ทับทิม : อัญมณีประจำเดือนกรกฎาคม
ทับทิม (Ruby) เป็นแร่ในตระกูล คอรันดัม (Corundum) เช่นเดียวกับ ไพลิน (Sapphire) โดยทับทิมจะเป็นชื่อเรียกของแร่คอรันดัมที่มีสี “แดง” ซึ่งสีแดงสดนี้เกิดจากธาตุโครเมียม (Chromium) เจือปนในโครงสร้างผลึก “ทับทิม” มีความแข็งเท่ากับ 9 ตามสเกลของโมส์ (Mohs Scale) รองลงมาจากเพชร (Diamond) ทั้งนี้ยังเป็นอัญมณีประจำเดือนเกิดของผู้ที่เกิดในเดือนกรกฎาคม (July) และเป็นอัญมณีประจำราศีมังกร (Capricorn)
“ทับทิม” เป็นอัญมณีที่มี “สีแดง” เป็นเอกลักษณ์ โดยเฉดสีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ สีแดงเลือดนกพิราบ (Pigeon's Blood) ซึ่งเป็นสีแดงสดแกมม่วงเล็กน้อย และเป็นสีในเฉดที่ได้รับการยอมรับว่าสวยมากที่สุด นอกจากนี้ทับทิมยังมีแดงในเฉดสีอื่นๆ อีกมากมาย เช่น แดงแกมชมพู แดงแกมม่วง แดงแกมน้ำเงิน แดงแกมส้ม และแดงแกมน้ำตาล
“ทับทิม” มีแหล่งกำเนิดจากหลายประเทศทั่วโลก แต่แหล่งทับทิมที่มีชื่อเสียง ได้แก่ เมียนมาร์ (Myanmar) ศรีลังกา (Sri Lanka) เวียดนาม (Vietnam) แอฟริกาใต้ (South Africa) โมซัมบิก (Mozambique) และแทนซาเนีย (Tanzania) สำหรับในประเทศไทย (Thailand) แหล่งทับทิมอยู่ในจังหวัดตราดและจันทบุรี ซึ่งทับทิมไทยมีชื่อเสียงแพร่หลายในหมู่ชาวต่างชาติในชื่อของ “ทับทิมสยาม” (Siamese Ruby)
การเลือกซื้อทับทิม
สีแดงของทับทิมนั้นขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคล และควรมีสีแดงบริสุทธิ์ถึงสีแดงแกมม่วงเล็กน้อยไม่มีสีส้มหรือสีม่วงปนมากจนเกินไป มีโทนสีที่สว่างสดใส ไม่มืดหรือสว่างจนเกินไป (ซึ่งทับทิมแต่ละแหล่งจะมีสีที่แตกต่างกัน) มีความโปร่งใส ไม่มีตำหนิหรือมลทินหรือมีน้อย มีการเจียระไนได้สัดส่วนสมมาตร และมีขนาดที่เหมาะสม โดยทับทิมที่มีคุณภาพและราคาสูง จะต้องมีสีแดงบริสุทธิ์หรือมีสีม่วงปนน้อยมากและสีแดงนั้นจะต้องเป็นสีแดงสดไม่ดำคล้ำ มีโทนสีปานกลางไม่เข้มหรืออ่อนจนเกินไปและมีสีที่สม่ำเสมอในแต่ละเม็ด บางครั้งอาจพบทับทิมใส่สีหรือย้อมสี ซึ่งสามารถตรวจสอบได้โดยใช้ไม้พันสำลีจุ่มน้ำหรือแอลกอฮอล์ถูถ้าผ่านการย้อมสีมาจะมีสีติดสำลีออกมาได้
การดูแลรักษา
ไม่ควรเก็บเครื่องประดับทับทิมไว้กับอัญมณีชนิดอื่น ควรใส่ไว้ในถุงผ้าหรือกล่องแยกชิ้นที่มีผ้านุ่มรอง เนื่องจากทับทิมเป็นอัญมณีที่มีความแข็งอาจไปขูดขีดอัญมณีชนิดอื่นที่มีความแข็งน้อยกว่าเป็นรอยและเกิดความเสียหายได้ ทำความสะอาดเครื่องประดับ “ทับทิม” โดยใช้นำยาล้างเครื่องประดับหรือน้ำอุ่นผสมกับน้ำสบู่เหลวอ่อนๆ และปัดทำความสะอาดตามซอกมุมและด้านหลังด้วยแปรงขนนุ่ม ไม่ควรสวมใส่เครื่องประดับทับทิมในขณะประกอบอาหาร ทำความสะอาดบ้าน เพราะสารเคมีหรือสารประกอบต่างๆ จากควันเครื่องปรุงอาหาร ไขมัน หรือน้ำยาต่างๆ อาจะเกาะบนผิวของทับทิมทำให้สีทับทิมหมองหรือมีความวาวลดลงได้ หลีกเลี่ยงการใส่ทำกิจกรรมหนักๆ เช่น ออกกำลังกาย จัดสวน หรืองานที่ใช้เครื่องมือหนัก เพราะจะทำให้ทับทิมหล่นหรือถูกกระแทกอย่างรุนแรง ซึ่งจะทำให้ทับทิมแตกร้าวเป็นรอยได้
ราชาแห่งอัญมณี : ตำนานและความเชื่อ
“ทับทิม” ได้ชื่อว่า “ราชาแห่งอัญมณี” ซึ่งคำว่า “Ruby” มาจากภาษาละติน “Ruber” หรือ “Rubinus” แปลว่า “สีแดง” ส่วนรากศัพท์จากภาษาสันสกฤต คือคำว่า “Ratnaraj” หรือ “รัตนนายากะ” (Ratnanayaka) หมายถึง “ราชาแห่งอัญมณี” (King of Gems) โดยเป็นฉายาที่ชาวอินเดียใช้เรียกทับทิมมาเป็นเวลาช้านาน
“ทับทิม” อัญมณีสีแดงสดใสเปรียบเสมือน “ดวงไฟแห่งพลัง” ทั้งยังเป็นอัญมณีที่มีเสน่ห์ดึงดูดผู้คนมาเนิ่นนาน ประวัติศาสตร์อันยาวนานของทับทิมนั้นสะท้อนให้เห็นถึงความนิยม คุณค่า และความเชื่อที่ผู้คนมีต่ออัญมณีชนิดนี้ โดยทับทิมถูกค้นพบและนำใช้ทำเป็นเครื่องประดับมาตั้งแต่สมัยโบราณ ตามหลักฐานทางโบราณคดีชี้ให้เห็นว่าทับทิมถูกนำมาใช้ในหมู่ชนชั้นสูงมาตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ อินเดีย กรีก โรมัน และเชื่อกันว่ามีพลังวิเศษ
“ทับทิม” เป็นสัญลักษณ์ของพลังอำนาจ ความกล้าหาญ ความแข็งแกร่ง ความมั่งคั่ง ความสุข ความโชคดี สุขภาพ ความมีชีวิตชีวา ในอดีตเชื่อกันว่า “ทับทิม” มีพลังในการปกป้องคุ้มครองผู้สวมใส่จากภัยอันตราย นำพาโชคลาภและความสำเร็จมาให้เจ้าของ นอกจากนี้ทับทิมยังถูกใช้เป็นเครื่องรางของขลังในพิธีกรรมทางศาสนา และเชื่อกันว่าสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้
ในคริสต์ศตวรรษที่ 1 พลินี (Pliny the Elder) นักธรรมชาติวิทยาและนักประพันธ์ชาวโรมันได้อธิบายถึงความแข็งและความหนาแน่นของ “ทับทิม” ไว้ในหนังสือ ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ (Natural History) ชาวอินเดียเชื่อว่าทับทิมช่วยให้ผู้สวมใส่สามารถอยู่ร่วมกับศัตรูได้อย่างสันติ ส่วนชาวฮินดูโบราณเชื่อว่าผู้ที่ถวายทับทิมอันวิจิตรงดงามแก่พระกฤษณะจะได้รับพรให้กลับชาติมาเกิดเป็นจักรพรรดิ นอกจากนี้ชาวฮินดูแบ่งทับทิมออกเป็นสี่วรรณะ โดยเรียกทับทิมตะวันออกแท้ว่า “พราหมณ์” เชื่อกันว่าผู้ที่มีทับทิมพราหมณ์ครอบครองจะมีความได้เปรียบในเรื่องความมั่นคงปลอดภัย
