5 อัญมณีตัวท็อปในเฉด “Peach Fuzz” สีแห่งพันโทนประจำปี 2024
เมื่อเทศกาลแห่งความสุขส่งท้ายปลายปี อันเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองกำลังใกล้เข้ามา ความคาดหวังในการพบปะ การพูดคุย สังสรรค์ แบ่งปันมื้ออาหาร และการสร้างความทรงจำกับบุคคลที่รักก็มีเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ... “ความรู้สึกอันอบอุ่นของการอยู่ร่วมกัน” เป็นเบื้องหลังแรงบันดาลใจของสี Pantone (พันโทน) แห่งปี 2024 ซึ่งเฉดสีที่โดดเด่นและได้เป็นสีประจำปีนี้ก็คือ “Pantone 13-1023 Peach Fuzz”
“โทนสีพีชที่นุ่มนวลและอ่อนโยน เป็นสีที่โอบรับจิตวิญญาณในทุกด้าน ทำให้จิตใจ ร่างกาย และจิตวิญญาณสมบูรณ์” สีที่อบอุ่นและปลอบโยนนี้สื่อถึงความเห็นอกเห็นใจและความเมตตาจากใจจริง ท่ามกลางความขัดแย้งต่างๆ ในโลก และที่มาของความเครียดไม่รู้จบ PANTONE 13-1023 Peach Fuzz ทำหน้าที่เป็นเครื่องเตือนใจให้มนุษย์ใช้ชีวิตช้าลง ดูแลตัวเองให้มากขึ้น รวมถึงดูแลซึ่งกันและกัน
สถาบันสี Pantone อธิบายว่าเฉดสี Peach Fuzz เป็น “สีพีชแห่งความจริงใจ” ที่สื่อถึงความรู้สึกอันอ่อนโยน ความเอาใจใส่ ความเห็นอกเห็นใจ และการแบ่งปัน ตลอดจนการอยู่ร่วมกันของชุมชน ซึ่งท่ามกลางช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายในหลากหลายแง่มุมของชีวิต สถาบันสี Pantone กล่าวว่า ความเอาใจใส่และความปราถนาดีต่อกันมีความสำคัญที่พร้อมจะเติบโตขึ้นควบคู่ไปกับความหวังของอนาคตที่สงบสุขมากขึ้น
เลทริซ ไอส์แมน (Leatrice Eiseman) กรรมการบริหารของสถาบันสี Pantone กล่าวว่า “เฉดสีนี้ ‘มีความนุ่มนวล’ ระหว่างสีชมพูและสีส้ม ที่ดูกลมกลืน ละมุนละไม” “Peach Fuzz นำมาซึ่งการสร้างแรงบันดาลใจในการรีเซตความรู้สึกและจิตใต้สำนึกขึ้นใหม่ และโอกาสในการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับผู้คนรอบข้าง เนรมิตบรรยากาศแห่งความสงบสุข มอบพื้นที่ให้เราได้รู้สึกและเยียวยา… ไม่ว่าจะใช้เวลาร่วมกับผู้อื่นหรือแม้ว่าจะอยู่เพียงลำพังเพื่อเพลิดเพลินไปกับช่วงเวลาของตัวเอง ทำให้เราสามารถค้นพบความสงบสุขจากภายใน ซึ่งส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีของเรา และสามารถปลุกประสาทสัมผัสของเราให้ได้รับรู้ถึงความอบอุ่นและความสบายใจ”
สถาบันสี Pantone ระบุว่า Peach Fuzz คือ “บทกวีและความโรแมนติก” ที่มีความซับซ้อนและความร่วมสมัย โดยอธิบายว่าโทนสีพีชที่สะอาดตานั้นมี “กลิ่นอายของความวินเทจ” และ “เรียบง่ายแต่ทรงพลัง”
การคัดเลือกสี Pantone ประจำปี 2024 นี้เราได้เล็งเห็นถึงการให้ความสำคัญกับชุมชนและผู้คนทั่วโลกมากขึ้นโดยกำหนดกรอบแนวทางการใช้ชีวิตที่พวกเขาเหล่านั้นต้องการ และสิ่งสำคัญนั่นคือความสบายใจที่ได้อยู่ใกล้ชิดกับคนที่เรารัก นอกจากนี้ เฉดสี Peach Fuzz คือสีแห่งอ้อมกอดอันอบอุ่นและเป็นมิตรที่สื่อถึงความเมตตา ความห่วงใย และความรู้สึกอบอุ่นที่นำพาผู้คนมาอยู่ร่วมกันและเติมเต็มจิตวิญญาณซึ่งกันและกัน” ลอรี เพรสแมน (Laurie Pressman) รองประธานสถาบันสี Pantone กล่าว
อัญมณีในโทนสีพีชจะดูเข้ากันกับตัวเรือนในสีโรสโกลด์เป็นอย่างมาก แต่ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับความชื่นชอบของผู้สวมใส่เป็นหลัก นอกจากนี้ ยังสามารถนำเอาอัญมณีในโทนสีพีชไปดีไซน์เป็นเครื่องประดับชิ้นโปรดสำหรับผู้ที่ชื่นชอบสีพาสเทล เนื่องจากอัญมณีสีพีชได้กลายเป็นกระแสนิยมที่นำไปทำเป็นแหวนหมั้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา และยังคงเป็นที่ชื่นชอบของใครหลายๆ คน เพราะสีส้มอมชมพูพาสเทลนี้เป็นสีสันที่ดูสดใสน่ารักเมื่อจับคู่กับสีพาสเทลสีอื่นๆ และยังเป็นสีหายากที่ดึงดูดนักสะสมเป็นอย่างมาก โดย 5 อัญมณีที่อยู่ในโทนสีเดียวกับ “Peach Fuzz” และเป็นอัญมณีตัวท็อปยอดนิยมนำไปทำเป็นเครื่องประดับ มีดังต่อไปนี้
มอร์แกไนต์ (Morganite)
มอร์แกไนต์ เป็นแร่ในตระกูลเบริล (Beryl) เช่นเดียวกับอะความารีน (สีฟ้า) และมรกต (สีเขียว) มีค่าความแข็งเท่ากับ 8-7.5 ตามสเกลของโมส์ เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปว่า มอร์แกไนต์ เป็นอัญมณีสีพาสเทลที่มีเฉดสีอ่อน ได้แก่ สีชมพูอ่อน สีชมพูอมม่วง สีชมพูอมส้ม หรือ สีพีช และสีแซลมอน แม้ว่าโทนสีอ่อนจะเป็นเรื่องปกติสำหรับมอร์แกไนต์ แต่ในผลึกบางก้อนอาจจะพบมอร์แกไนต์สีเข้มได้ ปัจจุบันมอร์แกไนต์ในโทนสีชมพู สีชมพูอมม่วง และสีกุหลาบ ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นกว่าสีพีชและสีแซลมอน แต่นักสะสมบางคนให้ความสำคัญกับสีพีชที่ไม่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพมากกว่ามอร์แกไนต์สีชมพูที่ผ่านการอบด้วยความร้อน
มอร์แกไนต์ ยังได้ชื่อว่าเป็น “ราชาแห่งอัญมณีสีพีช (King of Peach Gemstone)” สีพีชนี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเนื่องจากมีแร่แมงกานีสที่ปะปนอยู่ในเนื้อผลึก ซึ่งสีพีชที่สวยที่สุดมักพบในมอร์แกไนต์ที่ได้รับเจียระไนอย่างดี
มอร์แกไนต์ เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นักการเงินในตำนานอย่าง J. P Morgan (เจ.พี. มอร์แกน) แหล่งที่พบอัญมณีชนิดนี้ ได้แก่ บราซิล อัฟกานิสถาน โมซัมบิก นามิเบีย และสหรัฐอเมริกา ซึ่งสามารถพบผลึกมอร์แกไนต์ขนาดใหญ่ที่อาจจะหนักกว่า 1 กิโลกรัม
มอร์แกไนต์ มักนำมาใช้สำหรับแหวนหมั้น เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์ของความรัก ความเห็นอกเห็นใจ และคำมั่นสัญญา มอร์แกไนต์สีพีชอ่อนหรือสีส้ม ช่วยในการส่งเสริมมิตรภาพและความเสน่หา นำมาซึ่งความสุขและมิตรภาพ ความเพลิดเพลิน และการอยู่ร่วมกันในครอบครัว เป็นอัญมณีแห่งความสุขและแบ่งปัน ผสานให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชุมชน เป็นอัญมณีแห่งความเพลิดเพลินทางกายและความใกล้ชิด
มูนสโตน (Moonstone)
มูนสโตน หรือ มุกดาหาร เป็นหนึ่งในเก้าอัญมณีมงคลของไทย หรือที่เรียกว่า “นพเก้า” เป็นพลอยในกลุ่มโพแทสเซียมเฟลด์สปาร์ (Potassium Feldspar) ชนิดออร์โทเคลส (Orthoclase) มีค่าความแข็งเท่ากับ 6-6.5 ตามสเกลของโมส์ กึ่งโปร่งใส พบได้หลายสี เช่น ขาว เทาแกมฟ้า น้ำเงิน ชมพู พีช เขียว น้ำตาล จนถึงใส ไม่มีสี มูนสโตนนั้นมีลักษณะทางแสงที่โดดเด่นและหายาก เรียกว่า 'Adularescence' (อดูลาเรสเซนส์) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า ชิลเลอร์ (Schiller หรือ Shiller) เป็นความแวววาวสีขาวน้ำนมที่มีเหลือบสีน้ำเงินที่สามารถเรืองแสงที่กำเนิดจากใต้พื้นผิวของอัญมณี ชิลเลอร์ที่ดูเหมือนจะเคลื่อนไหวได้ในขณะที่ขยับมูนสโตนไปมา (หรือในขณะที่แหล่งกำเนิดแสงถูกเคลื่อนย้าย) ให้ความรู้สึกถึงแสงของดวงจันทร์ที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ (ตามชื่อของมูนสโตน) โดยชิลเลอร์สีขาวจะพบได้มากกว่าชิลเลอร์สีส้มหรือสีน้ำเงิน
มูนสโตน เป็นที่รู้จักมายาวนาน แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า “มูนสโตน” ก็มีสีพีชได้เช่นกัน ซึ่งมูนสโตนสีพีชจะมีความทึบแสงมากกว่าสีน้ำเงินหรือขาวที่จะโปร่งแสงมากกว่า ดังนั้น มูนสโตนสีพีชมักจะถูกเจียระไนด้วยหลังเบี้ยเพื่อเพิ่มสีสันให้เด่นชัด
แหล่งที่พบมูนสโตน ได้แก่ บราซิล อินเดีย มาดากัสการ์ เมียนมา ศรีลังกา สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ออสเตรเลีย เยอรมนี แทนซาเนีย และสหรัฐอเมริกา
มูนสโตน ได้รับการยกย่องจากชาวอินเดียโบราณว่าเป็น “หินแห่งความสุข” เป็นอัญมณีอันน่าทึ่งที่มักใช้เพื่อเฉลิมฉลองเหตุการณ์สำคัญครั้งใหม่ ช่วยในการเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และผ่อนคลายอารมณ์ เชื่อกันว่าจะนำพาซึ่งโชคลาภแก่ผู้สวมใส่ สร้างความละเอียดอ่อนทางอารมณ์และความรู้สึก
พีชมูนสโตน แสดงถึงความอบอุ่นและแสงสว่าง กระตุ้นให้เราเปิดรับสิ่งดีๆ ช่วยให้รับรู้ถึงด้านบวกในทุกสถานการณ์ ช่วยทำให้เราเข้าใจอารมณ์ของตัวเองได้ดีขึ้น ช่วยกำหนดเส้นทางที่ชัดเจนไปข้างหน้า ความอบอุ่นของสีพีชทำให้รู้สึกปลอดภัย ช่วยบรรเทาความวิตกกังวล และดึงเอาสิ่งที่ดีที่สุดในตัวของคุณออกมา
ทัวร์มาลีน (Tourmaline)
ทัวร์มาลีน เป็นตระกูลแร่ที่ประกอบไปด้วยแร่ธาตุต่างๆ หลายประเภท เช่น โบรอน เบริลเลียม และลิเทียม หรือกลุ่มแร่ที่เกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดที่มีโครงสร้างผลึกเหมือนกัน แต่มีคุณสมบัติทางเคมีและกายภาพต่างกัน มีค่าความแข็งเท่ากับ 7-7.5 ตามสเกลของโมส์ พบได้หลายสีขึ้นกับธาตุองค์ประกอบ ตั้งแต่ใสไม่มีสี สีเขียว สีชมพู สีแดง สีน้ำเงินแกมม่วง สีเหลือง สีส้มพีช สีแซลมอน สีเหลือง สีดำ ไปจนถึงทัวร์มาลีนสองสี (Bi-Colour) มีโทนสีสว่างไปจนถึงสีเข้มโดยสีจะดูแตกต่างกันเล็กน้อยภายใต้แหล่งกำเนิดแสงที่แตกต่างกัน ตั้งแต่หลอดฟลูออเรสเซนต์ไปจนถึงหลอดไส้ ซึ่งแต่ละสีก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป อย่างเช่น สีชมพูถึงสีแดง เรียก รูเบลไลต์ (Rubellite) สีเขียวถึงสีฟ้าที่เปล่งประกายคล้ายแสงนีออน เรียก พาราอิบา (Paraiba) เป็นต้น
พีชทัวร์มาลีนนั้น เป็นพวกเอลไบต์และมีแร่แมงกานีสผสมอยู่ซึ่งสีส้มพาสเทลนี้อาจจะพบในธรรมชาติได้ค่อนข้างยาก โดยทัวร์มาลีนบางชนิดมีการปรับปรุงโดยการอาบรังสี อาจจะทำให้ทัวร์มาลีนสีชมพูอ่อนจะมีสีเข้มขึ้นหรืออาจเปลี่ยนเป็นสีส้มหรือสีพีช เนื่องจาก ทัวร์มาลีนเป็นผลึกขนาดยาวจึงมักถูกเจียระไนเป็นรูปทรงเหลี่ยมมรกต (Emerald Cut) ทรงยาว ซึ่งเหมาะสำหรับจี้ ต่างหู และแม้แต่แหวนบางประเภท
แหล่งที่พบทัวร์มาลีน ได้แก่ บราซิล ไนจีเรีย โมซัมบิก สหรัฐอเมริกา (แคลิฟอร์เนีย เมน) คองโก แทนซาเนีย
ทัวร์มาลีน มาจากภาษาสิงหลว่า ทุรมาลี (Turamali) ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกรัตนชาติที่มาจากลังกาในสมัยดึกดำบรรพ์ ซึ่งเชื่อกันว่า ทัวร์มาลีน เป็นตัวแทนของการปกป้องคุ้มครอง นำพามาซึ่งความสงบสุข ความสมดุล ความเห็นอกเห็นใจ ความเที่ยงธรรม ความสงบ การเปลี่ยนแปลงเชิงบวก ความแข็งแกร่ง ความเข้าใจ
แซปไฟร์ (Sapphire)
แซปไฟร์ เป็นแร่ในตระกูลคอรันดัม (Corundum) มีค่าความแข็งตามสเกลของโมส์เท่ากับ 9 เข่นเดียวกันกับ ทับทิม (Ruby) สามารถพบได้หลายสี เช่น แซปไฟร์สีน้ำเงิน หรือไพลิน (Blue Sapphire) แซปไฟร์สีเหลือง หรือ บุษราคัม (Yellow Sapphire) และคอรันดัมสีอื่นๆ มักนิยมเรียกว่าแฟนซีแซปไฟร์ (Fancy Sapphire โดยอาจมีชื่อสีกำกับ เช่น แซปไฟร์สีชมพู (Pink Sapphire) แซปไฟร์สีเขียว หรือเขียวส่อง (Green Sapphire) แชปไฟร์ สีม่วง (Purple Sapphire) แชปไฟร์สีส้ม (Orange Sapphire) แซปไฟร์สีพัดพารัดชา (Padparadscha Sapphire) แชปไฟร์สองสี (Bi-Coloured Sapphire) แซปไฟร์หลากสี (Parti-Coloured Sapphire)
พีชแซปไฟร์ (Peach Sapphire) หรือแซปไฟร์สีพีชนั้นอาจจะเรียกกันในหลากหลายชื่อ เช่น แชมเปญแซปไฟร์ (Champagne Sapphire) หรือแอปริคอทแซปไฟร์ (Apricot Sapphire) เนื่องจากมีธาตุเหล็กและโครเมียมผสมอยู่ในผลึก เป็นหนึ่งในเฉดสีของแซปไฟร์ที่เป็นที่หายากและเป็นที่ต้องการมากที่สุด และครอบคลุมหลายเฉดสี ได้แก่ สีส้ม ทอง ชมพู และเหลือง ไปจนถึงสีพัดพารัดชา โดยความแตกต่างระหว่างแซปไฟร์สีพีชกับแซปไฟร์สีพัดพารัดชา มีเพียงอย่างเดียวคือ “ความอิ่มตัวของสี” โดยพัดพารัดชาจะมีสีที่ทึบมากกว่า ในขณะที่สีพีชโดยทั่วไปจะมีโทนสีอ่อนกว่า นอกจากนี้ สีแต่ละสีจะมีการเปลี่ยนแปลงของความเข้มและความอิ่มตัวของสี โดยจะพบเฉดสีพีชที่สวยสมบูรณ์แบบได้ยาก
แหล่งที่พบแซปไฟร์พบได้หลายที่ทั่วโลก เช่น เมียนมา สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ปากีสถาน โมซัมบิก กรีนแลนด์ กัมพูชา ศรีลังกา มาดากัสการ์ และแทนซาเนีย
แซปไฟร์สีพีช เป็นสัญลักษณ์ของความรัก ความคิดสร้างสรรค์ และการยอมรับ นำพาความสุข มิตรภาพ ความเพลิดเพลิน และยังช่วยในการทำสมาธิสำหรับผู้ที่ต้องการความสงบในจิตใจ
ไข่มุก (Pearl)
ไข่มุก เป็นอัญมณีที่เกิดมาจากสิ่งมีชีวิต หรือที่เรียกว่า “อัญมณีอินทรีย์” (Organic Gems) เป็นที่นิยมและมีคุณค่ามากที่สุดในกลุ่มอัญมณีอินทรีย์ด้วยกัน มีส่วนประกอบของคอนไคโอลิน (Conchiolin) และแคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate) ในรูปของแร่อะราโกไนต์ (Aragonite) หรือแคลไซต์ (Calcite) ซึ่งเรียงกันเป็นชั้นโดยมีจุดศูนย์กลางร่วมกัน ไข่มุกมีทั้งแบบไข่มุกที่มีชั้นเนเคอร์ (Nacreous) และไข่มุกที่ไม่ได้ประกอบด้วยชั้นเนเคอร์ (Non-Nacreous) มีค่าความแข็งตามสเกลของโมส์เท่ากับ 2.5 – 4 โดยแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
มุกธรรมชาติ (Natural Pearls) เป็นมุกที่ก่อตัวขึ้นเองตามธรรมชาติในหอยมุกน้ำเค็มและน้ำจืดหลายสปีชีส์ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ แบ่งออกเป็น มุกน้ำเค็ม (Saltwater Pearls) มุกน้ำจืด (Freshwater Pearls) โดยปราศจากการแทรกแซงจากมนุษย์ สร้างขึ้นในตัวหอยภายในถุงไข่มุก (Pearl Sac) ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เมื่อมีเม็ดทรายหรือมีสิ่งเเปลกปลอมเข้ามาในเปลือกของหอยมุก จนเกิดการระคายเคืองและปล่อยแคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate) มาเคลือบสิ่งแปลกปลอมนั้นไว้ ไข่มุกมีทั้งแบบไข่มุกที่มีชั้นเนเคอร์ (Nacreous) และไข่มุกที่ไม่ได้ประกอบด้วยชั้นเนเคอร์ (Non-Nacreous)
มุกเลี้ยง (Cultured Pearls) เป็นมุกที่ผลิตโดยหอยมุกน้ำเค็มและน้ำจืดหลายสปีชีส์ที่เก็บได้จากธรรมชาติหรือเพาะขึ้นมาในโรงเพาะพันธุ์เกิดจากการใช้เนื้อยื่อของหอยมุกอีกตัวหนึ่งสร้างถุงมุกเลี้ยงขึ้นมา แบ่งออกเป็น มุกเลี้ยงน้ำเค็ม (Saltwater Cultured Pearls) และ มุกเลี้ยงน้ำจืด (Freshwater Cultured Pearls) มุกเลี้ยงอาจมีเนเคอร์ (Nacreous) หรือไม่มีเนเคอร์ (Non-Nacreous) โดยมุกเลี้ยงเป็นมุกที่ก่อตัวขึ้นในตัวหอยที่มีชีวิตภายในถุงมุกเลี้ยง (Cultured Pearl Sac) โดยมีการแทรกแซงจากมนุษย์และสภาพเงื่อนไขที่หลากหลายขึ้นอยู่กับตัวหอยมุกและเป้าหมายในการผลิต โดยจะได้รับการกระตุ้นโดยมนุษย์อาจเป็นแบบใช้ ลูกปัด (ใช้ลูกปัดเป็นสารตั้งต้นสำหรับการสร้างชั้นมุกที่เรียกว่า เนเคอร์) หรือไม่ใช้ลูกปัดก็ได้
โดยปกติแล้ว สีของไข่มุกที่ได้จะขึ้นอยู่กับ ชนิดของหอยมุก และสภาวะแวดล้อมทำให้ไข่มุกที่ได้มีสีแตกต่างกันไป ยิ่งถ้าหากไข่มุกเม็ดนั้นหายาก มีความวาว หรือมีสีหายากมากเท่าไหร่ ยิ่งมีมูลค่าสูงมากเท่านั้น
ไข่มุกสีพีช เป็นไข่มุกที่มีสีเฉพาะตัว ซึ่งมีตั้งแต่สีชมพูอ่อน สีชมพูส้ม ไปจนถึงสีพีชเข้ม มักพบในหอยน้ำจืด โดยเฉพาะหอยแมลงภู่สายพันธุ์ Hyriopsis Cumingii หรือ Chiness Pearl ที่นิยมเพาะเลี้ยงในประเทศจีน ซึ่งหอยชนิดนี้ให้ผลผลิตไข่มุก สีขาว สีเหลือง สีทอง สีชมพู สีชมพูอมม่วง สีพีช (ส้มพาสเทลสีซีดไปจนถึงสีแอปริคอทที่เข้มกว่า) ให้สีที่ดูนุ่มนวลแต่เป็นมันเงาน้อยกว่าเมื่อเทียบกับมุกน้ำเค็ม และยังมีราคาไม่แพงอีกด้วย โดยการแปรผันของสีนี้เกิดจากชนิดของหอยแมลงภู่ รวมถึงอุณหภูมิ สภาพของน้ำ และอาหารของหอยแมลงภู่ ขนาดของไข่มุกอาจมีขนาดเล็กเพียง 1.0 มม. จนถึง 10.0 มม. หรือมากกว่านั้น
ตามประวัติศาสตร์พบว่ามีการค้นพบและนำมุกมาใช้ตั้งแต่ 4,000 ปีมาแล้ว ในสมัยโบราณเชื่อกันว่ามุกเป็นตัวแทนแห่งความบริสุทธิ์ ความรัก ความโรแมนติก ความหลงใหล ความเมตตา ความเห็นอกเห็นใจ ความภักดี และความสุข ชาวกรีกโบราณเชื่อกันว่าไข่มุกเป็นเทพีแห่งความรักซึ่งเป็นน้ำตาแห่งความยินดีของเทพีแห่งความรักมาเป็นเวลาหลายพันปีแล้ว ไข่มุกยังใช้เป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์ ความเป็นนิรันดร์ และความงามอีกด้วย
หากใครที่สนใจเรื่องราวของ "อัญมณีและเครื่องประดับ" สามารถสืบค้นหนังสือได้จาก https://elibrary.git.or.th/ หรือเข้ามาใช้บริการอ่านหนังสือได้ที่ ห้องสมุดอัญมณีและเครื่องประดับ ตั้งอยู่ที่ชั้น 1 อาคารไอทีเอฟ ทาวเวอร์ ถนนสีลม เปิดให้บริการวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น. หยุดวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์