Joel Arthur Rosenthal: นักออกแบบเครื่องประดับผู้ลึกลับแห่งวงการ
Admin J.
เมษายน 9, 2025
23
9
AR (จาร์) แบรนด์เครื่องประดับชั้นสูงที่ใครหลายคนอาจจะไม่คุ้นหู เครื่องประดับแบรนด์นี้ไม่ใช่ว่ามีเงินแล้วจะสามารถเดินเข้าไปเลือกซื้อได้ง่าย ๆ ถึงแม้จะมีชื่อเสียงโด่งดังระดับตำนาน แต่คนทั่วไปกลับไม่ค่อยรู้จัก ซึ่งต่างจากแบรนด์เครื่องประดับเก่าแก่ที่มีมานับร้อยปี อย่าง Cartier (คาร์เทียร์) หรือ Fabergé (ฟาแบร์เช่)
แบรนด์ JAR ไม่มีเว็บไซต์ ไม่มีแม้กระทั่งโซเชียลมีเดีย และหน้าร้านที่ Place Vendôme (ปลาส ว็องโดม) ในปารีสก็เหมือนราวกับปิดไว้ ไม่มีตู้โชว์สินค้าที่หน้าร้าน อาจมีคนสงสัยว่าอะไรที่ทำให้ผู้ก่อตั้งแบรนด์ JAR วัย 82 ปีคนนี้ได้เป็นนักออกแบบเครื่องประดับที่ยืนอยู่บนจุดสูงสุดของวงการโดยไม่ต้องพึ่งพาการตลาดหรือโฆษณา ที่ถึงแม้ตัวเขาจะดูลึกลับมีโลกส่วนตัวสูงแต่ก็สามารถสร้างฐานแฟนคลับได้มากมายมหาศาล และยังทำให้เครื่องประดับของเขาเป็นที่ต้องการในหมู่ผู้ที่ชื่นชอบศิลปะและความหรูหราอย่างแท้จริง

Joel Arthur Rosenthal (โจเอล อาร์เธอร์ โรเซนธาล) หรือที่รู้จักกันในชื่อ JAR (จาร์) หนึ่งในนักออกแบบเครื่องประดับที่ได้รับการยกย่องมากที่สุดในโลก เกิดเมื่อปี 1943 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โรเซนธาลได้ศึกษาด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและปรัชญาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก่อนจะย้ายไปปารีสซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางการออกแบบเครื่องประดับอันโดดเด่นของเขา
Rosenthal ได้รับการขนานนามว่า “ฟาแบร์เช่แห่งยุคปัจจุบัน” (The Fabergé of our time) ที่สะท้อนถึงความสามารถอันยอดเยี่ยมของโรเซนธาลในการออกแบบเครื่องประดับที่มีความประณีต ซับซ้อน และหรูหรา ซึ่งเปรียบได้กับ Peter Carl Fabergé (ปีเตอร์ คาร์ล ฟาแบร์เช่) ช่างอัญมณีชื่อดังแห่งศตวรรษที่ 19 ที่สร้างสรรค์ “ไข่ฟาแบร์เช่” อันเลื่องชื่อให้กับราชวงศ์รัสเซีย
หลังจากจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด Rosenthal ได้ย้ายไปปารีส เพื่อเริ่มต้นทำงานด้านการเขียนบทภาพยนตร์ และเปิดร้านตัดเย็บเสื้อผ้าเล็ก ๆ เป็นของตัวเอง ด้วยพรสวรรค์ด้านการออกแบบ เขาทดลองใช้เส้นด้ายที่มีสีสันแปลกตามาใช้ในการออกแบบลายผ้า ซึ่งช่วยพัฒนาแนวคิดด้านการลงสีและพื้นผิวที่ต่อมากลายเป็นเอกลักษณ์ในงานออกแบบของเขา ต่อมาเขาได้รับโอกาสทำงานกับ Bulgari (บุลการี) ในช่วงเวลาสั้น ๆ ซึ่งทำให้เขาได้สัมผัสกับศาสตร์ของอัญมณีและเทคนิคการออกแบบเครื่องประดับ นี่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เขาตัดสินใจมุ่งสู่วงการเครื่องประดับอย่างจริงจัง
การก่อตั้งแบรนด์ JAR
หลังจากทำงานด้านเสื้อผ้าและแฟชั่นอยู่ระยะหนึ่ง โรเซนธาลกับ Pierre Jeannet (ปิแอร์ ฌาเนต์) ก่อตั้งแบรนด์ JAR ขึ้นในปี 1977 ที่ Place Vendôme (ปลาส ว็องโดม) ศูนย์กลางเครื่องประดับหรูหราในกรุงปารีส โดย JAR ยังเป็นหนึ่งในแบรนด์เครื่องประดับชั้นสูงที่ได้รับการยอมรับในหมู่ชนชั้นสูงและนักสะสมทั่วโลก

โรเซนธาลขึ้นชื่อเรื่องการออกแบบที่ประณีตและซับซ้อนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ ศิลปะ และการใช้สีที่โดดเด่น เทคนิคการฝังอัญมณีของเขามักเล่นกับแสงและเงา ทำให้เครื่องประดับมีมิติและชีวิตชีวา เขายังใช้วัสดุที่หลากหลาย ตั้งแต่เพชร พลอยสี ไปจนถึงอะลูมิเนียม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ JAR และสิ่งที่ทำให้ JAR แตกต่างจากแบรนด์เครื่องประดับอื่น ๆ คือการออกแบบที่ผสมผสานศิลปะและธรรมชาติอย่างลงตัว ไม่เพียงแต่ใช้อัญมณีหายากและเทคนิคการเจียระไนพิเศษเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการจับคู่สีและรูปทรงที่ทำให้ชิ้นงานดูสมจริงและมีมิติ
- เทคนิคการฝังอัญมณีแบบพาเว่ (Pavé) ที่ซับซ้อนและประณีต โดยเขามักใช้โลหะสีเข้มเป็นฐานเพื่อให้อัญมณีเปล่งประกายโดดเด่น และเทคนิค Micro-pavé (ไมโคร-พาเว่) ที่ใช้อัญมณีขนาดเล็กมากมาเรียงต่อกันอย่างแนบสนิท ทำให้พื้นผิวของเครื่องประดับดูราวกับเป็นผืนผ้าที่ทอด้วยอัญมณี
- ใช้เทคนิคการไล่เฉดสีแบบละเอียด (Gradation) การใช้สีที่ดูไม่ธรรมดา เขาเลือกใช้อัญมณีหลากสีที่ไม่ค่อยพบในเครื่องประดับทั่วไป ออกแบบให้มีการไล่เฉดสีที่ละเอียดอ่อน เช่น ดอกไม้ที่มีการไล่เฉดสีจากกลีบดอกไปถึงก้าน สร้างความสมจริงและมีมิติ นอกจากนี้ เขายังใช้อัญมณีในโทนสีม่วง (Purple) หรือ สีม่วงอมชมพู (Mauve-Pink) เป็นสีที่เขาใช้บ่อยในงานออกแบบเครื่องประดับของเขา และถือเป็นสีประจำแบรนด์ JAR ที่สะท้อนถึงความหรูหรา ความลึกลับ และเอกลักษณ์ของ JAR ที่ไม่มีใครเหมือน
- ใช้สีที่ขัดกันอย่างมีศิลปะ (Contrasting Colors) เขามักผสมผสานสีที่ตัดกันอย่างเด่นชัดแต่ลงตัว เช่น ม่วงคู่กับเขียว หรือน้ำเงินคู่กับส้ม ทำให้งานมีพลังและความน่าสนใจ นอกจากนี้ เขาเลือกใช้อัญมณีตามสีมากกว่ามูลค่า โดยเลือกอัญมณีตามสีสันที่ต้องการมากกว่ามูลค่าทางตลาด จึงอาจผสมผสานเพชรกับอัญมณีกึ่งมีค่าในชิ้นเดียวกัน หากสีนั้นตอบโจทย์การออกแบบ
- รูปทรงธรรมชาติ มักออกแบบเป็นรูปดอกไม้ แมลง และสัตว์ต่าง ๆ โดยมีความสมจริงและมีชีวิตชีวาอย่างน่าทึ่ง เช่น เข็มกลัดรูปกุหลาบที่มีชื่อเสียง หรือเข็มกลัดรูปผีเสื้อที่ดูเหมือนกำลังเคลื่อนไหว
- การผสมผสานวัสดุแบบอย่างชาญฉลาดและกล้าหาญ เขาไม่ลังเลที่จะผสมผสานอัญมณีที่มีค่าสูงกับวัสดุที่มีราคาไม่แพง เช่น การ์เนต อะเมทิสต์ โอปอล อะลูมิเนียมดำ หรือใช้เพชรคู่กับอัญมณีกึ่งมีค่าอย่างการ์เนต หากอัญมณีเหล่านั้นให้สีตามที่ต้องการ
- เครื่องประดับที่สวมใส่สบาย แม้ชิ้นงานจะมีความซับซ้อนและรายละเอียดมาก แต่เขาให้ความสำคัญกับการสวมใส่สบาย น้ำหนักที่พอเหมาะ และการเคลื่อนไหวของเครื่องประดับ
- ชิ้นงานแบบ Bespoke ทุกชิ้นเป็นงานสั่งทำพิเศษสำหรับลูกค้าแต่ละราย หรือผลิตในจำนวนที่จำกัดมาก ทำให้เป็นงานที่มีความพิเศษและเฉพาะตัวสูง เนื่องจากแบรนด์ JAR ไม่มีหน้าร้านหรือป้ายชื่อร้านบนถนน ไม่มีแม้กระทั่งเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดีย ลูกค้าจะต้องได้รับเชิญเป็นพิเศษเพื่อซื้อสินค้าของเขา ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าประจำที่รู้จักคุ้นเคยกันและมีการบอกกันปากต่อปาก เครื่องประดับแต่ละชิ้นมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ผลิตขึ้นสำหรับลูกค้าแต่ละรายโดยเฉพาะ ซึ่งทำให้ในปี ๆ หนึ่ง จะผลิตออกมาเพียง 70-80 ชิ้นเท่านั้น ทำให้เครื่องประดับแต่ละชิ้นมีความพิเศษ หายาก และทรงคุณค่า
ผลงานที่โดดเด่น
หนึ่งในผลงานที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของ JAR ได้แก่ ต่างหูดอกคามิเลีย (Camellia Earrings) ที่ใช้เทคนิคฝังอัญมณีให้ดูเหมือนกลีบดอกไม้จริง ๆ นอกจากนี้ยังมีเข็มกลัดผีเสื้อ (Butterfly Brooch) ที่มีการใช้อัญมณีหลายสีหลายเฉดเพื่อสร้างมิติและความเคลื่อนไหว อีกหนึ่งชิ้นที่โดดเด่นคือกำไลดอกป๊อปปี้ (Poppy Bangle) ที่สะท้อนความงามของธรรมชาติผ่านการออกแบบที่ละเอียดอ่อนและการเลือกใช้สีสันที่ลงตัว
หนังสือและผลงานที่เกี่ยวข้อง
แม้ว่า JAR จะเป็นแบรนด์ที่มีความลึกลับและเป็นส่วนตัว แต่โรเซนธาลก็ไม่ลืมที่จะจัดพิมพ์หนังสือที่รวบรวมผลงานของตัวเขาเอง อย่างหนังสือเรื่อง “JAR Paris Volume I-II” และ “Jewels by JAR” ซึ่งนำเสนอภาพถ่ายเครื่องประดับอันน่าทึ่งและสะท้อนถึงสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ JAR เอาไว้ หนังสือทั้งหมดนี้ หาอ่านได้ที่ ห้องสมุดอัญมณีและเครื่องประดับ ชั้น 1 ไอทีเอฟ ทาวเวอร์ ถนนสีลม กรุงเทพฯ