ในเมียนมาร์ (ซึ่งเป็นแหล่งทับทิมมาตั้งแต่ 600 ปีก่อนคริสตกาล) นักรบจะมี "ทับทิม" ไว้ในครอบครองเพื่อปกป้องให้ตนเองอยู่ยงคงกระพันในสนามรบ อย่างไรก็ตาม การสวมใส่ทับทิมเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ นักรบเหล่านั้นต้องฝังทับทิมเข้าไปในเนื้อหนังของตนเองและทำให้ทับทิมเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความภาคภูมิใจและความศรัทธาอย่างลึกซึ้งในคุณสมบัติการปกป้องของ “ทับทิม”
ทับทิมนั้นยังมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและถูกนำมาใช้เป็นเครื่องประดับในหลากหลายวัฒนธรรมมาตั้งแต่ยุคอินเดียโบราณ ทับทิมยังถูกนำไปใช้ในเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของราชวงศ์ต่างๆ เนื่องจากทับทิมเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจของกษัตริย์ ซึ่งทับทิมยังคงมีความสำคัญมาจนถึงทุกวันนี้และกลายมาเป็นอัญมณีที่ราชวงศ์ยุโรปและชนชั้นสูงต่างต้องการมากที่สุด ชาวยุโรปในยุคกลางหลายคนสวมใส่ทับทิมเพื่อช่วยเสริมเรื่องของสุขภาพ ความมั่งคั่ง ภูมิปัญญา และความสำเร็จในความรัก
สัญลักษณ์ของ “ทับทิม” ในปัจจุบัน
"ทับทิม" เป็นอัญมณีประจำเดือนกรกฎาคม (July) ในด้านความรักทับทิมถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของความรักที่ยืนยาว เหมาะสำหรับเป็นของขวัญครบรอบการแต่งงานปีที่ 15 และ 40 ทั้งยังช่วยเสริมความมั่นใจในตนเอง เพิ่มพลังบวก กระตุ้นแรงบันดาลใจ ความคิดสร้างสรรค์ เป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์ และความภักดี
ความหมายของ “ทับทิม” แต่ละเฉดสี
สีแดงสด หมายถึง ความหลงใหล พลังอำนาจ ความมั่งคั่ง
สีแดงชมพู หมายถึง ความรัก ความเมตตา ความโรแมนติก
สีแดงม่วง หมายถึง ความลึกลับ หรูหรา อำนาจ
สีแดงส้ม หมายถึง ความมีชีวิตชีวา ความสนุกสนาน ความสำเร็จ
สีแดงน้ำตาล หมายถึง ความมั่นคง ความน่าเชื่อถือ ความมั่นใจ
“ทับทิม” ที่มีชื่อเสียงของโลก
- ทับทิมรอสเซอร์ รีฟส์ สตาร์ (Rosser Reeves Star Ruby) ทับทิมสตาร์ที่ใหญ่และงดงามที่สุดในโลกเม็ดนี้มีขนาด 138.7 กะรัต เจียระไนแบบหลังเบี้ย (Cabochon) มีปรากฏการณ์สตาร์ (Asterism) เป็นรูปดาว 6 แฉกที่สวยงามปรากฏอยู่ภายใน มีต้นกำเนิดในศรีลังกา แต่ไม่ทราบประวัติในช่วงแรก เมื่อถูกพ่อค้าอัญมณีในลอนดอนซื้อไปในช่วงปลายทศวรรษปี 1950 ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่สถาบันสมิธโซเนียน กรุงวอชิงตัน ดีซี (Smithsonian Institution Washington, D.C.)
