMENTAL 2.DOWN TO EARTH 3.NOCTURNAL

ANOTHER MAN: ทัศนคติเกี่ยวกับความเป็นลูกผู้ชายที่กำลังเปลี่ยนไป ยุคใหม่ของความเป็นชายกำลังเกิดขึ้นในเจนเนอร์เรชั่นที่เหนือกว่า เมื่อมนุษย์ที่มีความก้าวล้ำทางด้านเทคโนโลยี กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมแบบเดิม ทัศนคติเกี่ยวกับความกล้าหาญและความแข็งแกร่งในแบบผู้ชายอาจจะไม่เป็นที่ยอมรับ แต่จะแทนที่มีด้วยกฎทางสังคมแบบใหม่เพื่อสร้างมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับนิยามความเป็นลูกผู้ชายในมิติของความถูกต้องและความอ่อนแอภายในจิตใจ

Key Colours, Another Man  (Photo: Trendbook2020)

Another Man (Photo: Trendbook2020)

หนังสือแนะนำสำหรับ JEWELRY TRENDBOOK

THE JEWELLERY TRENDBOOK 2020+
Author: Paola De Luca, creative director & founder
LC Call No. : NK 7310.5 .A54 2020 v.17
Collection: Jewelry Design
 
ถอดรหัสเทรนด์อัญมณีและเครื่องประดับโลกแห่งปี 2020 หนังสือเล่มเดียวที่จะพาคุณไปเจาะเทรนด์ผู้บริโภคเครื่องประดับในอีกสองปีข้างหน้า หนังสือที่ควรอ่านถ้ายังไม่อยากตกเทรนด์ อัพเดทความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับล่วงหน้า เพื่อใช้กำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดของคุณ วิเคราะห์ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์และสังคมที่เกิดขึ้นในโลก รวมถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อแนวโน้มการพยากรณ์การค้าในอุตสาหกรรมเครื่องประดับเพื่อนำธุรกิจของคุณไปสู่อนาคตของตลาดโลกค้นพบแนวโน้มที่สำคัญของฤดูกาลที่กำลังจะมาถึงในปี 2020 เร่งพัฒนาธุรกิจของคุณให้พร้อมรับการแข่งขันและอยู่เหนือคู่แข่งเสมอ  แล้วคุณจะก้าวสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับได้อย่างไร? THE JEWELLERY TRENDBOOK 2020+ มีคำตอบให้คุณ
 

หนังสือ JEWELRY TRENDBOOK เล่มอื่นๆ ที่น่าสนใจ

และมีหนังสือเล่มอื่นๆ เกี่ยวกับ  JEWELRY TRENDBOOK อีกมากมายซึ่งสามารถหาอ่านได้ที่ชั้นหนังสือ JEWELRY DESIGN COLLECTION ภายในห้องสมุดอัญมณีและเครื่องประดับ หรือสืบค้นได้ที่ https://opac.git.or.th/Search_Basic.aspx หรือ https://elibrary.git.or.th

พิกัด: ห้องสมุดอัญมณีและเครื่องประดับ ชั้น1 อาคารไอทีเอฟ ทาวเวอร์ ถนนสีลม

URL อ้างอิง: https://www.trendvisionforecasting.com/