CONCH PEARL: ไข่มุกสีพาสเทลที่หายากและราคาแพงที่สุดในโลก
THE A-Z OF JEWELRY: C IS FOR... CONCH PEARLS
สีชมพูพาสเทลแสนสวยและริ้ว “เปลวไฟ” ดั่งเกลียวคลื่นที่เปล่งประกายบนผิวอันเป็นเอกลักษณ์ของ คอนช์เพิร์ล อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ไข่มุกชนิดนี้หายากและมีราคาสูงลิบลิ่วในตลาดอัญมณี
เมื่อความนิยมของไข่มุกธรรมชาติทุกสายพันธุ์ที่กลับมาได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น อันเนื่องมาจากความงดงามอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของไข่มุกแต่ละสายพันธุ์ อีกทั้งยังมีผู้ที่พบเจอกับไข่มุกแปลกๆ อยู่บ่อยครั้งจึงทำให้กลายเป็นกระแสขึ้นมาอีกครั้ง ดั้งนั้นเราจะพาคุณไปไขความลับของสมบัติอันล้ำค่าแห่งท้องทะเลเหล่านี้
คอนช์เพิร์ลคืออะไร?
คอนช์เพิร์ล (Conch Pearl) หนึ่งในไข่มุกที่หายากและมีราคาแพงที่สุดในโลก เป็นไข่มุกธรรมชาติที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวเช่นเดียวกับไข่มุกเมโล (Melo Pearl) และไข่มุกหอยมือเสือ (Giant Clam)


คอนช์เพิร์ลเกิดขึ้นได้อย่างไร?
กระบวนการเกิดคอนช์เพิร์ลนั้นจะเกิดในเนื้อเยื่อของหอยสังข์ เมื่อมีเศษทรายเล็กๆ หรือสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในตัวของหอยและเกิดการระคายเคือง หอยสังข์จะหลั่งสารชั้นมุกมาล้อมรอบสิ่งแปลกปลอมนั้นไว้ มีลักษณะเป็นชั้นผลึกที่เป็นเส้นๆ ค่อยๆ กลายเป็นไข่มุก ซึ่งคอนช์เพิร์ลจะต่างจากไข่มุกชนิดอื่นๆ คือจะไม่มีความแวววาวของสีรุ้งแบบมุกทั่วไปแต่จะมีลักษณะริ้วแบบ “เปลวไฟ” เหมือนคลื่นที่เปล่งประกายบนพื้นผิว ยิ่งถ้ามีเปลวไฟที่เข้มและชัดเจนมากเท่าไร คอนช์เพิร์ลก็จะมียิ่งมีค่ามากขึ้นเท่านั้น คอนช์เพิร์ลที่ดีจะมีลักษณะเป็นรูปวงรี สีที่ได้ก็จะมีตั้งแต่สีขาว เบจ เหลือง แดง ส้ม น้ำตาล และชมพู ส่วนคอนช์เพิร์ลสีช็อคโกแลตนั้นหายากที่สุด แต่สีที่พบเห็นกันมากที่สุดในตลาดคือโทนสีชมพู ชมพูแซลมอน และมีความอิ่มตัวของสีชัดเมื่อส่องกับแสงไฟ อย่างไรก็ตาม คอนช์เพิร์ล ไม่สามารถผลิตได้ด้วยการเพาะเลี้ยงซึ่งหมายความว่า ไข่มุกชนิดนี้จะสามารถพบเจอและเกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติเท่านั้น

แล้วทำไมคอนช์เพิร์ลถึงหายาก?
ในโลกที่เต็มไปด้วยไข่มุกเลี้ยงจนล้นตลาด ไข่มุกธรรมชาตินั้นเกิดขึ้นโดยปราศจากการแทรกแซงของมนุษย์และมาพร้อมกับคำว่า “หายาก” ทำให้เป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้น เฉกเช่นเดียวกับอัญมณีชนิดอื่นๆ จะดูมีค่าและราคาแพงมากยิ่งขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว ถ้าอัญมณีนั้นๆ เป็นอัญมณีที่มาจากธรรมชาติไม่ได้เกิดจากมนุษย์ทำขึ้น จริงอยู่ที่คอนช์เพิร์ลนั้นมาจากธรรมชาติและหายาก เนื่องจากหอยสังข์ 10,000 ตัว จะพบหอยที่มีมุกเพียง 1 ตัวเท่านั้น และมีเพียงแค่ 1 ใน 100 เม็ดที่พบจะมีคุณภาพระดับที่ใช้เป็นอัญมณีได้ มีหลายเฉดสีแต่ส่วนใหญ่มีสีชมพู และมีขนาดเล็กกว่า 3 มิลลิเมตร ในหอยสังข์ประมาณ 10-15,000 ตัว จะพบไข่มุกที่สามารถนำไปทำเป็นอัญมณีได้ไม่ถึง 10% ที่เป็นอัญมณีที่มีคุณภาพดี เมื่อรวมกับไข่มุกหอยสังข์ที่มีสีในเฉดอื่นๆ ก็ยิ่งทำให้ไข่มุกหอยสังข์นั้นเป็นที่ต้องการอย่างยิ่ง
ในช่วงทศวรรษที่ 1930 เชื่อกันว่านักวิจัยทางชีววิทยาชื่อ La Place Bostwick ได้ทำการทดลองเพาะเลี้ยงไข่มุกหอยสังข์ และมีรายละเอียดในบทความต่างๆ ปรากฎออกมาในขณะนั้น แต่ก็ไม่มีรายงานเรื่องนี้อีกเลย และไม่เคยมีหลักฐานที่แน่ชัดเพื่อพิสูจน์ว่าการเพาะเลี้ยงประสบความสำเร็จหรือไม่
ในปี 2009 นักวิทยาศาสตร์จากสถาบัน Harbor Branch Oceanographic Institute ณ มหาวิทยาลัย Florida Atlantic University ได้ทำการวิจัยการเพาะเลี้ยงมุกจากหอยสังข์ได้สำเร็จโดยใช้เวลาไม่ถึง 2 ปี ก็สามารถผลิตคอนช์เพิร์ลได้มากกว่า 200 เม็ด หลังจากความสำเร็จนี้ในปี 2012 ก็มีรายงานว่านักวิทยาศาสตร์ที่ FAU กำลังวางแผนทำโครงการที่จะเพาะเลี้ยงไข่หอยสังข์เพิ่มเติมอีกเป็นจำนวนมาก แต่ผลลัพธ์ขั้นสุดท้ายในเรื่องของการทำการตลาดก็ยังคงพิสูจน์ได้ยาก
สี ขนาด และรูปทรงของคอนช์เพิร์ล
สีของคอนช์เพิร์ล มีหลายสีตั้งแต่สีขาว สีเบจ สีทอง สีน้ำตาล และสีชมพูยอดฮิตก็มีหลายเฉดแตกต่างกันไป เรียกกันว่า “Pink Pearl” ส่วนไข่มุกหอยสังข์สีช็อคโกแลตนั้นหายากที่สุดตามด้วยสีขาว ในขณะที่สีน้ำตาลอมเหลืองที่มักเรียกกันว่า “Golden” อย่างไรก็ตามไข่มุกหอยสังข์ที่นิยมที่สุดตลอดกาลคือ สีชมพู มีตั้งแต่สีชมพูอ่อน ชมพูแซลมอน ไปจนถึงสีชมพูเข้มจนแดง แต่คอนช์เพิร์ลอันเป็นที่ต้องการมากที่สุดคือคอนช์เพิร์ลสีชมพูที่มีริ้ว “เปลวไฟ” บนผิวที่ชัดเจน สีของไข่มุกหอยสังข์นั้นจะเป็นไปตามสีของเปลือกหอยซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในระยะต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม หรืออาหารที่มันกินเข้าไป ยกตัวอย่างเช่น ไข่มุกหอยสังข์สีเหลืองมักพบในหอยสังข์เล็กๆ บางชนิด ที่มีเปลือกสีเหลือง แม้ว่าไข่มุกหอยสังข์สีชมพูจะพบเห็นได้ทั่วไป แต่ไข่มุกหอยสังข์สีอื่นๆ ก็สามารถสร้างความงดงามและเป็นเอกลักษณ์ได้เช่นกัน ในปี 1995 เมื่อแบรนด์ Hemmerle ได้ออกแบบเข็มกลัดแมงมุมทารันทูล่า โดยออกแบบให้ท้องของแมงมุมนั้นใช้คอนช์เพิร์ลสีดาร์กบราวน์ ที่มีน้ำหนักมากถึง 111.76 กะรัต ซึ่งเป็นคอนช์เพิร์ลสีน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุดและหายากที่สุดเท่าที่เคยพบมา

รูปทรงของคอนช์เพิร์ล ไข่มุกที่ได้คุณภาพระดับเจมส์ควอลิตี้มักมีรูปทรง “วงรี” ซึ่งสามารถนำไปใช้ทำเป็นอัญมณีได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่พบได้หลากหลายรูปแบบตั้งแต่รูปทรงธรรมชาติถึงทรงกลม แต่มีน้อยมากที่จะเป็นทรงกลมอย่างสมบูรณ์แบบ โดยรูปทรงที่เป็นวงรีรูปไข่สมมาตรจะเป็นที่ต้องการมากที่สุด

ขนาดของคอนช์เพิร์ล ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องยากในการหาคอนช์เพิร์ลที่มีขนาดใหญ่เกิน 3 มิลลิเมตร และคอนช์เพิร์ลที่มีน้ำหนักมากกว่า 10 กะรัตนั้นถือว่าเป็นไข่มุกที่มีลักษณะพิเศษ โดยในปี 1905 Henry Walters ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปะ Walters ในบัลติมอร์ ได้ซื้อสร้อยคอเส้นยาวจาก Tiffany & Co. ให้หลานสาวของเขา Laura Delano ซึ่งเป็นคอนช์เพิร์ลสีชมพูขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนัก 3.64 กรัมหรือ 23.50 กะรัต ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวอย่างของคอนช์เพิร์ลที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเวลานั้น และในปี 2015 นักอัญมณีชาวสวิสและเจ้าของแบรนด์ “Boghossian” ได้ออกแบบสร้อยคอซึ่งประกอบด้วยไข่มุกหอยสังข์สีชมพู จำนวน 32 เม็ด โดยมีน้ำหนักถึง 23.97 กะรัต


มูลค่าของคอนช์เพิร์ล
ขนาด รูปทรง สีสัน และเอฟเฟกต์เปลวไฟจะเป็นตัวกำหนดมูลค่าของคอนช์เพิร์ล “ราคาของไข่มุกนั้นแตกต่างกันจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความหายาก” ไข่มุกที่มีคุณภาพในระดับดีเลิศปัจจุบันก็มีราคาสูงถึง 15,000 เหรียญต่อกะรัตแต่จะเป็นไข่มุกที่หายากเป็นพิเศษ ไข่มุกหอยสังข์คุณภาพสูงมักมีราคาที่ประมาณ 4,000 - 7,000 เหรียญต่อกะรัต และไข่มุกที่อยู่ในระดับดีแต่ไม่ถึงกับดีมากจะอยู่ที่ประมาณ 2,000 - 3,000 เหรียญต่อกะรัต

คอนช์เพิร์ลที่ใหญ่ที่สุดในโลก
หนึ่งในไข่มุกหอยสังข์ที่รู้จักกันดีที่สุดในประวัติศาสตร์ที่มีขนาดใหญ่ถึง 45 กะรัต นั่นก็คือเซตสร้อยคอคอนช์เพิร์ลทรงลูกแพร์สีชมพูแดงจากแบรนด์ แฮร์รี วินสตัน (Harry Winston) ที่ผลิตในปี 1980 ต่อมาภายหลังได้ถูกขายไปให้กับ ลิซเทย์เลอร์ หรือ เอลิซาเบธ เทย์เลอร์ (Elizabeth Taylor) เธอใช้สวมใส่เพื่อถ่ายแบบลงหน้าปกของนิตยสารฉบับหนึ่งในปี 1990 ก่อนที่จะขายและถูกประมูลเปลี่ยนมือไปหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งจนทุกวันนี้ก็ไม่ทราบว่าสร้อยคอเส้นนี้อยู่ที่ไหน

คอนช์เพิร์ลกับการออกแบบเครื่องประดับ
ยังไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีชี้ชัดว่า "คอนช์เพิร์ล" ถูกนำมาใช้ทำเป็นเครื่องประดับเมื่อใด ในสมัยโบราณหอยสังข์ได้รับการยกย่องจากชาวอินคาว่าเป็นสัญลักษณ์ของเสียงแห่งเหล่าทวยเทพมาตั้งแต่อารยธรรมยุคแรกๆ ถือเป็นสัญลักษณ์ของเทพเจ้า จึงเป็นเหตุผลที่ว่าไข่มุกหอยสังข์และไข่มุกธรรมชาติอื่นๆ นั้นได้ถูกนำมาใช้ทำเป็นเครื่องประดับ
ในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย (ค.ศ. 1837-1901) เปลือกของหอยสังข์ก็ถูกนำเข้ามาในยุโรป เพื่อสำหรับใช้ในการผลิตเครื่องลายคราม แกะสลักเป็นจี้ และสำหรับสะสมเป็นวัตถุโบราณ ช่างแกะสลักจี้ชาวอิตาลีชอบใช้เปลือกหอยสังข์เนื่องจากมีโทนสีชมพูอ่อนๆ สวยงาม
ความนิยมคอนช์เพิร์ลเริ่มมีให้เห็นในยุคปลายวิคตอเรียและเอ็ดเวิร์ด ที่มักจะเรียกกันว่า “ไข่มุกสีชมพู” โดยเครื่องประดับที่โดดเด่นจากยุคนี้คือเข็มกลัดคอนช์เพิร์ลของควีนแมร์รี่ (Queen Mary) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการที่มีชื่อว่า “The Allure of Pearls” ณ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติสมิธโซเนียนในปี 2005 เข็มกลัดที่ประดับด้วยคอนช์เพิร์ลธรรมชาติสีชมพูสองเม็ดน้ำหนัก 24.90 และ 28.10 กะรัต เป็นเข็มกลัดได้รับการออกแบบโดย Crown Jeweler ซึ่งปัจจุบันก็คือ Garrard & Co. และเครื่องประดับคอนช์เพิร์ลที่สำคัญในสมัยเอ็ดเวิร์ดแบบดั้งเดิมอีกชิ้นหนึ่งก็คือจี้และสร้อยคอคอจากแบรนด์ Tiffany & Co. แต่ไม่ใช่เครื่องประดับคอนช์เพิร์ลในยุคนี้ทั้งหมดที่ออกแบบให้จัดวางด้วยอัญมณีที่มีขนาดใหญ่ แต่เพราะรูปทรงของไข่มุกนั้นเหมาะอย่างยิ่งกับการเป็นอัญมณีที่นำมาใช้ในการออกแบบเครื่องประดับสไตล์อาร์ตนูโวอันเป็นที่นิยมในยุคนั้น และถูกนำมาใช้บ่อยๆ เพื่อใช้ทำเป็นเกสรสำหรับการออกแบบเครื่องประดับที่เป็นการเลียนแบบธรรมชาติ อย่างเช่น ดอกไม้


การฟื้นคืนความนิยมของคอนช์เพิร์ล
เจ้าของและนักสะสมคอนช์เพิร์ลที่มีชื่อเสียง
อลิซาเบธ เทย์เลอร์ นักแสดงหญิงยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาลของโลก ที่ได้สวมเซตสร้อยคอและต่างหูคอนช์เพิร์ลจากแบรนด์ แฮร์รี่ วินสตัน ถ่ายแบบลงในนิตยสารฉบับหนึ่งเมื่อปี 1990 และนักแสดงฮอลลีวูดชื่อดังอย่างแบรด พิตต์ ที่ซื้อคอนช์เพิร์ล จากนักอัญมณีชาวอิตาเลียน “Damiani” ให้กับ เจนนิเฟอร์ อนิสตัน อดีตภรรยาของเขา ในขณะที่ Manuel Marcial de Gomar จาก Emeralds International ได้สารภาพว่าเขาเป็นแฟนตัวยงของคอนช์เพิร์ล และได้รับการยกย่องให้เป็นผู้ทรงอิทธิพลคนนึงของโลกในเรื่องคอนช์เพิร์ล และในปี 2009 เขาได้เปิดตัว “Conch Pearl Color Description Guide” เพื่อเป็นคู่มือสำหรับช่วยให้ตัวแทนจำหน่ายในอุตสาหกรรมอัญมณีประเมินราคาคอนช์เพิร์ลได้ดีขึ้น
หนังสือแนะนำสำหรับ CONCH PEARL
หนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวถึงความสวยงามตามธรรมชาติของ "ไข่มุกสีชมพู" สมบัติล้ำค่าแห่งทะเลแคริบเบียน ไข่มุกสีชมพูสีพาสเทลที่สวยงามที่ได้จากหอยสังข์ราชินีและไม่มีสิ่งใดเทียบได้ในโลก ทั้งยังมีความหายากเพราะโดยเฉลี่ยหอยสังข์ 10,000 ตัว จะพบหอยที่มีมุกเพียง 1 ตัวเท่านั้น ซู เฮ็นดริคสัน นักดำหญิงน้ำมืออาชีพได้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ของเธอ เพื่อรวบรวมเรื่องราวไข่มุกสีชมพูนี้ ซึ่งถูกค้นพบโดยนักจับปลาชาวแคริบเบียน
หนังสือ CONCH PEARLS เล่มอื่นๆ ที่น่าสนใจ
♦ Pearl gemology & buying guide: everything you need to know about pearl
และมีหนังสือเล่มอื่นๆ เกี่ยวกับ “มุกและเครื่องประดับมุก” อีกมากมายซึ่งสามารถหาอ่านได้ที่ชั้นหนังสือ ORGANIC GEM COLLECTION และ JEWELRY DESIGN COLLECTION ภายในห้องสมุดอัญมณีและเครื่องประดับ หรือสืบค้นได้ที่ https://opac.git.or.th/Search_Basic.aspx หรือ https://elibrary.git.or.th
พิกัด: ห้องสมุดอัญมณีและเครื่องประดับ ชั้น1 อาคารไอทีเอฟ ทาวเวอร์ ถนนสีลม
Reference:
- The A-Z of Jewelry: C is for... Conch Pearls
- 5 Things to Know About … Conch Pearls
- Conch Pearls History
- ครั้งแรกของการผลิตมุกเลี้ยงจากหอยสังข์
- Conch pearls: what are they and why are they so rare?
- ARAYA HARGATE SHINED IN CHOPARD ON THE CANNES RED CARPET
- Conch Pearl: Everything You Need To Know!