- ทับทิมเดอลอง สตาร์ (DeLong Star Ruby) ทับทิมสตาร์ ขนาด 100.1 กะรัต จากประเทศเมียนมาร์ (Myanmar) ถูกค้นพบในช่วงทศวรรษปี 1930 เจียระไนแบบหลังเบี้ย (Cabochon) มีปรากฏการณ์สตาร์ (ASterism) เป็นรูปดาว 6 แฉกปรากฏอยู่ภายใน ตั้งชื่อตามเจ้าของคือ เอดิธ แฮกกิน เดอลอง (Edith Haggin DeLong) นักสะสมอัญมณีและแร่ธาตุพิเศษ เดอลองซื้อทับทิมนี้ในปี 1937 จากมาร์ติน ลีโอ เออร์มันน์ (Martin Leo Ehrmann) นักสะสมชื่อดังที่เดินทางไปทั่วโลกเพื่อค้นหาแร่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ โดยเออร์มันน์ได้ขายทับทิมเม็ดนี้ให้กับเดอลองในราคา 21,400 เหรียญสหรัฐ จากนั้นในปี 1937 เดอลองจึงบริจาคทับทิมเม็ดนี้ให้กับพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกันในนิวยอร์ก (American Museum of Natural History, New York)
- ทับทิมซันไรส์ (Sunrise Ruby) ทับทิมสีแดงเลือดนกพิราบ (Pigeon Blood) น้ำหนัก 25.59 กะรัต จากประเทศเมียนมาร์ (Myanmar) อยู่บนตัวเรือนที่ออกแบบพิเศษโดยแบรนด์คาร์เทียร์ (Cartier) ถือเป็นทับทิมที่หายากที่สุด โดยสถาบันอัญมณีศาสตร์แห่งสวิส (The Swiss Gemmological Institute) ได้ยกย่องทับทิมเม็ดนี้ว่าเป็น “สมบัติอันล้ำค่าของธรรมชาติ” ที่มีการเจียระไนที่มีสัดส่วนสวยงามและมีสีสันที่น่าดึงดูดใจ ซึ่งเมื่อปี 2015 ถูกประมูลไปในราคา 30.42 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือราว 1,006 ล้านบาท) ในงานประมูลของ Sotheby's ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แหวนทับทิมวงนี้ได้สร้างสถิติโลกด้วยการเป็นทับทิมที่ถูกประมูลไปในราคาสูงที่สุดโดยมีราคาต่อกะรัตสูงที่สุด (1.2 ล้านเหรียญสหรัฐต่อกะรัต และเป็นอัญมณีที่มีราคาแพงที่สุดของคาร์เทียร์ “ผมไม่เคยพบเห็นทับทิมเมียนมาร์ขนาดพิเศษที่มีสีโดดเด่นเช่นนี้อีกเลยในรอบ 40 ปี” เดวิด เบนเน็ตต์ (David Bennett) ประธานฝ่ายเครื่องประดับระหว่างประเทศของ Sotheby's กล่าว
- ทับทิมเอสเตรลา เดอ เฟอรา (Estrela de Fura) ทับทิมสีแดงเลือดนกพิราบ ขนาด 55.22 กะรัต จากเหมืองในโมซัมบิก ถูกค้นพบเมื่อปี 2022 ครองตำแหน่งทับทิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ ปัจจุบัน และยังทุบสถิติทับทิมที่ถูกประมูลไปในราคาที่สูงที่สุดในโลกด้วยราคากว่า 34.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือราว 1.2 พันล้านบาท) ยืนหนึ่งแทนที่ "ทับทิมซันไรส์" ที่ครองสถิติทับทิมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและแพงที่สุดในโลกก่อนหน้านี้ บริษัท FURA Gems ได้ขุดพบทับทิมเม็ดนี้โดยมีขนาด 101 กะรัต ซึ่งได้รับการขนานนามในภาษาโปรตุเกสว่า 'Estrela de FURA' หรือ Star of FURA Estrela de FURA เปิดตัวที่ดูไบในเดือนกันยายนปี 2022 และได้รับความสนใจจากทั่วโลกอย่างรวดเร็วในฐานะทับทิมที่มีคุณภาพสูงและใหญ่ที่สุดที่เคยค้นพบ ในเดือนมกราคม 2023 บริษัท FURA Gems ได้รวบรวมที่ปรึกษาชั้นนำด้านอัญมณีจากทั่วโลก รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท กาโร๊ด (Garaude) ประเทศฝรั่งเศส และทีมวิศวกร 3D จากบริษัท บิลเลโรฟอน เจมแล็บ (Bellerophon Gemlab) เพื่อประเมินทางเลือกในการเจียระไน กำหนดน้ำหนัก รูปร่าง และแนวทางการเจียระไนที่เหมาะสมที่สุด โดยทับทิมเม็ดนี้ได้รับการเจียระไนและขัดเงาอย่างปราณีตโดยผู้เชี่ยวชาญในกรุงเทพมหานคร ทำให้ได้ทับทิมเจียระไนทรงหมอนอิง (Cushion Cut) ขนาด 55.22 กะรัต ที่ไม่เพียงแต่โดดเด่นในด้านขนาดที่ใหญ่เท่านั้น แต่ยังโดดเด่นด้วยสีแดงสดใสและมีความใสที่เหนือชั้นอีกด้วย
URL อ้างอิง: