หน้าหลัก

เพชร : อัญมณีประจำเดือนเมษายน

Admin J. เมษายน 24, 2024 1,948 1,299

เพชร (Diamond) เป็นอัญมณีที่มีองค์ประกอบเป็นธาตุ คาร์บอน (C) เพชรดิบจะมีรูปทรงลูกบาศก์ (Cubic) ที่มีความแข็งมากที่สุด โดยมีความแข็งเท่ากับ 10 ตามสเกลของโมส์ เป็นอัญมณีที่มีคุณค่า ราคาสูง และมีความสำคัญมากที่สุด ทั้งนี้ยังเป็นอัญมณีประจำเดือนเกิดของผู้ที่เกิดในเดือนเมษายน (April) และอัญมณีประจำราศีเมษ (Aries)

ลึกลงไปใต้ผิวโลกราว 150 - 250 กิโลเมตร ผลึกเพชรได้ก่อตัวขึ้นภายใต้แรงดันสูงถึง 70,000 กิโลกรัม/ตารางเซนติเมตร ที่อุณหภูมิสูงกว่า 1,700 - 2,500 องศาเซลเซียสเป็นเวลานานนับพันปี เมื่อภูเขาไฟระเบิดผลึกเพชรที่ฝังอยู่ในหินคิมเบอร์ไลต์ (Kimberlite) หรือแลมโพรไอต์ (Lamproite) จะถูกนำขึ้นมาบนผิวโลกพร้อมกับแมกมา (Magma) และแร่ชนิดอื่นๆ ทางปล่องภูเขาไฟ ผลึกเพชรบางส่วนตกค้างอยู่ในปล่องภูเขาไฟ จึงต้องมีการทำเหมืองที่ปากปล่องภูเขาไฟ และเพชรบางส่วนที่ถูกพ่นออกมาจากปล่องภูเขาไฟ เมื่อถูกความร้อน แรงลมหรือฝนเป็นเวลานานๆ ผลึกเพชรก็จะหลุดออกจากหินภูเขาไฟแล้วถูกพัดพาไปยังแหล่งน้ำหรือลานแร่ต่างๆ

“เพชร” ที่ขุดได้จากการทำเหมือง มีเพียง 20% ที่มีคุณภาพดีในระดับที่สามารถนำไปทำเครื่องประดับได้ ส่วนอีก 80% นำไปใช้ในกิจการอุตสาหกรรมต่างๆ เพราะเนื้อเพชรมีตำหนิและแตกร้าวมาก มีสีเทาถึงสีน้ำตาล โปร่งแสงถึงทึบแสง เรียกว่า บอร์ต (Bort)

“เพชร” มีคุณสมบัติทางอัญมณีที่โดดเด่นกว่าอัญมณีชนิดอื่นๆ อีกด้วย โดยมีค่าดัชนีหักเหและค่าการกระจายแสงที่สูงมาก ทำให้มีความวาวและประกายที่เรียกกันว่า “ไฟ” (Fire) ถ้าหากได้รับการเจียระไนที่ได้สัดส่วนสมมาตร จะมีความสามารถในการรวม การหักเห และการสะท้อนแสงกลับมาสู่สายตาของผู้มอง จึงทำให้มีประกายแวววาว และนี่คือคุณสมบัติของเพชรในด้าน “ไฟหรือน้ำ” อันเป็นประกายระยิบระยับที่ไม่มีอัญมณีอื่นใดจะเทียบได้

Image by Briam Cute from Pixabay

นอกจากนี้ยังพบ “เพชร” ได้หลายสีตั้งแต่สีใสไม่มีสีไปจนถึงสีดำสนิท แต่ “เพชร” ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ “เพชรที่มีสีขาวใส” ส่วน “เพชร” ที่มีสีอื่นๆ จะเรียกว่า “เพชรสีหรือแฟนซีไดมอนด์” (Fancy Color Diamonds) สีสันต่างๆ ที่เกิดในเพชรมีผลมาจากการมีธาตุอื่นๆ นอกเหนือจากคาร์บอน เช่น ไนโตรเจน โบรอน ไฮโดรเจนอะลูมิเนียม และทองแดง มาปะปนอยู่ในโครงสร้างผลึกหรือเกิดความผิดปกติบางอย่างของกระบวนการทางธรรมชาติทำให้เกิดสีต่างๆ ที่แปลกไปจากเพชรสีขาวบริสุทธิ์ โดยเกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก จึงกลายเป็นสิ่งที่หายากและเป็นความพิเศษที่ใครๆ ก็อยากเป็นเจ้าของได้ครอบครอง เพชรสีบางเม็ดก็ยังมีราคาที่สูงมากกว่าเพชรสีขาวบริสุทธิ์หลายเท่าตัว แม้ว่าเพชรในธรรมชาติมีได้หลายสีที่พบมากคือ ตั้งแต่ใสไม่มีสีจนถึงค่อนข้างเหลือง สำหรับเพชรที่มีสีสวยงาม เช่น สีน้ำเงิน ชมพู แดง หรือเหลืองสด จัดเป็นเพชรสีแฟนซีซึ่งหายากและมีราคาสูงมาก แต่ที่นิยมนำมาใช้ทำเครื่องประดับโดยทั่วไปจะไม่มีสีถึงค่อนข้างเหลืองอ่อน ระดับความใสสะอาดที่เป็นที่นิยมใช้ทำเครื่องประดับโดยทั่วไปจะใสถึงค่อนข้างใส คือมีตำหนิน้อยที่สุด สำหรับเพชรที่มีคุณภาพความสะอาดต่ำหรือมีมลทินภายในมากจนทำให้เกิดความไม่สวยงามนั้นจะนำมาใช้ในอุตสาหกรรม เช่น ผงขัด หัวขุดเจาะ เป็นต้น

แหล่งเพชรที่สำคัญ ก็คือ อินเดีย รัสเซีย แคนาดา ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ นามิเบีย เชียร์ราลีโอน กานา บอตสวานา บราซิล แทนซาเนีย เป็นต้น

Fancy Color Diamond (Photo Credit: https://gems-precious.com)

การเลือกซื้อเพชร

ใช้หลักการที่เรียกว่า  4C อันเป็นปัจจัยหลักที่บ่งบอกได้ถึงคุณภาพและความงามของเพชรเม็ดนั้นๆ ประกอบด้วย 

  1. Clarity (ความสะอาด) ในเพชรอาจพบตำหนิที่เกิดขึ้นจากการตกผลึกตามธรรมชาติ ซึ่งมีตั้งแต่ตำหนิที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าไปจนถึงแบบสะอาดใสไร้มลทิน โดยจะแบ่งเป็นเกรดต่างๆ เช่น IF,VVS หรือ VS เป็นต้น  

  2. Color (สี) วัดจากระดับความเหลืองของเพชร ถ้าเพชรมีความเหลืองน้อยก็จะนับว่ายิ่งสวย ซึ่งจะเรียกเพชรที่ใสไม่มีสีว่า ‘เพชรน้ำ 100’ หรือ D Color

  3. Cut (การเจียระไน) ถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่มีผลต่อความสวยงามของเพชร ซึ่งจะดูความสมมาตรของเพชรหรือตำหนิที่เกิดจากการเจียระไน และ  

  4. Carat Weight (กะรัต/น้ำหนัก) ยิ่งเพชรมีน้ำหนักกะรัตมากก็จะส่งผลให้ราคาสูงขึ้นเช่นกัน

นอกจากนี้ ควรเลือกซื้อเพชรที่มีใบรับรอง (Certificate) จากสถาบันหรือหน่วยงานที่เชื่อถือได้ หรือได้รับการตรวจสอบคุณภาพเพชรห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน โดยในใบรับรองคุณภาพเพชรนี้จะแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับคุณภาพของเพชรเม็ดนั้นๆ เอาไว้ ทั้งน้ำหนักเพชร ระดับสีของเพชร ระดับความสะอาด คุณภาพในการเจียระไน รวมถึงการเรืองแสง และบอกชนิดของตำหนิของเพชร ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อมั่นใจได้ว่าเพชรที่ซื้อมาเป็นเพชรแท้ที่เกิดจากธรรมชาติ ไม่ใช่เพชรสังเคราะห์ที่ทำเลียนแบบ

GIA Diamond Grading Scales (Photo Credit: GIA)

การดูแลรักษาเพชร

ทำความสะอาด “เพชร” โดยใช้นำยาล้างเครื่องประดับหรือน้ำอุ่นผสมกับน้ำสบู่เหลวอ่อนๆ และปัดทำความสะอาดตามซอกมุมและด้านหลังด้วยแปรงขนนุ่ม หลีกเลี่ยงการทำความสะอาดด้วยการต้มจนเดือด เพราะเพชรอาจร้าวได้ เพชรอาจบิ่นหรือแตกร้าวได้ไม่ยากแต่ก็ไม่ควรเก็บเครื่องประดับเพชรไว้รวมกัน โดยเฉพาะเพชรที่ยังไม่ได้ขึ้นตัวเรือนหรือเพชรร่วง เพราะจะทำให้ขีดข่วนกันเอง และเกิดรอยได้ง่าย


เพชร: อัญมณีแห่ง “ผู้ชนะ”

ความหมายของ “เพชร” นั้นมาจากภาษากรีกโบราณว่า “อดามัส” (Adamas) ซึ่งมีความหมายว่า “อยู่ยงคงกระพัน” ไม่มีใครเอาชนะได้หรือไม่เคยแพ้ใคร โดยชาวกรีกโบราณจะสวมใส่เพชรในการต่อสู้หรือออกไปรบ เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่ง และด้วยความเชื่อว่าเพชรจะทำให้ไม่มีใครสามารถเอาชนะได้ ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับมัดกล้ามเนื้อของนักรบและทำให้พวกเขาอยู่ยงคงกระพัน มีพลังที่แข็งแกร่ง

ความจริงที่ว่า “เพชร” เป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแกร่งและความคงกระพันก็มาจากการที่ เพชรสามารถผ่านพ้นการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาอย่างรุนแรงมาได้เป็นระยะเวลายาวนาน ในขณะที่วัตถุอื่นๆ ที่อยู่รอบข้าง เช่น หินแกรนิตซึ่งมีผิวขรุขระ ผุกรอนจนกลายเป็นฝุ่นไปหมดเป็นเครื่องพิสูจน์ความแข็งแกร่งของเพชรได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ความงดงามของเพชรได้รับการกล่าวถึงอยู่ในประวัติศาสตร์ของอารยธรรมต่างๆ มากมาย แม้กระทั่งฮาฟิซ (Hafez) กวีชาวเปอร์เซียผู้โด่งดังยังบันทึกไว้ว่า “สายรุ้งถูกกักขังอยู่ในเพชรตลอดไป” โดยในสมัยโบราณ “เพชร” มักถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของความไร้เดียงสาและความบริสุทธิ์ ชาวกรีกโบราณเชื่อว่าเพชรเป็นตัวแทนของน้ำตาของเทพเจ้า ชาวโรมันโบราณเชื่อว่าเพชรถือเป็นส่วนหนึ่งของวงแหวนรอบนอกของดวงดาวซึ่งตกลงสู่พื้นโลก"

เชื่อกันว่า “เพชร” ถูกค้นพบว่ามีอยู่บนโลกครั้งแรก ในภูมิภาคกอลคอนดา ระหว่างแม่น้ำโคดาวารีและแม่น้ำกฤษณะที่ประเทศอินเดีย เมื่อประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว เพชรได้รับการยกย่องว่าเป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์โดยผู้ปกครองชาวอินเดีย แต่จากตำนานและความเชื่อต่างๆ นั้นจะเห็นว่าเพชรอยู่ในความสนใจของมนุษยชาติมายาวนานกว่า 5,000 ปี ตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมา ชาวตะวันตกเริ่มมีการเข้าถึงเพชรในทางเศรษฐกิจผ่านเส้นทางการค้า และในไม่ช้า “เพชร” ก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของสถานะทางสังคม ตลอดยุคกลาง มีการแสวงหาเพชรเพื่อเป็นเครื่องราง เนื่องจากเชื่อว่าเพชรมีคุณสมบัติทางเวทย์มนตร์และเป็นยา ในช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์นี้เองที่แหวนเพชรก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของการแต่งงาน

เพชร: ตัวแทนแห่งความรัก

คนส่วนใหญ่ที่ชื่นชอบ “เพชร” อาจคุ้นเคยกับคำกล่าวที่ว่า “เพชรเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของผู้หญิง” เป็นคำเชิญชวนในทางการตลาดที่จะเปลี่ยนค่านิยมที่สังคมมีต่อ “เพชร” ให้เป็นตัวแทนของความรักที่ขาดไม่ได้ และทำให้ชายหนุ่มหันมาซื้อแหวน “เพชร” เพื่อขอหญิงสาวแต่งงาน นอกจากนี้ ตามประวัติศาสตร์ “เพชร” มีความเชื่อมโยงกับหัวใจมายาวนาน ทำให้ถูกเน้นย้ำในเรื่องการเป็นตัวแทนของ ความรัก ความมั่นคง ความแข็งแกร่ง ชีวิตที่ยืนยาว และสุขภาพหัวใจที่ดีด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไม “เพชร” จึงถูกนำมาใช้ใน “แหวนหมั้น” หรือ “แหวนแต่งงาน” มากที่สุด

Image by Lynn from Pixabay

เพชร: พลังแห่งความสมบูรณ์แบบ

เชื่อกันว่า “เพชร” ช่วยเพิ่มพลังงานชีวิต กระบวนการเติบโต ความเจริญรุ่งเรือง ชีวิตรัก ความศรัทธา ความอดทน ความอุดมสมบูรณ์ ความแข็งแกร่ง อำนาจ ความกล้าหาญ ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ ความบริสุทธิ์ ความกลมกลืน ความซื่อสัตย์ ความไร้เดียงสา ทำให้รู้สึกเคารพในตนเองและความรักเพิ่มขึ้น และความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความรักอันบริสุทธิ์ จริงๆ แล้ว เชื่อกันว่าเพชรช่วยเติมเต็มช่องว่างและพลังด้านลบในตัวเองด้วยความรักที่บริสุทธิ์

โดยรวมแล้ว เชื่อกันว่าเพชรจะนำมาซึ่งความสงบภายในจิตใจ ทำให้เกิดทัศนคติเชิงบวก เพชรยังมีพลังในการยับยั้งความเครียด ความเจ็บปวดทางอารมณ์ ความกลัว และปกป้องเจ้าของจากพลังงานด้านลบ ใช้ปกป้องผู้สวมใส่จากโจร ไฟ น้ำ ยาพิษ ความเจ็บป่วย และเวทมนตร์คาถา


โดยเชื่อกันว่าพลังของเพชรจะเพิ่มขึ้นเมื่อสวมที่คอหรือที่มือซ้าย คิดว่าเพชรช่วยรักษาโรคทางกายได้หลายอย่างเช่นกัน เนื่องจากช่วยชำระล้างระบบของร่างกาย ชาวฮินดูโบราณเชื่อว่าการสั่นสะเทือนของเพชรทำให้ทุกอวัยวะในร่างกาย หัวใจ และโดยเฉพาะสมองแข็งแรงขึ้น นอกจากนี้ “สี” ของเพชรนั้นก็ความหมายที่แตกต่างกัน ดังนี้

เพชรสีแดง เป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญ เป็นสีที่หายากและมีคุณค่าอย่างยิ่ง

เพชรสีส้ม เป็นสัญลักษณ์ของพลังงานและความกระตือรือร้น เป็นหนึ่งในสีที่หายากที่สุด

เพชรสีเหลือง เป็นสัญลักษณ์ของความสุขและมิตรภาพ เป็นหนึ่งในสีที่พบมากที่สุดและเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับแหวนหมั้น

เพชรสีชมพู เป็นสัญลักษณ์ของความโรแมนติก ความสุข และความคิดสร้างสรรค์ เป็นเพชรที่สวยงามและค่อนข้างหายาก

เพชรสีฟ้าหรือสีน้ำเงิน เป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์และอำนาจ เป็นเพชรที่ค่อนข้างหายาก และหากคุณเลือกที่จะให้เพชรสีน้ำเงิน ก็แสดงถึงความเคารพและความรักที่มีต่อผู้รับ

เพชรสีน้ำตาล เป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นตัวแทนของความสมดุลและความแข็งแกร่งภายใน

เพชรสีดำ เป็นสัญลักษณ์ของความรักนิรันดร์และไม่เปลี่ยนแปลง 

The Fancy Color Diamond Book and Pricing Architecture (Photo Credit: Dan Alexander & Co.)

เพชรที่มีชื่อเสียงของโลก

เพชรกาญจนาภิเษก (Golden Jubilee) เพชรสีทองแกมน้ำตาล ถูกค้นพบที่เหมืองพรีเมียร์ ในแอฟริกาใต้ มีน้ำหนัก 545.65 กะรัต (ก่อนเจียระไนมีน้ำหนัก 755.50 กะรัต) เจียระไนเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม มีทั้งหมด 148 เหลี่ยม เมื่อปี พ.ศ. 2539 กลุ่มนักธุรกิจของไทยได้ร่วมกันซื้อเพชรเม็ดนี้ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงครองราชสมบัติครบ 50 ปี ปัจจุบัน “เพชรกาญจนาภิเษก”เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของไทย

Photo Credit: De Beers Group

เพชรคัลลิแนน (Cullinan) เพชรสีขาวใส บริสุทธิ์ ถูกค้นพบที่เหมืองพรีเมียร์ ในแอฟริกาใต้ ก่อนเจียระไนมีน้ำหนักมากกว่า 3,100 กะรัต ต่อมาได้มีการตัดแบ่งเป็น 9 เม็ด โดยมีน้ำหนัก ขนาด และรูปทรงที่แตกต่างกันไป และมีการตั้งชื่อตามกันว่า “เพชรคัลลิแนน 1-9” ตามลำดับ

  1. คัลลิแนน I หรือดาวใหญ่แห่งแอฟริกา (Great Star of Africa) หนัก 530.4 กะรัต (106.1 กรัม) เจียระไนเป็นรูปทรงหยดน้ำเพนดาล็อก (Pendeloque) เป็นเพชรเจียระไนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประดับอยู่บนยอดพระคทากางเขน (Sceptre with the Cross) ซึ่งเป็นคทาประจำพระมหากษัตริย์อังกฤษ 
  2. คัลลิแนน II หรือดาวน้อยแห่งแอฟริกา (Lesser Star of Africa) หนัก 317.4 กะรัต (63.5 กรัม) เป็นเพชรเจียระไนที่ใหญ่ที่สุดอันดับสี่ของโลก ประดับอยู่บนมงกุฎอิมพีเรียลสเตต (Imperial State Crown) เพชรทั้งสองเม็ดนี้เป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งสหราชอาณาจักร (Crown Jewels of the United Kingdom) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสหราชอาณาจักร โดยเพชรทั้ง 9 เม็ดนี้ อยู่กับราชวงศ์อังกฤษทั้งหมด เพราะรัฐบาลแอฟริกาใต้ในขณะนั้นได้ตั้งใจถวายให้สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 และสมเด็จพระราชินีแมรี ปัจจุบันเพชรคัลลิแนนทั้ง 9 ได้ประดับอยู่บนเข็มกลัด ยอดพระคทากางเขน และบนพระธำมรงค์เก่าแก่

The Cullinan I (Photo Credit: https://64facets.com)

เพชรโฮป (Hope Diamond) เพชรสีน้ำเงินเข้มแกมเทาขนาดใหญ่ที่มาพร้อมกับฉายา “เพชรต้องคำสาป” จากเหมืองคอลเลอ (Kollur) ในประเทศอินเดีย มีน้ำหนัก 45.52 กะรัต (9.10 กรัม) เป็นเพชรชนิด IIB สีน้ำเงินเกิดจากการแทนที่ของธาตุโบรอน (Boron) ในโครงสร้างผลึก

"เพชรโฮป" มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1666 เมื่อพ่อค้าอัญมณีชาวฝรั่งเศส ฌอง-บาติสต์ ทาแวร์นีเยร์ (Jean-Baptiste Tavernier) ได้ซื้อเพชรเม็ดนี้มาจากประเทศอินเดียในรูปแบบยังไม่ได้เจียระไน แต่เมื่อหลังจากเจียระไนแล้วได้เปลี่ยนชื่อเป็น “French Blue” หรือ ที่เรียกว่า Le bleu de France ในปี ค.ศ. 1668 ทาแวร์นีเยร์ได้ขายต่อให้กับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ต่อมาในปี ค.ศ. 1792 เพชรเม็ดนี้ได้ถูกขโมยและได้หายสาปสูญไปประมาณ 20 ปี จนกระทั่งปี ค.ศ. 1839 เพชรปรากฏตัวอีกครั้งภายใต้ชื่อ “โฮป” ในแค็ตตาล็อกเครื่องประดับจากตระกูลโฮปแบงกิ้ง (Hope banking family) อันเป็นที่มาของชื่อเพชรโฮป ปัจจุบัน เพชรโฮปถูกเก็บรักษาไว้ในสถาบันสมิธโซเนียน พิพิธภัณฑ์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (National Museum of Natural History)

Photo Credit: Smithsonian

เพชรเดรสเดน กรีน (Dresden Green Diamond) เพชรสีเขียวที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีน้ำหนักถึง 41 กะรัต (8.2 กรัม) เป็นเพชรชนิด IIA ที่หาได้ยาก หมายความว่ามีความบริสุทธิ์ทางเคมี เพชรที่มีคุณภาพขนาดนี้มีเพียง 1% เท่านั้น มีความสะอาด (Diamond Clarity) ในระดับ VS1 ซึ่งคาดว่าจะมีต้นกำเนิดในเหมืองของอินเดีย โดยตั้งชื่อตามชื่อของเมืองเดรสเดน (Dresden) เป็นเมืองหลวงของรัฐแซกโซนี (Saxony) ในประเทศเยอรมนี และถูกจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ "Green Vault" มานานกว่า 200 ปี

Photo Credit: Green Vault, Dresden State Art Collections, Photo: Carlo Boettger by https://gruenes-gewoelbe.skd.museum

มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปในปี ค.ศ. 1722 เมื่อหนังสือพิมพ์ลอนดอนฉบับวันที่ 25-27 ตุลาคม ลงข่าวเกี่ยวกับ “เพชรเดรสเดน กรีน” โดยระบุว่า พระเจ้าออกัสตัสที่ 3 แห่งโปแลนด์ (Augustus III) ได้ซื้อเพชรเม็ดนี้มาจากพ่อค้าชาวดัตช์ในปี ค.ศ. 1742 ที่งานแฟร์ไลป์ซิก (Leipzig Fair) ในปี ค.ศ. 1768 เพชรได้ถูกนำไปทำเป็นเข็มกลัดประดับบนหมวกที่ล้อมรอบด้วยเพชรขนาดใหญ่ 2 เม็ด และเพชรขนาดกลางและเล็ก 411 เม็ด หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพชรถูกย้ายไปที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เป็นเวลานานกว่าหนึ่งทศวรรษก่อนที่จะถูกส่งกลับไปยังเดรสเดนอีกครั้ง

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2000 เพชรเดรสเดนถูกนำไปจัดแสดงที่สถาบันสมิธโซเนียน พิพิธภัณฑ์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (National Museum of Natural History) ภายในแกลเลอรีแฮร์รี่ วินสตัน (Harry Winston Gallery) โดยจัดแสดงคู่กับเพชรที่มีชื่อเสียงและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่าง “เพชรโฮป” จนถึงเดือนมกราคม ค.ศ. 2001 ต่อมาเพชรดังกล่าวก็ถูกส่งกลับไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ Albertinium ในเมืองเดรสเดน อย่างถาวร

URL อ้างอิง:
external-site