ในเดือนมิถุนายนของทุกปี เมื่อธงสีรุ้งโบกสะบัดไปทั่วทุกมุมโลก และทุกพื้นที่เต็มไปด้วยสีสันแห่งความภาคภูมิใจ เป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง Pride Month เดือนแห่งความภูมิใจของชุมชน LGBTQ+ และความหลากหลายทางเพศที่เท่าเทียม เราจะขอพาคุณย้อนกลับไปสู่หน้าประวัติศาสตร์ที่ถูกปกคลุมด้วยเงามืด เพื่อค้นพบเรื่องราวของนักออกแบบเครื่องประดับจากชุมชนหลากหลายทางเพศ ผู้รังสรรค์ความงดงามและฝากผลงานอันเป็นตำนานไว้ในวงการอัญมณีและเครื่องประดับ แต่กลับต้องซ่อนตัวตนที่แท้จริงไว้เบื้องหลัง
ประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจเปิดเผย
ย้อนกลับไปสู่ช่วงศตวรรษที่ 20 เมื่อความหลากหลายทางเพศยังเป็นเรื่องต้องห้ามในสังคม นักออกแบบเครื่องประดับหลายคนจึงต้องใช้ชีวิตภายใต้ฉายาที่เรียกว่า “confirmed bachelor” หรือ “สุภาพบุรุษโสดผู้ไม่ปรารถนาจะแต่งงาน” ซึ่งมักเป็นชายหนุ่มผู้มีเสน่ห์ เป็นมิตร และมักถูกมองว่า "ไม่เป็นอันตราย" ในสายตาของสังคมส่วนใหญ่ สถานะนี้อาจเป็นเสมือน “กุญแจสำคัญ” ที่ทำให้พวกเขาสามารถโลดแล่นในวงการเครื่องประดับชั้นสูงได้อย่างไม่ติดขัด และสร้างสรรค์ผลงานอันล้ำค่าให้กับสุภาพสตรีชั้นนำในแวดวงชนชั้นสูงได้เป็นอย่างดี
แรงบันดาลใจจากเงามืด: ผลงานที่ยิ่งใหญ่ภายใต้การปกปิด
ความสัมพันธ์ระหว่างนักออกแบบเกย์กับลูกค้าเพศหญิง เธอเป็นดั่งแรงบันดาลใจที่ผลิบานในเงามืด พวกเธอจึงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้กับการสร้างสรรค์ผลงาน โดยลูกค้าเหล่านี้กลายเป็นตัวแทนทางกายภาพของความฝันและความปรารถนาของเหล่านักออกแบบ ซึ่งนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานชิ้นเอกมากมาย แต่ชีวิตส่วนตัวของพวกเขากลับถูกเก็บงำไว้เป็นความลับ
Elizabeth Taylor (เอลิซาเบธ เทย์เลอร์) เป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบของปรากฏการณ์นี้ ตลอดชีวิตของเธอ เธอถูกรายล้อมด้วย “confirmed bachelor” ตั้งแต่นักออกแบบเครื่องแต่งกาย ช่างแต่งหน้า ช่างทำผม และแม้แต่นักออกแบบเครื่องประดับ แต่สิ่งที่ปรากฏในสาธารณะกลับเป็นเรื่องราวความรักแบบชาย-หญิง (heteronormative) ระหว่างเธอกับ Richard Burton (ริชาร์ด เบอร์ตัน) ซึ่งมักถูกอ้างว่าเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของคอลเลกชันเครื่องประดับอันล้ำค่าของเธอหลายต่อหลายชิ้น เช่น กำไล Love Bracelet จาก Cartier
ในศตวรรษที่ 20 มีนักออกแบบเครื่องประดับที่ประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่ง ไม่ว่าจะเป็น Fulco di Verdura (ฟูลโก ดิ เวอร์ดูรา), Jean Schlumberger (ฌอง ชลุมแบร์แชร์), Donald Claflin (ดอนัลด์ แคลฟลิน), Aldo Cipullo (อัลโด ชิปุลโล่), Art Smith (อาร์ต สมิธ), David Webb (เดวิด เว็บบ์) และ Kenneth Jay Lane (เคนเน็ธ เจย์ เลน) พวกเขาทั้งหมดเป็นผู้ชายที่มี “รสนิยมบางอย่าง” ที่ทำให้โดดเด่นอย่างมาก ไม่เพียงเพราะพรสวรรค์ด้านการออกแบบเท่านั้น แต่เพราะพวกเขารู้จักเข้าหาผู้คนที่ใช่ ซึ่งเป็นลูกค้าชนชั้นสูงที่เปิดประตูให้พวกเขาโลดแล่นอย่างเสรีในแวดวงสังคมของมหานครนิวยอร์ก
ความสัมพันธ์ระหว่างนักออกแบบกับลูกค้าเหล่านี้ไม่ใช่แค่เรื่องธุรกิจ หากแต่เป็นเครือข่ายที่แข็งแกร่งและเปี่ยมด้วยศิลปะ พวกเขาไม่ได้เพียงแค่สร้างเครื่องประดับ แต่สร้างพลังในการเข้าถึงโลกของความหรูหรา ความงาม และการแสดงออกอย่างไร้ขีดจำกัด
Aldo Cipullo (อัลโด ชิปุลโล่) นักออกแบบจิวเวลรีชื่อดังชาวอิตาลี-อเมริกัน ผู้รังสรรค์ "กำไล Love Bracelet" กำไลเรียบง่ายที่ต้องใช้ไขควงช่วยสวมใส่ ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักเหนือกาลเวลาของ Cartier แต่เบื้องหลังความสำเร็จนี้กลับมีเรื่องราวที่น่าเศร้า การเสียชีวิตของ Cipullo ในวัย 42 ปี ถูกรายงานอย่างเป็นทางการว่าเป็นโรคหัวใจวาย ทว่าข้อมูลจากบัญชี @theaidsmemorial เผยว่าเขาเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับโรคเอดส์ ซึ่งเป็นความจริงที่แบรนด์ Cartier แทบไม่เคยกล่าวถึงอย่างเปิดเผย

Jean Schlumberger (ฌอง ชลุมแบร์แชร์) นักออกแบบเครื่องประดับชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ผู้สร้างสรรค์ผลงานโดดเด่นให้ Tiffany & Co. เขาคือผู้อยู่เบื้องหลังเครื่องประดับชิ้นสำคัญของบุคคลสำคัญอย่าง Jackie Kennedy และ Elizabeth Taylor โดยผลงานที่มีชื่อเสียงของเขาได้แก่ เข็มกลัด "Bird on a Rock" แม้ชีวิตส่วนตัวของเขาจะถูกปกปิดมานาน แต่ในหนังสือนิทรรศการผลงานของเขาในภายหลัง ก็ได้มีการกล่าวถึง Luc Bouchage (ลุค บูฌาช) คู่ชีวิตของเขาอย่างเปิดเผย

Art Smith (อาร์ต สมิธ) นักออกแบบเครื่องประดับชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟโร-คิวบัน ที่มีชื่อเสียงในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เขาเผชิญกับความยากลำบากในอาชีพจากทั้งเรื่องเชื้อชาติและเพศวิถีของตนเอง แต่ด้วยพรสวรรค์และความมุ่งมั่น เขาได้เปิดร้านเครื่องประดับใน West Village ผลงานของเขาได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารแฟชั่นชื่อดังอย่าง Vogue และ Harper's Bazaar และเขายังเคยทำเครื่องประดับให้กับบุคคลสำคัญ เช่น Duke Ellington และ Eleanor Roosevelt แม้เขาจะเสียชีวิตในปี 1982 โดยมีฐานะทางการเงินไม่มากนัก แต่ปัจจุบันผลงานของเขากลับมีมูลค่าหลายพันดอลลาร์ และถูกจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะชั้นนำ เช่น Brooklyn Museum, Boston Museum of Fine Art และ Cooper Hewitt Smithsonian Design Museum ในนิวยอร์ก

ยุคแห่งความภาคภูมิใจ: เมื่อแสงสว่างส่องถึงตัวตน
ในยุคปัจจุบัน Pride Month ได้กลายเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการยอมรับและความหลากหลาย นักออกแบบเครื่องประดับในชุมชน LGBTQ+ หลายคนจึงกล้าที่จะเปิดเผยตัวตนอย่างภาคภูมิใจมากขึ้น เช่นเดียวกับในวงการแฟชั่นที่นักออกแบบเหล่านี้ใช้แพลตฟอร์มของตนเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมกัน
Shaun Leane (ฌอน ลีน) นักออกแบบชาวอังกฤษผู้โดดเด่นด้วยผลงานร่วมกับ Alexander McQueen เครื่องประดับของเขาไม่เพียงสะท้อนความงดงาม แต่ยังแฝงไว้ด้วยความกล้าหาญในการแสดงออกถึงตัวตน
Alexis Bittar (อเล็กซิส บิตตาร์) นักออกแบบชาวอเมริกันผู้สร้างสรรค์เครื่องประดับแฟชั่นที่ Michelle Obama ชื่นชอบ และเขายังเป็นกระบอกเสียงสำคัญในการสนับสนุนความเท่าเทียมในการแต่งงาน
Joel Arthur Rosenthal : JAR (โจเอล อาร์เธอร์ โรเซนธาล : จาร์) หนึ่งในนักออกแบบเครื่องประดับชั้นสูงที่โด่งดังที่สุดในโลก แม้จะขึ้นชื่อเรื่องความสันโดษ แต่ในนิทรรศการผลงานของเขาที่ Metropolitan Museum of Art ก็ได้มีการกล่าวถึง Pierre Jeannet (ปิแอร์ ฌาเนต์) คู่ชีวิตและหุ้นส่วนทางธุรกิจของเขาอย่างเปิดเผย
Emmanuel Tarpin (เอมมานูเอล ตาร์แปง) นักออกแบบหนุ่มไฟแรงวัย 26 ปี ผู้ฉายแววโดดเด่นในวงการไฮจิวเวลรี่ ผลงานของเขาได้รับความนิยมจากดาราฮอลลีวูด และถูกประมูลด้วยราคาสูง
ทำไมเรื่องราวนี้จึงสำคัญ?
บางคนอาจตั้งคำถามว่า “การที่นักออกแบบเครื่องประดับเป็น LGBTQ+ มีความสำคัญอย่างไร?” คำตอบคือ “การมีตัวแทนสำคัญเสมอ” เมื่อเราเข้าใจว่าผู้สร้างสรรค์คือใคร เราจะซาบซึ้งในผลงานได้มากกว่าเดิม การเปิดเผยเรื่องราวเหล่านี้ไม่ใช่การ "เปิดเผยความลับ" แต่เป็นการ “เติมเต็ม” ประวัติศาสตร์ที่ขาดหายไป การเข้าใจภูมิหลังและตัวตนของศิลปินช่วยให้เราเข้าใจกระบวนการสร้างแรงบันดาลใจและเจาะลึกถึงแก่นแท้ของความคิดสร้างสรรค์ได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการท้าทายมาตรฐานในอุตสาหกรรมเครื่องประดับที่มักยึดติดกับความคิดแบบดั้งเดิมและแนวคิดของสังคมชนชั้นสูงแบบเก่า
ในเทศกาล Pride Month นี้ เป็นโอกาสที่ดีที่เราทุกคนจะได้ร่วมกันเฉลิมฉลองและจดจำถึงความสามารถของนักออกแบบเครื่องประดับ LGBTQ+ ผู้ซึ่งมอบของขวัญอันล้ำค่า คือ “ความหลากหลายทางเพศ” ที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้พวกเขาสร้างสรรค์งานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ การที่พวกเขาได้ใช้ชีวิตอยู่บนความเป็นจริงและมีความซื่อสัตย์ต่อตัวเองผ่านผลงานศิลปะของพวกเขา นั่นคือสิ่งที่ควรค่าแก่การยกย่อง ไม่ใช่การมองข้ามหรือเป็นเรื่องที่ควรปกปิด
ขอให้ธงสีรุ้งไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องหมายของการเฉลิมฉลองเท่านั้น แต่เป็นเครื่องเตือนใจว่า ทุกแสงที่เปล่งประกาย ล้วนเคยเดินผ่านความมืดมาแล้ว และขอให้เราไม่ลืมศิลปินเหล่านั้นผู้เคยต้องซ่อนแสงสีรุ้งในใจ แต่กลับสร้างความงดงามที่ส่องแสงให้โลกได้เห็น
🏳️🌈 Happy Pride Month 🏳️🌈
สำหรับผู้ที่สนใจเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องราวและผลงานของนักออกแบบเครื่องประดับในชุมชน LGBTQ+ สามารถหาอ่านได้ที่ ห้องสมุดอัญมณีและเครื่องประดับ ตั้งอยู่ที่ชั้น 1 อาคารไอทีเอฟ ทาวเวอร์ ถนนสีลม เปิดให้บริการวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น. หยุดวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์


URL อ้างอิง: