หน้าหลัก

5 จิวเวลรี่สุดหลอน ต้อนรับวันฮาโลวีน

Admin J. ตุลาคม 20, 2023 20,808 27

ต้อนรับเทศกาลวันปล่อยผีอย่าง "วันฮาโลวีน" มาเพิ่มดีกรีบรรยากาศแห่งความสยองนี้ ด้วยการพาไปชมเครื่องประดับโบราณ และเครื่องประดับวินเทจที่มีดีไซน์ชวนขนลุก โดยเสน่ห์แห่งความน่าสะพรึงนี้อาจทำให้หลายๆ คนหลงใหลในความน่ากลัวของมัน อาจไม่ได้อยู่ที่รูปลักษณ์ แต่อาจเป็นความเก่าแก่ที่ผลิตมานานหลายร้อยปี ความทรงจำอันแสนเจ็บปวด ประวัติศาสตร์ และตำนานต่างๆ ที่ยิ่งเพิ่มความหลอนได้เป็นทวีคูณ

ซอมบี้คลั่ง 

เริ่มต้นความสยองด้วยต่างหูหัวตัวตลกซอมบี้สุดฮิตจากเว็บ Etsy งานแฮนด์เมดสุดสยองที่แต่ละชิ้นปั้นด้วยมือและสร้างขึ้นด้วยความรัก.... เลือด หยาดเหงื่อ และน้ำตา! วัสดุทำจากแก้วอย่างดีในสไตล์วินเทจ โดยผู้ที่ออกแบบใส่ใจในรายละเอียดในการทำเป็นอย่างมาก ดวงตาที่มีแต่ตาขาวไม่เห็นตาดำ ลายแตกบนหน้าที่ยับเยิน และฟันนั้นวิเศษมาก ขนาดที่สมบูรณ์แบบ เล็กแหลมพร้อมที่จะขย้ำทุกสิ่งที่ขวางหน้า นอกจากนี้ยังมีสีสันสดใส สมจริง สวยงามน่าขนลุกและไม่เหมือนใคร

Dirty Hobo Clown Zombie Head Earrings
Photo Credit : Zombie Head

เด็กคู่ชวนสยอง

ต่างหูดีไซน์เด็กคู่ชวนฝันร้าย​ ดวงตาเบิกโพลง รอยยิ้มที่ดูเย็นชา และท่าทางการเอียงคอที่น่าขนลุก ต่างหูคู่นี้ทำจากทอง 14k ดวงตาประดับเพชร และกระดุมประดับทับทิม ผลิตประมาณปี 1980 ถึง 1990 จาก เว็บไซต์ Trademark Antiques แขนและขาของน้องขยับได้ เคลื่อนไหวตามแรงสั่นสะเทือน ซึ่งช่วยเพิ่มความหลอนได้เป็นอย่างดี ควรให้ใครสักคนมัดแขนขาเหล่านั้นเข้าด้วยกันก่อนที่เด็กน้อยทั้งสองนี้จะกระโดดออกจากกล่องเครื่องประดับของคุณในตอนกลางคืนและเริ่มเดินไปรอบๆ โดยไม่ได้รับการดูแล!!

Vintage Earrings
Photo Credit : Trademark Antiques

ตัวตลกนักฆ่า

เข็มกลัดตัวตลกฝังเพชรและทับทิมเจียระไนแบบโบราณในตัวเรือนเงินและทอง 18k มีตรารับรองแบบฝรั่งเศส (hallmark) ผลิตประมาณปี 1800 ถึง 1830 และกำลังถือมีดอยู่ในมือ!! ใครที่ไม่ชอบตัวตลกสไตล์นี้อาจหวาดผวาได้ เพราะภาพความน่ากลัวของตัวตลกที่แสยะยิ้มชวนสยอง จากภาพยนตร์เรื่อง "It" ของ Stephen King (สตีเฟน คิง) จะตามหลอกหลอนคุณทันที ซึ่งก็น่าแปลกใจที่เข็มกลัดที่มีอายุย้อนไปถึงปี 1800 จะแสดงภาพตัวตลกที่น่ากลัวเช่นนี้ได้  เชื่อกันว่าเข็มกลัดตัวตลกตัวนี้เป็นตัวแทนของ Pierrot (ปิแอร์โรต์) ตัวตลกชื่อดังของฝรั่งเศสในช่วงต้นทศวรรษ 1800  โดย Pierrot เป็นศิลปินละครใบ้ที่มีนามว่า Jean-Gaspard Deburau (ฌอง แกสปาร์ด เดบูเรา) เขาทาใบหน้าด้วยสีขาว ปากสีแดง เขียนคิ้วดำสนิท มีใบหน้าที่ดูเศร้า แต่มีพฤติกรรมชั่วร้ายและบางครั้งก็กวัดแกว่งมีดไปมา โดยในปี 1836 Deburau ได้สังหารเด็กชายคนหนึ่งด้วยการใช้ไม้ทุบตีอย่างทารุณ หลังจากที่ถูกเด็กชายคนนั้นล้อเลียนด่าทอเขาที่ริมถนน และด้วยเหตุนี้แนวคิดของตัวตลกนักฆ่าจึงถือกำเนิดขึ้น

An Antique Diamond and Ruby Clown Pin
Photo Credit : Trademark Antiques

เครื่องประดับแห่งความตาย

ชุดเครื่องประดับไว้ทุกข์ในยุควิคตอเรียน มีตั้งแต่สร้อยข้อมือที่ทำจาก French Jet (แก้วสีดำ) สร้อยคอและเข็มกลัดแก้ว Vauxhall (วอกซ์ฮอลล์) โดยแก้ว Vauxhall ถูกผลิตขึ้นครั้งแรกที่โรงงานผลิตเครื่องแก้ว ซึ่งตั้งอยู่ย่าน Vauxhall เมือง Lambeth ในลอนดอน ตลอดศตวรรษที่ 18 และกลางศตวรรษที่ 19 แก้ว Vauxhall ถูกนำมาใช้ทดแทนอัญมณียอดนิยมต่างๆ มีเฉดสีเข้ม เช่น สีม่วง ส้ม แดง เขียว และน้ำเงิน  นำมาใช้ตกแต่งเป็นลวดลายผีเสื้อ เกล็ดหิมะ และดอกไม้บนสร้อยคอ สร้อยข้อมือ ต่างหู เข็มกลัด  และหวีสับ เครื่องประดับไว้ทุกข์เซตนี้ อาจมองดูแล้วธรรมดา เรียบๆ แต่ว่ามีมนต์ขลังของ “สีดำ” ที่ให้ความรู้สึกที่หม่นหมอง มืดมิด โศกเศร้า และสูญเสีย ซึ่งในแง่มุมของการไว้ทุกข์นั้น คุณอาจจะจมดิ่งกับความทุกข์ที่มากขึ้น เมื่อคุณเพ่งมองเครื่องประดับไว้ทุกข์เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นความทรงจำต่างๆ มากมายที่ทั้งสุขและทุกข์ ความรัก ความอาลัย ที่มีต่อผู้จากไปนั้น ราวกับว่าความเศร้าโศกทั้งหมดได้ถูกฝังเอาไว้อยู่ในเครื่องประดับเหล่านี้ไม่จากไปไหน

Mourning Jewelry
Photo Credit: IG zanathia_antiques

แต่ถ้ายังชวนขนลุกไม่พอ ยังมีเครื่องประดับไว้ทุกข์ที่ทำจาก “เส้นผม” เป็นการนำเส้นผมของผู้ล่วงลับนำมาถักทอเป็น สร้อยคอ จี้ เข็มกลัด ต่างหู สร้อยข้อมือ หรือบรรจุลงในล็อกเกตหรือแหวน แม้แต่พระราชินีนาถวิคตอเรียก็ยังสวมล็อกเกตที่บรรจุเส้นผมของเจ้าชายอัลเบิร์ตไว้ติดพระศอของพระองค์ เครื่องประดับสไตล์นี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมาก และสามารถออกแบบหรือทำเองได้ง่ายๆ แต่ในปี ค.ศ. 1901 หลังจากการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เครื่องประดับไว้ทุกข์ที่ทำจากเส้นผมนี้ก็ค่อยๆ ลดความนิยมลง แม้ว่าเครื่องประดับสไตล์นี้อาจดูแปลกตาไปสักหน่อย แต่สำหรับผู้คนในยุควิกตอเรียแล้ว เครื่องประดับประเภทนี้เป็นวิธีการไว้ทุกข์ที่ดีที่สุดในการอยู่ใกล้ชิดกับบุคคลที่รักมากที่สุด

A Small Gold Mourning Locket for Albert, 1861
Photo Credit:https://www.rct.uk

โฮปไดมอนด์

เมื่อพูดถึงอัญมณีที่ชวนขนลุกหนึ่งในชิ้นที่โด่งดังที่สุดก็คือ "Hope Diamond" (โฮปไดมอนด์) เพชรสีน้ำเงินที่ยืนหนึ่งเรื่องความอาถรรพ์และต้องคำสาปร้ายมาหลายชั่วอายุคน หากใครที่ได้ครอบครองก็ต้องมีอันเป็นไปหรือประสบเคราะห์กรรมทุกราย ซึ่งเชื่อกันว่ามีพลังงานด้านลบล้อมรอบเพชรเม็ดนี้นับตั้งแต่ถูกครอบครองโดยชาวตะวันตก เมื่อ Jean Baptiste Tavernier (ฌอง-บาติสต์ ตาแวร์นิเยร์) พ่อค้าชาวฝรั่งเศส ซื้อเพชรดิบขนาด 112 กะรัต คาดว่าเพชรเม็ดนี้น่าจะมาจากเหมือง Kollur (กอลลูร์) ในเมือง Golconda (กอลคอนดา) ประเทศอินเดีย ต่อมา Tavernier ได้ขายเพชรเม็ดนี้ให้กับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสในปี 1668 พร้อมด้วยเพชรขนาดใหญ่อีก 14 เม็ด ในปี 1673 ถูกนำมาเจียระไนใหม่โดย Sieur Pitau (เซียร์ พิเตา) ช่างทำอัญมณีในราชสำนัก กลายเป็นที่รู้จักในชื่อ “Blue Diamond of The Crown” หรือ  “French Blue” ประดับด้วยทองคำ และได้นำมาประดับสายสะพายสอิสริยาภรณ์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ต่อมาในปี 1749 พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ทรงนำมาออกแบบใหม่โดยทำเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขนแกะทองคำ (Toison D'Or) และมอบหมายให้ Andre Jacquemin (อันเดร แจ็คเคามิน) ช่างทำอัญมณีในราชสำนักเป็นผู้ออกแบบ

Hope Diamond
Photo Credit: https://www.telegraph.co.uk

เชื่อกันว่าเรื่องราวต้องคำสาปของเพชรเม็ดนี้ได้ถือกำเนิดขึ้น เมื่อเพชรเม็ดนี้ได้ตกทอดมายังพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 อย่างที่ทราบกันดีว่าในยุคปฏิวัติฝรั่งเศสพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กษัตริย์แห่งฝรั่งเศส ถูกตัดสินประหารด้วยกิโยติน ก่อนที่ฝรั่งเศสจะเข้าสู่ความโกลาหล การนองเลือด เป็นจุดสิ้นสุดของราชวงค์ฝรั่งเศส ซึ่งพระองค์ก็เป็นผู้ครอบครองเพชรเม็ดนี้ หลังจากการประหาร ในปี 1792 เพชรถูกขโมยไปและหายไปประมาณ 20 ปี จนกระทั่งในปี 1812 เพชร “French Blue” ได้ปรากฎตัวขึ้นอีกครั้ง และอยู่ในการครอบครองของ Daniel Eliason (แดเนียล เอลิอาสัน) พ่อค้าเพชรในลอนดอน โดยมีหลักฐานบ่งชี้ว่าเพชรเม็ดนี้เป็นเพชรเม็ดเดียวกับ เพชร “French Blue” ที่สาบสูญไป และเป็นที่รู้จักในปัจจุบันในชื่อ “Hope Diamond” ข้อมูลอ้างอิงหลายฉบับชี้ให้เห็นว่าพระเจ้าจอร์จที่ 4 แห่งอังกฤษ เมื่อได้เพชรเม็ดนี้มา พระองค์ก็ใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายจนเกือบทำให้ราชบังลังก์ต้องล้มละลาย หนี้ของพระองค์มีมากมายมหาศาลถึงขั้นต้องขายเพชรสีน้ำเงินเพื่อชำระหนี้

นอกจากนี้ ผู้ที่ครอบครอง “Hope Diamond” ก็ได้ประสบเคราะห์ร้ายอีกหลายต่อหลายคน อย่าง Henry Philip Hope (เฮนรี ฟิลิป โฮป) ผู้โด่งดังและเป็นที่มาของชื่อ “Hope Diamond” ตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในอังกฤษแต่เมื่อได้เพชรนี้มาครอบครองก็ต้องล้มละลาย และต้องขายเพชรไปเพื่อชำระหนี้ โดยในปี 1901 Joshep Frankel (โจเซฟ แฟรงเคิล) จากนิวยอร์กซิตี้ เจ้าของเพชรคนถัดมาจากตระกูลโฮป ได้ซื้อเพชรเม็ดนี้มาเพื่อหวังว่าจะขายทำกำไร แต่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทำให้บริษัทของเขาใกล้จะล้มลาย โดยทาง New York Times ได้กระพือข่าวว่าเพชรเม็ดนี้มีส่วนต่อการล้มละลายของแฟรงเคิล จนกลายเป็นกระแสในทันทีถึงความอาถรรพ์ และเพชรได้ถูกขายต่อให้กับ Selim Habib (เซลิม ฮาบิบ) ซึ่งนำไปประมูลที่ปารีสในปี 1909 มันไม่ได้ขายในการประมูล แต่ถูกขายให้กับ C.H. Rosenau ไม่นานหลังจากนั้น จากนั้นก็ขายต่อให้กับ Pierre Cartier (ปิแอร์ คาร์เทียร์) ในปีเดียวกันนั้นเอง ซึ่งรวมไปถึง Evalyn Walsh McLean (เอวาลิน วอลช์ แม็คลีน) ที่เชื่อกันว่าประสบเคราะห์กรรมอย่างหนักหลังจากซื้อเพชรเม็ดนี้มา ทำให้ลูกชายถูกรถชนเสียชีวิต สามีเป็นบ้า ครอบครัวล้มละลาย และลูกสาวก็ฆ่าตัวตาย เมื่อเอวาลีนเสียชีวิตในปี 1947 เพชรต้องคำสาป “Hope Diamond” นี้ก็ได้ตกมาอยู่ในครอบครองของ Harry Winston (แฮร์รี วินสตัน) พ่อค้าเพชรชาวอเมริกัน และในปี 1958 เขาได้บริจาคให้กับสถาบันสมิธโซเนียน พิพิธภัณฑ์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา (The Smithsonian Institution)

หากใครที่สนใจเรื่องราวของ เครื่องประดับโบราณ เครื่องประดับวินเทจ หรือตำนานเพชรต้องคำสาป “Hope Diamond” อันโด่งดัง และเครื่องประดับจากยุคอื่นๆ อีกมากมาย สามารถสืบค้นหนังสือได้จาก https://elibrary.git.or.th หรือเข้ามาใช้บริการอ่านหนังสือได้ที่​ ห้องสมุดอัญมณีและเครื่องประดับ​ ตั้งอยู่ที่​ชั้น​ 1​ อาคารไอทีเอฟ​ ทาวเวอร์​ ถนนสีลม​ เปิดให้บริการวันจันทร์-วันศุกร์​ เวลา​ 08.30-16.30 น.​ หยุดวันเสาร์-อาทิตย์​ ​และวันหยุดนักขัตฤกษ์​


หนังสือแนะนำ (Book Recommendations)

Hope diamond : the legendary history of a cursed gem By Richard Kurin

Since its discovery in seventeenth–century India, the Hope diamond, a glimmering deep blue gem weighing over 45 carats, has been shrouded in mystery and steeped in intrigue. In this groundbreaking work, Dr. Richard Kurin goes beyond the speculation to reveal the truth behind a legendary stone. Kurin, a cultural anthropologist, spent more than a decade on the trail of the legendary gem. But the 'curse' that surrounds it, which Kurin puts to rest once and for all, is only one small piece of a long and lustrous story that moves between ancient religion and modern magic, royal power and class rivalry, revenge and greed. Richly illustrated, Hope Diamond works in a grand historical tradition––depicting the specific to reveal the universal.




The Smithsonian National Gem Collection-unearthed : surprising stories behind the jewels By Jeffrey Edward Post

Dr. Jeffrey E. Post, curator of the National Gem Collection for more than 25 years, separates fact from fiction in an all-new and original book, revealing fresh information and regaling the reader with anecdotes and tales of some of the world’s greatest and most famous gemstones. Dr. Post is the author of the now out-of-print book The National Gem Collection (Abrams, 1997), which has sold more than 50,000 copies. In this brand-new book, he tells the stories of the Smithsonian’s most famous gems, including the Hope Diamond, Star of Asia Sapphire, Carmen Lucia Ruby, Hooker Emerald, and Blue Heart Diamond—and also presents the tales, details, and fascinating facts surrounding rarely displayed gems from the Smithsonian vault and additions made to the collection since 1997. Not only a resource for learning about rare and beautiful gems, the book also presents the stories of the people who once owned or were associated with these jewels—from ordinary people to kings, emperors, maharajas, celebrities, and captains of industry.



The modern guide to antique jewellery By Beth Bernstein 

The ultimate go-to guide, The Modern Guide to Antique Jewellery takes the reader on a tour through time, venturing from the 1700s all the way through to the early 20th century. From how to look chic while wearing jewellery that outdates you by 100 years, to how to spot and score the best pieces, this book is a must-read for all enthusiasts and collectors who have an affinity for the jewels of the past.0Fun factual tidbits are presented in a witty, conversational style, and lively narratives explore each piece's history. Part travelogue, featuring the most influential shops in New York, LA, London, Paris and Amsterdam; part educational guide, with anecdotes from dealers and experts; and part celebration of historical jewellery, this book is an invaluable and accessible reference.0Topics covered include (but are not limited to): how to identify the most popular gemstones, materials, styles and collectible pieces in the market today, and how to select antique jewellery to complement your lifestyle. The Modern Guide to Antique Jewellery will reveal what to look for and where to locate rare finds, as well as how the experts score the pieces that decorate the fingers, ears, necks and wrists of the collector.



URL อ้างอิง:
external-site